นายกแม่เหียะคนใหม่ พร้อมคณะไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

นายกแม่เหียะคนใหม่ พร้อมคณะไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

นายกริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ พร้อมคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาฯชุดใหม่ทั้งหมดร่วมพิธีไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่หน้า สนง.ทม.แม่เหียะ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง นายกฯ ชาวบ้านหลายร้อย ต้อนรับอบอุ่น

เมื่อเวลา 09.09 น.วันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ศาลพระพรหมเจ้าที่และศาลตายายบริเวณหน้าเทศบาลเมืองแม่เหียะ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายกริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ นำคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแม่เหียะ ประกอบพิธีไหว้สักการะศาลพระพรหมเจ้าที่และศาลตายาย

หลังจากนั้นเวลา 09.29 น.ทางพราหมณ์ เดินนำนายกริณย์พล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ พร้อมคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาทั้งหมด เดินเข้าห้องทำงาน ชั้น 3 ของอาหารสำนักงาน เพื่อส่งนายกฯ พร้อมนำพระพุทธรูป “พระพุทธสิหิงค์” ประทับที่แท่นบูชา และให้นายกริณย์พล เป็นผู้นำจุดธูปเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นมงคล เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี จากนั้นทางพราหมณ์ แนะนำปรับแต่ห้องทำงานเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

จากนั้น นายกริณย์พล นายกเทศบาลเมืองแม่เหียะ เดินลงจากชั้น 3 มาพบปะกับชาวบ้านเมืองแม่เหียะทุกหมู่บ้าน จำนวนมากหลายร้อยคน เข้ามามอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจ และถ่ายภาพร่วมกับชาวบ้าน พร้อมพูดคุยกับชาวบ้าน ว่า จะเน้นทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน และทำงานภายใต้สโลแกนที่ว่า ”เราต้อง “เปลี่ยน” เพื่อแม่เหียะ พรุ่งนี้ที่ดีกว่า“

นอกจากชาวบ้านยังได้มีทางนายดี จันทคลักษณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ส่งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พร้อมกรรมการวิสาหกิจฯ( สนง.อยู่เมืองแม่เหียะ) นำวัตถุมงคลมอบให้เพื่อเป็นสิริมงคลไว้ที่ห้องทำงานด้วย

สำหรับนายกริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ เป็นนายกฯสมัยแรก ที่สามารถล้มแชมป์เก่า คือ นายธนวัฒน์ ยอดใจ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ที่เป็น นายกฯมาหลายสมัยได้

จากที่มีผู้สมัครทั้งหมด 4 คน หมายเลข 1 นายกริณย์พล ไชยยาพิบูล อดีต ส.ท.เมืองแม่เหียะ, หมายเลข 2 นายธนวัฒน์ ยอดใจ อดีตนายก ทม.แม่เหียะ หลายสมัย, หมายเลข 3 นายชานนท์ ประมวลพิสุทธิ์ อดีตประธานสภา ทม.แม่เหียะ และ หมายเลข 4 นายเศวต เวียนทอง อดีตรองนายก ทม.แม่เหียะ โดยเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2567

ในวันที่ 20 ธ.ค.2567 ที่จะถึงนี้ นายกริณย์พล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ พร้อมทีมผู้บริหาร และสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแม่เหียะทั้งหมดจะแต่งชุดขาว เพื่อมาแถลงนโยบายต่อสภาฯ และเริ่มปฏิบัติหน้าที่บริหารงานอย่างเป็นทางการต่อไป

เบื้องต้นมีการแต่งตั้งรายชื่อผู้บริหารแล้ว คือ นายกริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ, นายนพรุจ ปพนธราภิวัฒน์ รองนายกฯ, นายเทอดเกียรติ เกิดนพคุณ รองนายกเทศมนตรี, นายยงยุทธ คุณธา รองนานกเทศมนตรี, และนายพงศธร มั่นศักดิ์ เลขานุการนายกเทศมนตรี และ นางสาวธัญยรัตน์ อภิณ์ภูบดินทร์ เลขานุการนายกเทศมนตรี.

