เปิดสนามสอบธรรมสนามหลวง น.ธ.ตรี ณ วัดศรีโสดา

เปิดสนามสอบธรรมสนามหลวง น.ธ.ตรี ณ วัดศรีโสดา

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 น.พระธรรมวชิรโกศล ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดศรีโสดา พระอารามหลวง เมตตาโอวาทกับนักเรียนที่เข้าสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นตรี พระเดชพระคุณพระเทพมังคลาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดท่าตอน พระอารามหลวง เป็นประธานเปิดสนามสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นตรี ประจำปี 2567 ณ วัดศรีโสดา พระอารามหลวง โดยมีพระครูโฆสิตปริยัตยาภรณ์ เจ้าคณะตำบลสุเทพ เขต 1 เจ้าอาวาสวัดป่าแดงมหาวิหาร พร้อมคณะกรรมการ ถวายการต้อนรับ นางอารีย์ พันธุ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมข้าราชการในสังกัดร่วมอำนวยความสะดวก ณ วัดศรีโสดา พระอารามหลวง ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

เมตตาเยี่ยมสนามสอบธรรมสนามหลวง น.ธ.ชั้นตรี ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

เมตตาเยี่ยมสนามสอบธรรมสนามหลวง น.ธ.ชั้นตรี ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น.พระเดชพระคุณพระเทพมังคลาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดท่าตอน พระอารามหลวง เมตตาเยี่ยมสนามสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นตรี ประจำปี 2567 ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อกำลังใจให้คณะกรรมการ นักเรียนผู้ที่เข้าสอบ โดยมีพระครูปริยัติกิจจาภิวัฒน์ ดร. เจ้าคณะตำบลพระสิงห์ เขต 1 พร้อมคณะกรรมการ ถวายการต้อนรับ นางอารีย์ พันธุ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดร่วมถวายอำนวยความสะดวก พร้อมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

ถวายถุงยังชีพช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย

ถวายถุงยังชีพช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 พระพรหมวัชรธีราจารย์, ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มอบหมายให้ พระราชวัชรสารบัณฑิต, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา พร้อมด้วย มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน และวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย โดยพระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์, ผศ.ดร. รองอธิการบดีวิทยาเขตเชียงใหม่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต ลงพื้นที่ถวายถุงยังชีพช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย (น้ำท่วม) ในเขตตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และวัดหนองช้างคืน โดยมีพระครูสิริสุตานุยุต,รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน เป็นผุ้ประสานงาน และพระมหาธีรวัฒน์ เสสปุญโญ, ผศ.ดร. รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ เชียงรายฝ่ายบริหาร ร่วมการถวายถุงยังชีพในครั้งนี้ด้วย ณวัดหนองช้างคืน ตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน.

เชียงใหม่เปิดบัญชี ธารน้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยผู้ประสบภัย พร้อมเตรียมจัดงาน “รวมใจศิลปินเชียงใหม่เพื่อผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่” นำรายได้สมทบทุนให้กับผู้ประสบอุทกภัย ในจังหวัด

เชียงใหม่เปิดบัญชี ธารน้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยผู้ประสบภัย พร้อมเตรียมจัดงาน “รวมใจศิลปินเชียงใหม่เพื่อผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่” นำรายได้สมทบทุนให้กับผู้ประสบอุทกภัย ในจังหวัด

