ศูนย์ศรีพัฒน์ ศรัทธาวัดดับภัย และโครงการเด็กดี v-star ร่วมกันทำบุญทอดกฐิน

ศูนย์ศรีพัฒน์ ศรัทธาวัดดับภัย และโครงการเด็กดี v-star ร่วมกันทำบุญทอดกฐิน

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ.นพ.ธนินนิตย์-รศ.พญ.อภิญญา ลีรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร เจ้าหน้าที่ คณะศรัทธาวัดดับภัย และโครงการเด็กดี v-star ร่วมกันทำบุญทอดกฐิน ประจำปี 2567 ถวาย ณ วัดดับภัย เพื่อนำปัจจัยบูรณเจดีย์ วัดดับภ้ย ซ่อมแซมเสนาสนะ ถาวรวัตถุ ค่าสาธารณูปโภคของวัด สนับสนุนการเรียนการสอนนักธรรม บาลี ปริยัติธรรมศึกษา โดยมีพระครูโอภาสปัญญาคม รองเจ้าคณะอำเภอสะเมิง เจ้าอาวาสวัดดับภัย เป็นประธานรับ/องค์ครอง ณ วัดดับภัย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

สำรวจ อนุรักษ์ และถ่ายสำเนาคัมภีร์ใบลาน

สำรวจ อนุรักษ์ และถ่ายสำเนาคัมภีร์ใบลาน

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 พระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์, ผศ.ดร. รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ มอบหมายให้พระครูใบฏีกาทิพย์พนากรณ์ ชยาภินนฺโท, ดร. ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลการ เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือกับเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ประกอบด้วย อาจารย์อรช บุญ-หลง ผู้แทนจาก Greater Chiang Mai Culture and Heritage Think Tank Project และ ดร. ดิเรก อินจันทร์ นักวิชาการศึกษา ศูนย์ใบลานศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อร่วมมือกันสำรวจ อนุรักษ์ และถ่ายสำเนาคัมภีร์ใบลานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำเป็นฐานข้อมูลสำเนาเอกสารดิจิทัลโบราณเผยแพร่ในระบบออนไลน์ สำหรับให้ผู้สนใจได้ศึกษาวิจัยต่อไป ณ ห้องรับรอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอกพระอารามหลวง.

งานเลี้ยงสังสรรค์ตระกูลหลิว(เล้า) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 9

งานเลี้ยงสังสรรค์ตระกูลหลิว(เล้า) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 9

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ชมรมตระกูลหลิว(เล้า) เชียงใหม่ ได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ตระกูลหลิว(เล้า) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 9 โดยคุณศรีชัย เล้าตระกูลชัย ประธานชมรมตระกูลหลิว(เล้า) จ.เชียงใหม่ สมัยที่ 5 กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน คุณพรชัย จิตรนวเสถียร ประธานก่อตั้งชมรมตระกูลหลิว(เล้า) จ.เชียงใหม่ แนะนำประวัติชมรมตระกูลหลิว(เล้า) จ.เชียงใหม่ คุณสมโภช เลาประสบวัฒนา ประธานจัดงาน กล่าววัตถุประสงค์ของงาน คุณประวิตร วิรานุวัตร ประธานมูลนิธิตระกูลเล้าแห่งประเทศไทย สมัยที่ 27 ปี (2022-2024) กล่าวเปิดงานพร้อมด้วยพิธีมอบธงตระกูลเล้า ให้เจ้าภาพครั้งที่ 10 และถ่ายรูปหมู่ตระกูลเล้าทั่วประเทศ ณ สมาคมฮากกา อำเภอเมืองเชียงใหม่.