เปิดแล้ว..งาน “บอก ม่อก.” โชว์นวัตกรรม-วัสดุก่อสร้างพร้อมผังเมือง หวังลด PM2.5 เข้าตัวอาคาร

เปิดแล้ว..งาน “บอก ม่อก.” โชว์นวัตกรรม-วัสดุก่อสร้างพร้อมผังเมือง หวังลด PM2.5 เข้าตัวอาคาร

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ที่ เชียงใหม่ฮอลล์เซ็นทรัล เชียงใหม่แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่ คุณอเส สุขยางค์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงานสถาปนิกล้านนา 2567 ภายใต้ชื่องาน “บอก มอก.” ที่ทางสถาปนิกล้านนาจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาชีพ ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยทางสถาปัตยกรรม และกิจกรรมของสถาปนิกภาคเหนือ โดยมีนายสันธยา คชสารมณี ประธานกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ วาระ 2567 -2569 พร้อมคณะกรรมการให้การต้อนรับ

นายสันธยา คชสารมณี ประธานกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ วาระ 2567 -2569 กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาชีพ ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยทางสถาปัตยกรรม และกิจกรรมที่ผ่านมาของสถาปนิกภาคเหนือ รวมทั้งมีการจัดแสดงนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และวัสดุการก่อสร้างของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือและทั่วประเทศ ซึ่งงานครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญของแวดวงวิชาชีพสถาปนิกภาคเหนือที่มีการจัดประจำทุกปี ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาศักยภาพให้กับสถาปนิก โดยในครั้งนี้มีแนวคิดการนำเสนอภายใต้ ชื่อว่า “บอก มอก.” ซึ่งเป็น อัตลักษณ์ด้านภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวล้านนา ถูกนำมาสรรค์สร้าง ต่อยอด ใช้นิยามงานสถาปนิกล้านนา’67 จากความหมายเดิมอันหมายถึงการล้างแค้นหรือการกระทำให้สาแก่ใจ แต่กลายเป็นนัยยะใหม่ที่กล่าวถึง “ความเป็นมาตรฐาน ในการสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรมผ่าน กระบวนคิดของสถาปนิกล้านนา

การจัดงานในปีนี้ต้องการเผยแพร่ผลงานและความรู้เชิงสถาปัตยกรรมของสถาปนิกล้านนาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ บอก มอก. ที่ 1 : พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ Showcase นิทรรศการภายใต้แนวคิด “บอก (ห) มอก.”นิทรรศการวิชาชีพทางสถาปัตย กรรมของสถาปนิกภาคเหนือกว่า 30 บริษัท นิทรรศการแสดงผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การ อนุรักษ์ นิทรรศการแสดงผลงาน VERNADOC (Vernacular Architecture Documentation) นิทรรศการแสดงผลงานของสถาบันการศึกษา นิทรรศการของศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน(UDC : Universal Design Center)
ส่วนกิจกรรม บอก มอก.ที่ 2 : เป็นเวทีเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิด (ASA Talk) หัวข้อเรื่อง “เตคเฮาสู้ฝุ่น”Tects (how fight the dust) ปัญหามลพิษหมอกควันภาคเหนือ สถานการณ์ฝุ่นในภาคเหนือ จะได้นำมาร่วมพูดคุยและถกประเด็นสำคัญ พร้อมกระบวนการออกแบบทางผังเมืองที่จะช่วยลดและป้องกันฝุ่น และวิธีออกแบบพื้นที่สีเขียวในบ้านและรั้วเพื่อช่วยลดฝุ่นผ่านมุมมองของวิทยากรเหล่าสถาปนิก นักวิจัย นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
สำหรับในวันที่ 15 ธันวาคม 2567 มีการจัดเสวนา หัวข้อเรื่อง “เตค ต่าง ต่าง” ร่วมรับฟังแนวคิดและไอเดียที่สร้างสรรค์ของสถาปนิกในการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น หรือ PM2.5 และการออกแบบสร้างสถาปัตยกรรม ด้วยระบบเครื่อง กลหรือระบบอื่นๆ เพื่อการป้องกันฝุ่นเข้าบ้านและตัวอาคาร จุดประกายแนวคิด และแชร์ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ โดยเหล่าสถาปนิกผู้ผันตัวเองไปสู่บทบาทอาชีพอื่น ๆ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรม บอก มอก.ที่ 3 : พื้นที่ให้ความรู้ ให้บริการ และกิจกรรมเวิร์กช็อป
• กิจกรรมสถาปนิกน้อย (Junior Architect) กิจกรรมเวิร์กช็อปสอนวาดรูป Sketch เทคนิคลงสีน้ำ และเวิร์กช็อปสอนปั้นพอร์ต (Portfolio) เข้ามหาวิทยาลัย สำหรับนักเรียน นักศึกษา
• สถาปนิกและสถาบันการเงิน เปิดบริการให้ความรู้ด้านที่อยู่อาศัย สินเชื่อทางการเงิน ให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆแก่ประชาชน
• บูธจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สินค้า และวัสดุก่อสร้างจากบริษัทชั้นนำภาคเหนือ
สำหรับ บอกมอก.ที่ 4 : พื้นที่สำหรับสมาชิกอาษาล้านนาคลับ (ASA Club) และ ASA Member (บริการสมาชิกฯ)
• โซน ASA Member : จุดให้บริการต่างๆ สำหรับสมาชิกสถาปนิกล้านนา และจำหน่ายของที่ระลึกของสถาปนิก
• โซน ASA Club พื้นที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม นั่งพักผ่อนรับฟังดนตรีขับกล่อม และผ่อนคลายกับกิจกรรมสันทนาการ
อย่างไรก็ตามการจัดงานสถาปนิกล้านนา’67 “บอก มอก.” ยังได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการร่วมสนับสนุนและผลักดันทำให้เกิดการจัดงาน โดยหวังให้การจัดงานในครั้งนี้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้กับแวดวงวิชาชีพสถาปนิก สถาปนิกรุ่นใหม่ หน่วยงานภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยว ภาคประชาชน ต่อไป.

ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 คณะศึกษาดูงานจากประเทศแทนซาเนีย เข้าศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการไบโอแก๊ส โดยมีนางสาวพรทิพย์ ปามี รองผู้อำนวยการโรงเรียนแม่วินสามัคคีและนางธนภรณ์ สุวรรณปราการ พร้อมคณะครู ให้การต้อนรับ บรรยายสรุป ณ โรงเรียนแม่วินสามัคคี ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่.

ศิษย์เก่า “MC 13” ประชุมสังสรรค์ประจำเดือนธันวาคม

ศิษย์เก่า “MC 13” ประชุมสังสรรค์ประจำเดือนธันวาคม

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 น. ดร.สุรพงษ์ ชุ่มประดิษฐ์ ประธานศิษย์เก่า MC’ รุ่น 2513 นายมงคล เชาวน์ลักษณ์สกุล ประธานกองทุนศิษย์เก่า MC’ รุ่น 2513 พร้อมคณะกรรมการ สมาชิก ประชุมสังสรรค์ประจำเดือนธันวาคม เรื่องการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ของรุ่น สรุปการจัดงานแข่งขันกอล์ฟ และงานครบรอบ 55 ปีของรุ่น MC’2513 พร้อมอวยพรวันเกิดสมาชิกที่มีวันคล้ายวันเกิดในเดือนธันวาคม มีคณะกรรมการ สมาชิก ร่วมงานอย่างคับคั่ง พร้อมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ณ ห้องอาหารโฮลอินวัน hole in one ถนนเชียงใหม่-แม่ริม ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

ต้อนรับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้อนรับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ พระธรรมวชิรจินดาภรณ์,รศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ในโอกาสเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพบปะและศึกษาดูงาน ส่วนวิชาการภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับ Best Practice เรื่อง การขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Best Practice เรื่อง หลักสูตรระยะสั้นบูรณาการหลักสูตรข้ามศาสตร์ และ MOOC/Life Long Learning ของวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ทำบุญสืบชาตาอายุวัฒนมงคล “พระครูใบฎีกาสมพร โอภาโส”

ทำบุญสืบชาตาอายุวัฒนมงคล “พระครูใบฎีกาสมพร โอภาโส”

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 คณะสงฆ์ คณะศรัทธา ศิษยานุศิษย์ ร่วมกันประกอบพิธี ทำบุญสืบชาตาอายุวัฒนมงคลพระครูใบฎีกาสมพร โอภาโส เจ้าอาวาสวัดศรีโขง ผู้อำนวยการโรงเรียนเชตุพนศึกษา (ในพระสังฆราชูปถัมภ์) เชียงใหม่ เนื่องในโอกาสครบรอบคล้ายวันเกิด อายุ 56 ปี พรรษา 36 โดยมีพระครูรัตนสุตสุนทร เจ้าอาวาสวัดสันป่าข่อย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเถรานุเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ เจริญพุทธมนต์ คณะศรัทธา ศิษยานุศิษย์ ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ณ วัดศรีโขง ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

บำเพ็ญประโยชน์จิตอาสาพัฒนาวัดและมอบงบประมาณ

บำเพ็ญประโยชน์จิตอาสาพัฒนาวัดและมอบงบประมาณ

วันพุธที่ 11 ธันวาคม 2567 Greater Chiang Mai ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ นำโดยพระครูปริยัติเจติยานุรักษ์, ผศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงใหม่ ดร.วีระ สิริเสรีภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาลัย และอาจารย์กิตติ์ ขวัญนาค อาจารย์ประจำหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ได้นำนิสิต ลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์จิตอาสาพัฒนาวัดและมอบงบประมาณพัฒนาหลังน้ำท่วมพื้นที่อำเภอสารภี จำนวน 3 วัด ได้แก่วัดเชียงแสน วัดเจดีย์เหลี่ยม และวัดป่าเปอะ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่.

