เชียงใหม่รีพอร์ต » การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพในปี 2568

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพในปี 2568

16 สิงหาคม 2024
84   0

Spread the love

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพในปี 2568

เมื่อ 16 สิงหาคม 2567 นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 9 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ฯพณฯ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกลางว่าด้วยการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เข้าร่วมการประชุมด้วย

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สู่อนาคตร่วมของภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและยั่งยืน” (Towards the Shared Future of a Safer and Sustainable Mekong-Lancang Region)” โดยเน้นย้ำการเร่งแก้ไขปัญหาความท้าทายเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความผาสุกของประชาชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย เพื่อมุ่งแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด อาชญากรรมไซเบอร์ และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม ผ่านการเพิ่มพูนความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูล สังเกตการณ์และควบคุมพื้นที่ชายแดน และการส่งเสริมศักยภาพ

รวมทั้ง การส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 และได้รับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง-ล้านช้าง ตามที่ไทยเสนอ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับหน่วยงานผู้ปฏิบัติในการกระชับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ข้อริเริ่มว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การใช้และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก AI ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินโครงการภายใต้ข้อริเริ่มระเบียงนวัตกรรม MLC ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน รวมถึง การส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเฉพาะ MSMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างครอบคลุม ความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการขจัดความยากจน ลดช่องว่างด้านการพัฒนา และเสริมสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในอนุภูมิภาค

อนึ่ง กรอบ MLC ซึ่งข้อริเริ่มของไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยมีจีนเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ผ่านความร่วมมือ 3 เสา ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสังคมและวัฒนธรรม และ 5 สาขาหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยง (2) ศักยภาพในการผลิต (3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน (4) ทรัพยากรน้ำ และ (5) การเกษตรและการขจัดความยากจน โดย MLC นับเป็นกรอบความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำกรอบแรกที่มีประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมอย่างครอบคลุม อีกทั้งยังมีความร่วมมือก้าวหน้าเป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจีนสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นกองทุนให้แก่โครงการจากประเทศสมาชิก MLC มากกว่า 800 โครงการ โดยเป็นโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการ ของหน่วยงานไทย 93 โครงการ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยเป็นประธานร่วมกรอบ MLC ร่วมกับจีนสำหรับวาระปี 2567 – 2568 และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกรอบ MLC ในปี 2568 ที่ประเทศไทย