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เวลา 13:00 น. ที่ศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดเชียงใหม่ เรือนริมน้ำ สวน อบจ.เชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่ )แถลงข่าวการจัดงาน “รวมใจศิลปินเชียงใหม่เพื่อผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่” เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนให้กับผู้ประสบอุทกภัย ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายธัชพล อภิรติมัย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 4 ที่ทางศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือฯ จัดตั้งขึ้นมาโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และทุกภาคส่วนเข้าร่วม จนถึงวันนี้มีผู้ประสานขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์ฯ มากกว่า 900 รายและเราสามารถดำเนินการเรียบร้อย 907 ราย ซึ่งมีพี่น้องประชาชนได้รับความเดือนร้อนจากทุกภัย และในวันนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลสุเทพ และเทศบาลตำบลแม่เหี้ยะตั้งโรงครัวเพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบทั้งหมด คาดว่าในแต่ละวันจะสามารถประกอบอาหารให้ผู้ประสบภัยวันละ 12,000 ชุด ขณะเดียวกันศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์รับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง อีกด้วย โดยเมื่อวานนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่ ที่ร่วมบริจาคผลิตภัณฑ์ขนมโลตัสน่องไก่และเจเล่ บิ้วตี้ จำนวน 1,340 หีบ มูลค่า 800,000 บาท เพื่อนำไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ทางคณะกรรมการศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับศิลปินชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะอ้อมรัตนัง ,ไม้เมือง,เดอะเพอะ ,ครูแอ๊ด เดอะสะล้อตลอดจน วงดุริยางค์มทบ.33 เตรียมจัดงาน “รวมใจศิลปินเชียงใหม่เพื่อผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่” เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนให้กับผู้ประสบอุทกภัย ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 10 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 17.00 – 23.00 น.

นายพิชัย กล่าวต่อว่าคณะกรรมการของศูนย์มีมติร่วมกันที่จะเปิดบัญชีให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านทางธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี ธารน้ำใจสู่ผู้ประสบอุทกภัยเชียงใหม่ บัญชีเลขที่ 664–1-30195-8 เป็นบัญชีของคณะกรรมการศูนย์แห่งนี้ ที่นอกจากความช่วยเหลือจากภาครัฐที่รัฐบาลได้เยียวยาไปแล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามาบริจาคในบัญชีนี้ได้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดซื้อถุงยังชีพเพื่อมอบให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้วกว่า 50,000 ถุง หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายก็พร้อมที่จะจัดซื้อเพิ่มเติม เพื่อมอบให้ประชาชนที่ประสบภัยทุกคน.

(มีคลิป) “TSA” มอบสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคเหนือ ให้ปภ.เชียงใหม่ 1,008,400 บาท

“TSA” มอบสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคเหนือ ให้ปภ.เชียงใหม่ 1,008,400 บาท

สมาคมผู้ประกอบการระบบรักษาความปลอดภัยไทย (Thai Security Association) ร่วมกับบริษัท เอชไอพี โกลบอล จำกัด มอบสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคเหนือ ให้แก่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่ารวม 1,008,400 บาท

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 นายทวีชัย หยาง นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบรักษาความปลอดภัยไทย หรือ TSA พร้อมกับนายพิพัฒน์ แซ่ลิ้ม นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบรักษาความปลอดภัยไทย สาขาภาคเหนือ พร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคม ได้นำสิ่งของบรรเทาทุกข์ ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องอุปโภคและบริโภค รวมทั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย อาทิ กล้องวงจรปิด ระบบไม้กั้นรถยนต์ และโปรแกรม มอบให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่รับผลกระทบจากภัยภิบัติในครั้งนี้

นายพิพัฒน์ แซ่ลิ้ม นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบรักษาความปลอดภัยไทย สาขาภาคเหนือ เผยว่าสมาคมผู้ประกอบการระบบรักษาความปลอดภัยไทย (TSA) พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนและการผลักดันของกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (CT) สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประทศไทย (NECTEC) และหอการค้าไทย (Thai Commerce Chamber) เป็นต้น TSA จึงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 นับแต่นั้น มา สมาคมได้ขยายโครงสร้างและเติมโตอย่างต่อเนื่อง มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย กลุ่มธุรกิจด้านวิศวกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เป็นต้น รวมทั้งเข้าร่วมการกำหนดมาตรฐานของระบบรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทยร่วมพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยไทยในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบัน (TSA) มีสมาชิกมากกว่า 600 ราย ประกอบไปด้วยผู้นำหลักผู้ประกอบธุรกิจระบบรักษาความปลอดภัยในประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่ง กิจการค้นคว้าวิศวกรรมและดำเนินนการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมสินค้าประเภทระบบสแกนลายนิ้วมือ กล้องวงจรปิด ระบบโรงแรมระบบทางเดิน ระบบควบคุมประตูอัตโนมัติ และระบบควบคุมลานจอดรถ เป็นต้น