แข่งศิลปะหัตถกรรมนักเรียนระดับประถมศึกษา

แข่งศิลปะหัตถกรรมนักเรียนระดับประถมศึกษา

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 โรงเรียนแม่วินสามัคคี นำโดยนายนิเวศน์ เต๋จา ผู้อำนวยการโรงเรียนและนางสาวพรทิพย์ ปามี รองผู้อำนวยการโรงเรียนได้ใช้สถานที่โรงเรียนแม่วินสามัคคีเป็นสถานที่แข่งศิลปะหัตกรรมนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยมีดร.ชาญชิต ทัพหมี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 4 เป็นประธานเปิดงาน และมีนายเถกิง อุดดง ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยข้าวลีบกล่าวรายงาน ณ โรงเรียนแม่วินสามัคคี ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่.

(มีคลิป) ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน จังหวัดเชียงใหม่ มอบชุดพื้นเมือง ให้กับกลุ่มแม่บ้าน บ้านท่าร้องขี้ควาย

ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน จังหวัดเชียงใหม่ มอบชุดพื้นเมือง ให้กับกลุ่มแม่บ้าน บ้านท่าร้องขี้ควาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ใช้สวมใส่ร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน และงานประเพณีต่างๆ

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.67 นายสว่าง ธาตุอินทร์จันทร์ ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่ และประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน 8 จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) มอบชุดเสื้อผ้าพื้นเมือง ทั้งเสื้อสีบานเย็น และผ้าถุงสำเร็จรูป ให้กับกลุ่มแม่บ้าน “บ้านท่าร้องขี้ควาย” ตำบลสันผีเสื้อ ในตัวเมืองเชียงใหม่ จำนวน 20 ชุด เพื่อให้สวมใส่ให้เหมือนกัน และเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เพื่อใช้สวมใส่ร่วมกิจกรรม งานประเพณีต่างๆ ของหมู่บ้านท่าร้องขี้ควาย และร่วมกิจกรรมเวลามีงานในต่างหมู่บ้าน ซึ่งเป็นงานจิตอาสา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้สูงอายุ เพื่อเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน ไปร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ นายสว่าง ธาตุอินทร์จันทร์ กล่าวว่า ชุดเดิมที่มีอยู่ ของกลุ่มแม่บ้านท่าร้องชี้ควาย สวมใส่มานานมากแล้ว จึงใช้เงินส่วนตัว จำนวน 10,000 บาท จัดหาซื้อผ้านำมาตัดเย็บ ให้กับกลุ่มแม่บ้านจำนวน 20 คน ที่เป็นผู้เสียสละ และช่วยเหลืองานของหมู่บ้าน และงานกิจกรรมของทางวัด โดยไม่มีสิ่งตอบแทน เป็นงานจิตอาสาทั้งนั้น และทางกลุ่มแม่บ้านเอง ก็ไม่ได้มีเงินรายได้ จึงนำเงินส่วนตัว ออกเป็นค่าใช้จ่ายตัดชุด ให้กับกลุ่มแม่บ้านใหม่ทั้งหมด ทำให้แต่ละคนมีรอยยิ้ม ที่ได้ชุดใหม่ เพื่อที่จะได้สวมใส่ ในการร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ทำให้แม่ๆ ลองสวมใส่ทันที สวยงามกันทุกคน พากันดีใจ บางคนยิ้มจนเห็นฟันปลอม.

“โสรัตยา บัวชุม” กำนันตำบลเชิงดอยร่วมโล่เชิดชูเกียรติฯ

นางสาวโสรัตยา บัวชุมกำนันตำบลเชิงดอยร่วมโล่เชิดชูเกียรติให้แก่ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. สนองพระราชดำริสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมเกียรติบัตร ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี 2567 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ให้การต้อนรับ

โดยศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ของนางสาวโสรัตยา บัวชุม ได้รับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพจนเกิดผลสำเร็จ มีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ จนได้เข้ารับโล่เชิดชูเกียรติในครั้งนี้ โดยมีศูนย์เรียนรู้ จำนวน 80 แห่ง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย
1. ประชาชนทั่วไป จำนวน 43 แห่ง
2. ภาครัฐ จำนวน 7 แห่ง
3. สถานศึกษา จำนวน 27 แห่ง
4. ชุมชน จำนวน 3 แห่ง ที่เข้าร่วมรับ โล่พร้อมเกียรติบัตร ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี 2567 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่.