(มีคลิป) ศึกษาฯ มช. เปิดตัว“หลักสูตรการพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ”

ศึกษาฯ มช. เปิดตัว“หลักสูตรการพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ” หวังสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อและแก้ปัญหาในสังคมผ่านครูและบุคลากรด้านการศึกษา สนองยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับสมรรถนะการเป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ เพื่อรองรับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 4210 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพรัตน์ นพฤทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดตัว “หลักสูตรการพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจมีภูมิความรู้และทักษะในการเข้าใจสื่อชนิดต่างๆ เพื่อนำไปสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นเกราะป้องกันให้กับเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและเสี่ยงสูงในการเข้าถึงสื่อในยุคปัจจุบันที่พร้อมตกเป็นเหลื่อได้ตลอดเวลา โดยการเปิดตัวหลักสูตรดังกล่าวนอกจากจะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรครูในเชียงใหม่ 2 รุ่นทั้งภาคเช้าและบ่ายแล้ว ได้มีการเปิดให้บุคลากรทางการศึกษา ครูและผู้สนใจได้ร่วมเรียนรู้ผ่านระบบ Zoom ไปทั่วประเทศด้วย

คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช.ระบุว่า โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลตั้งแต่ปีก่อน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้ดำเนินโครงการ ก่อนการวิจัยได้ค้นพบว่า ปัญหาจากการมีมิจฉาชีพ การหลอกลวงผ่านสื่อในปัจจุบันเป็นผลลัพธ์ที่เราไม่ได้เตรียมความพร้อมในการรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุที่ต้องทำการวิจัยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและทำหลักสูตรการพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้รู้เท่าทันสื่อขึ้น ภายใต้โครงการการยกระดับสมรรถนะการเป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ เพื่อรองรับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งสื่อเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบันเนื่องจากมีการเข้าถึงได้ง่ายมากในเด็กๆทุกระดับจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเผยแพร่ให้ทุกคนได้เรียนรู้และรู้เท่าทันไม่เฉพาะแค่เด็กเท่านั้น ส่วนการเปิดตัวหลักสูตรครั้งนี้เป็นหลักสูตรของครูในโรงเรียนเนื่องจากมองว่า บุคลากรทางการศึกษามีความสำคัญต่อเด็ก หากครูมีความรู้เท่าทันสื่อก็สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้เด็กผ่านกระบวนการวิเคราะห์ วิจารณญาณในการเลือกเสพสื่อ เป็นเกราะป้องกันเด็กในอนาคต อีกทั้งคาดว่า ในอนาคตจะทำให้คนไทยเป็นคนที่รู้เท่าทันสื่อทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้ถูกหลอกได้

รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งหวังให้มีการลดการถูกหลอกลวงจากการที่เราไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการรับสื่อและเทคโนโลยีทุกรูปแบบ มองว่า ถ้าเรามีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ในอีก 5-10 ปี เราสามารถรับมือกับปัญหาการถูกหลอกลวงผ่านสื่อได้

ปัญหาการถูกหลอกลวงในปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 6 ที่ถูกหลอกลวงมากสุด โดยมีคดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกว่า 600,000 คดี มากจนน่าตกใจ ไม่อยากให้มีสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้นเราคาดหวังว่า ทุกคนจะสามารถป้องกันตนเองจากปัญหานี้ได้ โดยเฉพาะการนำครูมาเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นกลุ่มหลักที่จะช่วยแก้ไขปัญหา โดยหลักสูตรตามโครงการดังกล่าวมีตัวชี้วัดพฤติกรรมที่สำคัญที่มีลักษณะของการรู้เท่าทันเพื่อนำมาออกแบบหลักสูตร ผ่านกิจกรรมต่างๆ 36 กิจกรรม ที่เราได้มีการทดลองและจัดทำเป็นแบบอิเล็คทรอนิคทั้งหมดเพื่อสามารถเผยแพร่ได้ทันที โดยมีครูมากกว่า 1,500 คนที่จะเป็นต้นแบบเรียนรู้และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพกับเด็กๆ ต่อไป ซึ่งเชื่อว่า การออกแบบจากฐานข้อมูล Big Data ของทั้งประเทศและจากกรณีตัวอย่างที่ครูอาสาสมัครกว่า 100 รายที่มาร่วมกันตลอดทั้งปี 2566 ทีผ่านมา จนออกมาเป็นหลักสูตรที่สามารถใช้ได้และเป็นแนวทางพัฒนาต่อยอด ซึ่งกำลังนำไปใช้ในพื้นที่เชียงใหม่ทั้งหมดในกลุ่ม กศน.และส่งต่อให้โรงเรียนที่พร้อม รวมถึงการเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป

ขณะที่ นางพิมพรรณ ทองงาม เจ้าของและผู้จัดการโรงเรียนวีรยาเชียงใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางโรงเรียนยินดีมากที่ได้รับโอกาสที่ดีในการนำคณะครูของโรงเรียนทั้งหมดจำนวน 49 คน เข้าร่วมโครงการถือว่า เป็นประโยชน์ต่อคณะครูที่จะได้นำความรู้ที่ได้ไปสร้างความเข้าใจแก่นักเรียนทั้งในระดับประถมและมัธยม เพื่อเด็กจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในการรู้เท่าทันสื่อกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเข้าถึงง่ายและเสี่ยงสูง ทั้งนี้รู้สึกหนักใจต่อปัญหาดังกล่าวเพราะกำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัวของคนไทยทั้งประเทศ เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก จึงจำเป็นต้องสร้างเกราะป้องกันในการเข้าถึงอย่างรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจากข้อมูลที่มีคดีสูงจนน่าตกใจ
ทั้งนี้ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เพจของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ https://www.facebook.com/edu.cmu.ac.th , https://www.facebook.com/whatsupteacher.

(มีคลิป) เชียงใหม่ ธารน้ำใจสายบุญนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกให้ชาวบ้านน้ำท่วม

ธารน้ำใจสายบุญ ขนเครื่องใช้ไฟฟ้า – เครื่องอุปโภคบริโภค กว่า 2 พัน ชุด มาแจกให้ชาวบ้านน้ำท่วมที่ อ.สารภี และเมืองลำพูน คนมารอรับแจกเพียบ

คณะศิษย์หลวงปู่แบน วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนคร ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่ โดย อ.สมมิทธิ์ ทิพยมณฑล ผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการ อ.ประสิทธิ์ ชูดวง รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่วิทยาลัยฯ พร้อมศรัทธาสายบุญหลายฝ่าย นำหม้อหุงข้าว-กระติกน้ำร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้า 900 ชุด เครื่องอุปโภคบริโภค และถุงยังชีพกว่า 2,000 ชุด ไปมอบให้กับชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในเขต ต.หนองแฝก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และ ต.หนองช้างคืน อ.เมืองลำพูน

มีชาวบ้านมารอรับแจกของอย่างล้นหลาม พร้อมกล่าวขอบคุณคณะผู้ใจบุญ ที่มาให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ด้วย ซึ่งสิ่งของต่างๆ ที่ได้รับแจกครั้งนี้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างมาก เนื่องจาก ข้าวของที่ได้รับเป็นของจำเป็นในครอบครัว สามารถช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนลงไปได้.

มูลนิธิอาจารย์วารินทร์บัววิรัตน์เลิศ / มูลนิธิช่วงพระเจ้าล้านนาร่วมกับผู้ทำหน้าที่ด้วยกระบวนการธรรมทูตเดินหน้าประกาศเกี่ยรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัย 2 ประเทศหวังหนุนเสริมให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ภายในปี 2571

มูลนิธิอาจารย์วารินทร์บัววิรัตน์เลิศ / มูลนิธิช่วงพระเจ้าล้านนาร่วมกับผู้ทำหน้าที่ด้วยกระบวนการธรรมทูตเดินหน้าประกาศเกี่ยรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัย 2 ประเทศหวังหนุนเสริมให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ภายในปี 2571

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 อาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ ประธานมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ / มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา เปิดเผยว่า ในห้วงวันที่ 14 – 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ/ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา โดย นางสาวภีชญา กริ่มวงศ์รัตน์ หัวหน้าคณะผู้ดำเนินการด้วยกระบวนการธรรรมทูตพร้อมคณะอัญเชิญองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ขนาดหน้าตัก 30 นิ้วพร้อมชุดประกาศเกียรติคุณประกอบด้วยเหรียญบูชา เอกสารการบูชาพระรัตนตรัย พระคาถาบารมี 30 ทัศ และชุดพระไตรปิฎก(ฉบับภาษาไทย-บาลี) วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล ตามกระบวนการธรรมทูตเพื่อหนุนเสริมการเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก

การดำเนินการในครั้งนี้มูลนิธิฯ และคณะธรรมทูตได้รับความร่วมมือจากเอกอัคราชทูตไทย สถานเอกอัคราชทูตไทยทั้ง 2 ประเทศในอัญเชิญองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัยพร้อมชุดประกาศเกียรติคุณอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะ น.ส. ภัทรัตน์ หงษ์ทอง ฯพณฯ เอกอัคราชทูตไทย สถานเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย และนาย สุวพงศ์ ศิริสรณ์ ฯพณฯ เอกอัคราชทูตไทย สถานเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล

นอกจากนี้ ที่ประเทศเนปาล มูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ / มูลนิธิช่วงพระเจ้าล้านนาพร้อมหัวหน้าคณะผู้ดำเนินการด้วยกระบวนการธรรรมทูต ได้ร่วมกันมอบปัจจัยจำนวน 100,000 บาท พร้อมข้าวสารอาหารแห้ง,ยารักษาโรคให้กับวัดไทยลุมพินี และจัดอาหารกลางวันให้กับบ้านเด็กกำพร้าเมืองดาวน์เน่ อีกด้วย

ส่วนที่ประเทศอินเดียมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ / มูลนิธิช่วงพระเจ้าล้านนาพร้อมหัวหน้าคณะผู้ดำเนินการด้วยกระบวนการธรรรมทูต ร่วมกันถวายปัจจัยจำนวน 100,000 บาท ให้กับวัดไทยพุทธคยา พร้อมข้าวสารอาหารแห้งและอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนโรงเรียนปัญจศีล ในพื้นที่
นอกจากนี้คณะยังได้มอบปัจจัย 50,000 บาท เป็นกองทุนให้กับ The Bodhgaya Temple Management Committee คณะกรรมการบริหารจัดการอารามในพุทธคยา โดย ดร.ปรีชา บัววิรัตน์เลิศ อดีต สมาชิกวุฒิสภาได้ประสานงานผ่านนายกฤษณะ จัยตัญญา อดีตกงสุลอินเดียประจำจังหวัดเชียงใหม่

อาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ ประธานมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ/ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมูลนิธิได้มีการประกาศเกียรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัยโดยความร่วมมือจากคณะผู้ทำหน้าที่ธรรมทูตจากกลุ่มบุคคลต่างๆ แล้วกว่า 10 วัด ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ซึ่งมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนามีความมุ่งมั่นในการดำเนินงาน อันเป็นการสืบสานศาสนา รักษาแผ่นดินตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ และในขณะเดียวกันนานาประเทศที่เป็นเมืองพระพุทธศาสนา ก็จะได้รับรู้รับทราบปฏิปทาคำสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็จะได้แรงสนับสนุนในการผลักดันให้ไปถึงยูเนสโก เพื่อที่จะให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของยูเนสโกภายในปี 2571 นี้.

ช่วยเหลือน้ำท่วมจำนวน 3 วัด

ช่วยเหลือน้ำท่วมจำนวน 3 วัด

วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม 2567 อาจารย์อรช บุญหลง ตัวแทนจาก Greater Chiangmai Culture and Heritage Think Tank ได้บริจาคเงินชวยเหลือน้ำท่วมจำนวน 3 วัด เป็นจำนวน 80,000 บาท ผ่านทางมจร วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้แก่วัดเจดีย์เหลี่ยมจำนวน 20,000 บาท วัดป่าเปอะ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภีจำวน 30,000 บาท
และวัดเชียงแสน อำเภอสารภีจำนวน 30,000 บาท โดยมี พระครูปริยัติเจติยานุรักษ์, ผศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงใหม่
รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นประธานผู้รับมอบ อีกทั้งยังสนับสนุนการจัดเทศน์มหาชาติ มจร จำนวน 30,000 บาท
ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ณ มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสฉลองวันสถาปนา 40 ปี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่.