นอกจากนี้สมาคมฯยังได้จัดประชุมด้านระบบรักษาความปลอดภัย จัดอบรมด้านเทคนิค และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าร่วมงานสัมมนาเทคนิคค้นความปลอดภัยกับหน่วยงานทหารและตำรวจ ให้ความช่วยเหลืองานระบบกล้องวงจรปิดในโรงเรียนเขตชนบท เข้าร่วมให้ความช่วยหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมพบปะระหว่างสมาชิกในประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ทลายครั้ง โดยตั้งปณิธานด้านความร่วมมือและก้าวไปพร้อมกัน มีการจัดงานและเข้าร่วมงานนิทรรศการ ผู้ประกอบการะบบรักษาความปลอดภัย สมาคมผู้ประกอบการระบบรักษาความปลอดภัยไทย (TSA) มีบทบาทสำคัญในการสร้างมูลค่าและยกระดับธุรกิจผู้ประกอบการด้านความปลอดภัยในประเทศไทยสมาคมผู้ประกอบการระบบรักษาความปลอดภัยไทย (TSA) ยังเป็นสมาชิกของสมาคมธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย อาทิเช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย-จีน, Asia pacific security association, and Global Security Industry Alliance.

ประเพณีทำบุญสลากภัต “วัดสวนดอก” เชียงใหม่

ประเพณีทำบุญสลากภัต “วัดสวนดอก” เชียงใหม่

วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 น. พระเดชพระคุณพระเทพมังคลาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดท่าตอน พระอารามหลวง เมตตาเป็นประธานพิธีงานทำบุญสลากภัตวัดสวนดอก พระอารามหลวง ประจำปี 2567 นำโดยพระราชรัชมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดสวนดอก พระอารามหลวง ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำกันมาเป็นประจำทุกปี เพื่ออุทิศบุญกุศลให้บรรพชน บุพการีชน บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ญาติสนิท มิตรสหาย เทพเทวา อารักษ์ พ่อเกิด แม่เกิด เจ้ากรรมนายเวร สรรพสัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนสัมพเวสีทั้งหลาย มีพุทธศาสนิกชนร่วมอุทิศส่วนกุศลและร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ณ วัดสวนดอก พระอารามหลวง ถนนสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

พิธีปิดศพ “พระครูศรีปัญญาวิเชียร”

พิธีปิดศพ “พระครูศรีปัญญาวิเชียร”

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 น. พระครูปริยัติกิจจาภิวัฒน์ ดร. เจ้าคณะตำบลพระสิงห์ เขต 1 รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหมื่นเงินกอง เชียงใหม่ นิมนต์พระเถรานุเถระ จำนวน 20 รูป มี พระเดชพระคุณพระเทพมังคลาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดท่าตอน พระอารามหลวง เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พิธีปิดศพ พระครูศรีปัญญาวิเชียร (บุญมา วชิรญาโณ น.ธ.เอก,ป.ธ.6) อายุ 62 พรรษา 41 อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นเงินกอง โดยมีคณะสงฆ์ คณะศรัทธา ศิษยานุศิษย์ ร่วมพิธี ณ วิหารวัดหมื่นเงินกอง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

กรมชลประทาน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ริมแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่

กรมชลประทาน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ริมแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่

วันที่ 5 ตุลาคม 2567 นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน รักษาการอธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้ นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำปิง ตำบลช้างม่อยและตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบริเวณประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยนายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 มอบหมายให้ นายจิรชัย พัฒนพงษา หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นผู้แทน และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่

ปัจจุบัน โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ยกบานระบายของอาคารขึ้นทั้งหมด เพื่อเร่งระบายน้ำด้านท้ายอย่างเต็มศักยภาพ สำหรับพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ในเขตเทศบาลและพื้นที่เศรษฐกิจ แม่น้ำปิงได้เอ่อล้นตลิ่งตั้งแต่เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ปัจจุบันที่สถานีวัดระดับน้ำสะพานนวรัฐ (P.1) อยู่ที่ระดับ 5.30 ม. ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่ง 1.10 ม.

โดยนายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ออกประกาศแจ้งเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมทุกโซน ตลอดจนเร่งระบายน้ำในลำน้ำปิงโดยยกบานระบายของอาคารชลประทานต่าง ๆ และเฝ้าระวังจัดเก็บเศษไม้ ผักตบชวา ที่ไหลมากับน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ได้บูรณาการกับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ สนับสนุนรถขนย้ายผู้ประสบภัย กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ และถุงยังชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง.

คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีฉลองเปรียญธรรมแด่พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ ที่สอบผ่านประโยคบาลีสนามหลวงและบาลีศึกษา ประจำปี 2567 เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา

คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีฉลองเปรียญธรรมแด่พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ ที่สอบผ่านประโยคบาลีสนามหลวงและบาลีศึกษา ประจำปี 2567 เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 (ภาคเช้า) ที่พระวิหารหลวง วัดสวนดอก พระอารามหลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พระเดชพระคุณ พระพรหมเสนาบดี ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ราชวรวิหาร เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีทำบุญทักขิณานุปทานถวายแด่ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระวิสุทธิวงศาจารย์, พระพรหมมงคล วิ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ (ภาคบ่าย) พิธีฉลองเปรียญธรรม พระเทพมังคลาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ถวายเครื่องสักการะ พระมหากิตติพงษ์ ฐานกโร ป..๙ ในนามผู้สอบบาลีได้ ถวายเครื่องสักการะ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มอบหมายให้ นางอารีย์ พันธุ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ถวายเครื่องสักการะ พระราชรัชมุนีรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายการศึกษา กล่าวถวายรายงาน พระเดชพระคุณ พระพรหมเสนาบดี มอบโล่ เกียรติบัตร และทุนการศึกษาให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ ที่ผ่านการสอบประโยคบาลีสนามหลวงของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 122 รูป/คน การจัดพิธีฉลองเปรียญธรรมประจำปีพุทธศักราช 2567 ของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีเพื่อธำรงพุทธศาสนา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแสดงมุทิตาจิต และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ ที่ผู้สอบผ่านประโยคบาลีสนามหลวงและบาลีศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต

พร้อมกันนี้คณะสงฆ์อำเภอแม่ริม,สันป่าตอง,หางดง, ถวายปัจจัยสมทบทุนสร้างพุทธมณฑลคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ ลงพื้นที่มอบข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวกล่อง น้ำเปล่า รวมถึงปัจจัย ช่วยผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ ลงพื้นที่มอบข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวกล่อง น้ำเปล่า รวมถึงปัจจัย ช่วยผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ พร้อมด้วยคณาจารย์ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นิสิต มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ รวมถึง คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนต่างๆ ได้ลงพื้นที่มอบข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวกล่อง น้ำเปล่า รวมถึงปัจจัย ช่วยผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการนำของท่านพระเดชพระคุณพระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร พระธรรมเสนาบดี รองเจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พระเทพปริยัติ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอดพระอารามหลวง พระเทพสิงหวราจารย์, ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พร้อมด้วยท่านพระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์,ผศ.ดร. รองอธิการบดี มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ พระครุปริยัติเจิติยานุรักษ์, ผศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงใหม่ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตเชียงใหม่ โดยมีชาวบ้านที่ประสบภัยจำนวนมาก มาออกรับข้าวของพร้อมด้วยรอยยิ้มด้วยเต็มเปี่ยม.