พิธีทำบุญทอดกฐินสามัคคี ณ วัดป่าตัน

พิธีทำบุญทอดกฐินสามัคคี ณ วัดป่าตัน

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 น. พระครูเกษมวัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเทพหัสดิน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ประธานอุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ คุณแม่ยุพิน สินธุเขียว (ร้านยุพินพร กาดเมืองใหม่) ประธานอุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยคณะศรัทธาวัดป่าตัน ศรัทธาสาธุชน ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ได้พร้อมใจร่วมกันจัดทำบุญ ทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2567 เพื่อรักษาซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ และเพื่อหาปัจจัย สมทบในการบำรุงเสนาสนะถาวรวัตถุภายในวัด บำรุงค่าน้ำค่าไฟ เพื่อให้สามารถใช้ในการประกอบศาสนกิจ และบำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชนสืบไป โดยมีพระครูสุจิตวรญาณ เป็นประธานรับ/องค์ครอง ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก ณ วัดป่าตัน ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

พิธีสมโภชผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดดอนแก้ว

พิธีสมโภชผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดดอนแก้ววันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน เพื่อเชิญไปทอดถวายยังที่ชุมนุมสงฆ์ ณ วัดดอนแก้ว ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พระครุสุภัทรรัตนากร เจ้าคณะตำบลดอนแก้ว เจ้าอาวาสวัดดอนแก้ว นิมนต์พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์สมโภช จำนวน 10 รูป มีพระครูวิบูลธรรมพิพัฒน์ เจ้าคณะตำบลแม่สา เจ้าอาวาสวัดสว่างบันเทิง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ คุณยุพิน ทรายคำ เจ้าของธุรกิจหมู่บ้านดอนแก้ววิลเลจ และร้านไม้เฮือน 60 เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีข้าราชการ แขกผู้มีเกียรติ อุบาสก อุบาสิกา ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ณ วัดดอนแก้ว ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่.

เริ่มแล้ว งาน “Andaman Festival” กินเพลิน เดินฟิน ถิ่นอันดามัน ครั้งที่ 3 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่

เริ่มแล้ว งาน “Andaman Festival” กินเพลิน เดินฟิน ถิ่นอันดามัน ครั้งที่ 3 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่

พาณิชย์จังหวัดตรัง พร้อมกลุ่มพาณิชย์จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ๕ จังหวัด นำสินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยวกว่า 40 ร้าน มาให้ชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ช็อป ชิม พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกวัน และเพลิดเพลินกับการแสดงศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยและมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังทุกวัน

วันนี้ (25 ต.ค.67) ที่ลานกิจกรรม ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ นายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Andaman Festival” กินเพลิน เดินฟิน ถิ่นอันดามัน ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการยกระดับและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวคุณภาพสูงฝั่งอันดามัน (Premium Tourism Andaman) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง กล่าวรายงาน พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังได้รับจัดสรรงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรังเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งกลุ่มจังหวัดมีความพร้อมในการพัฒนาสินค้า เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวมีช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจการค้า ให้กลุ่มจังหวัดก้าวไปสู่ “การท่องเที่ยวทางทะเลที่มีคุณภาพระดับโลกบนฐานความเข้มแข็งของภาคเกษตรและชุมชน อย่างยั่งยืน”

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ 3 โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคีเครือข่าย คัดเลือกสินค้าเป้าหมายทั้งสินค้าเด่นและบริการด้านการท่องเที่ยว เข้าร่วมจำนวน 40 ร้านค้า ภายในงาน กิจกรรมนาทีทองวันละ 2 รอบ ซื้อสินค้าครบ 300 บาท หรือ ร่วมกิจกรรม Like & Share รับคูปอง 50 บาท เพลิดเพลินกับการแสดงศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยและมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังทุกวัน พร้อมลุ้นสร้อยคอทองคำ 1 สลึง และในวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2567 จะมีกิจกรรมการเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ประกอบการจากภาคใต้ฝั่งอันดามัน ณ โรงแรมยูนิมมานเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้สามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ขอเชิญชวนพี่น้องชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง มาร่วมงาน “Andaman Festival” กินเพลิน เดินฟิน ถิ่นอันดามัน และเพลิดเพลินกับ การช็อป ชิม สินค้าคุณภาพจากผู้ประกอบการภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2567 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ สำหรับพี่น้องชาวภาคใต้ พบกันในงานครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 6-10 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 150 ร้านค้า ณ บริเวณลานจอดรถหน้า ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ตรัง จังหวัดตรัง.