สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชา

สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชา

ันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ โดยพระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์,ผศ.ดร. รองอธิการบดี วิทยาเขตเชียงใหม่ มอบหมายให้่ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรมย์ สีดาคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ดร.วีระ สิริเสรีภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาลัย พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากร นิสิต มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ ร่วมเดินขบวนธรรมยาตรา ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปีงบประมาณ 2568 จังหวัดเชียงใหม่ ณ ข่วงประตูท่าแพ และวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

ฉลองสมโภชพระมหาจักรพรรดิปางเปิดโลก ไม้ตะเคียน

ฉลองสมโภชพระมหาจักรพรรดิปางเปิดโลก ไม้ตะเคียน

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 พระครูสุจิตเมธวัจน์ เจ้าคณะตำบลแม่แฝกเขต 1 เจ้าอาวาสวัดหนองมะจับ อำเภอสันทราย เชียงใหม่ และคณะศรัทธาวัดหนองมะจับทุกหลังคาเรือน นิมนต์พระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ จำนวน 59 รูป มีพระเดชพระคุณ พระเทพมังคลาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดท่าตอน พระอารามหลวง เมตตาเป็นประธานจุดเทียนชัย นั่งอธิษฐานจิต เจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญปอยหลวงฉลองสมโภชพระมหาจักรพรรดิปางเปิดโลก ไม้ตะเคียน ถวายเสนาสนะ โดยมีคณะสงฆ์ คณะเจ้าภาพ พุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก ณ วัดหนองมะจับ ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่.

(มีคลิป) “นบ.ยส.35 ขานรับนโยบายยาเสพติด SEAL STOP SAFE เสริมกำลังเขี้ยวเล็บหัวหน้าชุดปฏิบัติการ นบ.ยส.35 เพื่อสกัดกั้น ลดการนำเข้ายาเสพติด ลดการส่งออกสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ”

“นบ.ยส.35 ขานรับนโยบายยาเสพติด SEAL STOP SAFE เสริมกำลังเขี้ยวเล็บหัวหน้าชุดปฏิบัติการ นบ.ยส.35 เพื่อสกัดกั้น ลดการนำเข้ายาเสพติด ลดการส่งออกสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ”

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ห้องพลอยไพลิน โรงแรมกรีนเลครีสอร์ท อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พลโท กิตติพงศ์ ชื่นใจชน แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35 เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในพื้นที่ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนชายแดนภาคเหนือ พ.ศ. 2568 ร่วมด้วย นายธันวา ผุดผ่อง ผอ.ปปส.ภาค 5 พลตำรวจตรี ธนรัชต์ ชุ่มสวัสดิ์ รอง ผบช.ภ.5 นายฤทธิเดช จรรยาพงษ์ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ อำเภอเชียงของ และนายสุวิทย์ สิงห์อยู่ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข่าวและเฝ้าระวัง สำนักงาน ปปส. ภาค 6

โดย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2568 ให้กับหัวหน้าชุดปฏิบัติการ นบ.ยส.35 จากหน่วยงาน ทหาร, ตำรวจ, ปกครอง และ ป.ป.ส. รวม 240 นาย ในพื้นที่ 6 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย, น่าน, พะเยา, แม่ฮ่องสอน และตาก เพื่อให้เกิดการบูรณาการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ สกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์เข้ามาภายในประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานของ นบ.ยส.35ให้เกิดการบูรณาการอย่างจริงจัง เด็ดขาด

พลโท กิตติพงศ์ ฯ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ในพิธีเปิดปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด “ SEAL STOP SAFE ” ผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ฯ ได้ กล่าวว่ารัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันปฏิบัติในการสกัดกั้น หรือการปิดกั้นชายแดน ไม่ให้ยาเสพติดหลุดรอดเข้ามาในประเทศ ในห้วงระยะเวลา 6 เดือน (กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม) โดยกำหนดพื้นที่เร่งด่วนในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ใน 14 จังหวัด รวม 51 อำเภอชายแดน 76 สถานีตำรวจ เพื่อลดปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม

SEAL สกัดกั้นพื้นที่ชายแดน มีทหารเป็นกำลังหลักในการผนึกกำลังทุกภาคส่วนเข้ายับยั้งไม่ให้มียาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้ามาภายในประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ STOP หยุดวงจรยาเสพติด มีตำรวจเป็นกำลังหลัก บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด จับกุมผู้ค้า รวมถึงขยายผล อายัดทรัพย์กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด SAFE สร้างพื้นที่ปลอดภัย มีฝ่ายปกครองเป็นกำลังหลัก ยับยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด และไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ภายในหมู่บ้าน /ชุมชน รวมถึง นำผู้เสพฯเข้าบำบัด ฟื้นฟู พัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรเดิมอีกต่อไป

นบ.ยส.35 จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพกำลังพลระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการของหน่วยภายใต้โครงสร้างของ นบ.ยส.35 และเป็นการทบทวนความเข้าใจการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการ รวมถึงได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบูรการในการทำงานอย่างแท้จริง รวมถึงมาตรการการทำงานเชิงรุกในทุกมิติ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานอันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลในที่สุด

โดย ผลการปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติด ในห้วง 4 เดือนที่ผ่านมาในพื้นที่รับผิดชอบของ นบ.ยส.35 (1 ต.ค.67 – 3 ก.พ.68) มี 71 เหตุการณ์สำคัญ, เป็นการปะทะกับกลุ่มขบวนการ 14 ครั้ง, ตรวจยึด/จับกุม 57 ครั้ง (ติดตามจับกุมนอกพื้นที่ 3 ครั้ง) ของกลางยาเสพติด ยาบ้า 97,761,614 เม็ด, ไอซ์ 6,899 กก., เฮโรอีน 140 กก., คีตามีน 835 กก., ฝิ่นดิบ 1 กก. HappyWater 4.8 กก., เคมีภัณฑ์ 880 ตัน, ผู้ต้องหา 74 ราย และ กลุ่มขบวนการเสียชีวิต 4 ศพ

จากการปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นในการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมาส่งผลให้สถานการณ์การลักลอบนำเข้ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่า ในห้วงไตรมาสที่1 ของปีนี้ มีผลการจับกุมยาเสพติดที่นำเข้าทางพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงขึ้นกว่าการจับกุมในพื้นที่ภาคเหนือ โดยในพื้นที่ภาคเหนือพบการลักลอบนำเข้าไอซ์สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้พบว่ากลุ่มขบวนการฯได้เปลี่ยนวิธีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามามีจำนวนครั้งที่มากขึ้น แต่ปริมาณในการลำเลียงลดลง ทั้งนี้คาดว่าเพื่อกระจายความเสี่ยงในการถูกตรวจยึดจับกุม จากความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และคาดว่าจะส่งผลให้การลักลอบลำเลียงเปลี่ยนทิศทางนำเข้าไปใช้พื้นที่ชายแดนด้านอื่นเพิ่มมากขึ้น.

(มีคลิป) ผู้ว่าฯลำพูน ร่วมกิจกรรมแถลงข่าวสรุปการดำเนินกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ “Lamphun Story Telling”

ผู้ว่าฯลำพูน ร่วมกิจกรรมแถลงข่าวสรุปการดำเนินกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ “Lamphun Story Telling”

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17.00 น.
ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ร่วมกิจกรรมแถลงข่าวสรุปการดำเนินกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน (Lamphun Story Telling) ภายใต้โครงการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาเชิงสร้างสรรค์ “Lamphun Sport Tourism Wellness Thailand”

ลำพูนเตรียมเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ “Lamphun Story Telling” ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและ การท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนเปิดตัวโครงการ “Lamphun Story Telling” ที่มุ่งพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน โดยเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวลำพูนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ ด้วยเป้าหมายในการสร้างการรับรู้และขยายตลาดการท่องเที่ยวจากเมืองรองสู่เมืองหลักในภาคเหนือของไทย

นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยถึงความพร้อมและศักยภาพของจังหวัดในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียงอย่างเชียงใหม่ ลำปาง และเชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคเหนือ ลำพูนเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,348 ปี มีทั้งวัดวาอาราม สถาปัตยกรรมล้านนา และประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและน่าสนใจ
นางเกศกนก เดชมา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน กล่าวถึงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว “Lamphun Story Telling” โดยเส้นทางต่างๆ จะมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้แก่
1. เส้นทางหัตถกรรมและศิลปวัฒนธรรม: “สัมผัสศิลป์พื้นถิ่นลำพูน” ที่จะพานักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมงานฝีมือพื้นบ้านและผ้าทอฝ้ายลำพูน
2. เส้นทางธรรมชาติและการผจญภัย: “ผจญภัยในอ้อมกอดธรรมชาติลำพูน” สำหรับผู้ที่รักการผจญภัยและธรรมชาติ
3. เส้นทางไลฟ์สไตล์สบายๆ: “Easy Day in Lamphun – ผ่อนคลายสไตล์ลำพูน” ที่เหมาะกับการพักผ่อนและสำรวจวิถีชีวิตท้องถิ่น
4.เส้นทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี: “สะท้อนความเป็นลำพูน” ที่จะพานักท่องเที่ยวไปสัมผัสประวัติศาสตร์และศาสนสถานสำคัญ
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดลำพูนผ่านการเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชนและการสร้างการรับรู้จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการตลาดและการบริการในชุมชนท่องเที่ยว รวมถึงการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน “Lamphun Story Telling” จะช่วยสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่สนุกสนานและ เบิกบานใจ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตแบบลำพูนที่ยังคงความสงบเรียบร้อยและความเป็นมิตรอย่างยั่งยืน

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Lamphun Story Telling หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน.

พิธีทำบุญ “วันมหาปูชนียาจารย์”

พิธีทำบุญ “วันมหาปูชนียาจารย์”

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 พระวชิรกิจโสภณ เจ้าคณะอำเภอฮอด เจ้าอาวาสวัดบ้านขุน อำเภอฮอด เชียงใหม่ นิมนต์พระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ จำนวน 59 รูป มีพระเทพปริยัติ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 7 พระเทพมังคลาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ พระเทพสิงหวราจารย์,ดร. พระราชรัชมุนี , พระสุวรรณเมธี,ดร.พระวิมลมุนี,ดร.รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ สวดพระพุทธมนต์ เนื่องในพิธีทำบุญ “วันมหาปูชนียาจารย์” เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร),คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา ทองสุข สำแดงปั้น และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง ณ วัดบ้านขุน ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

อบรมหลักสูตร การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

อบรมหลักสูตร การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (LAB 2) มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์และประธานโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ พร้อมด้วย คณาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และทีมคณะทำงาน จัดอบรมหลักสูตร การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) หัวข้อ “เครื่องมือและเทคโนโลยีสำหรับการสืบหาและวิเคราะห์พยานหลักฐานดิจิทัล” โดยมีทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ ฝึกทักษะประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิทยากรนำโดย
– ว่าที่ พ.ต.ต.อำพล ทองอร่าม กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5
– ว่าที่ พ.ต.ต.ชวลิต เสาร์แบน ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2
ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ประจำปี 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สำหรับเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 5.

คณะสงฆ์ตำบลท่าศาลา หนองป่าครั่ง มอบโลงศพให้ญาติผู้วายชนม์

คณะสงฆ์ตำบลท่าศาลา หนองป่าครั่ง มอบโลงศพให้ญาติผู้วายชนม์

เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 คณะสงฆ์ตำบลท่าศาลา – หนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้มอบโลงศพให้ลุงพเยาว์และญาติเพื่อนำไปบรรจุศพ นางสาวพิมพรรณ มณฑลทวีทรัพย์ ผู้ล่วงลับ อยู่หมู่ที่ 3 บ้านสันทรายดอนจั่น ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลต่อไป.

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สรุปผลการปฏิบัติ 7 มาตรการเข้มข้น หลังขีดเส้นตาย 7 วัน ปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ เอ็กซเรย์ทุกพื้นที่ สกัดกั้นชายแดน

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สรุปผลการปฏิบัติ 7 มาตรการเข้มข้น หลังขีดเส้นตาย 7 วัน ปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ เอ็กซเรย์ทุกพื้นที่ สกัดกั้นชายแดน ปรับแผนรองรับ
กวาดล้างคอลเซ็นเตอร์และบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาดทุกราย

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการปฏิบัติ 7 มาตรการเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวถูกหลอกลวง นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 ได้ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และคนต่างด้าวถูกหลอกลวง หรือประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย และอาชญากรรมข้ามชาติ และขีดเส้นตาย 7 วันให้ทุกหน่วยดำเนินการ โดยมีกรณีพื้นที่ ภ.6 มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง (สภ.แม่สอด สภ.แม่ระมาด สภ.พบพระ) และออกคำสั่งให้ไปช่วยราชการ ศปก.ภ.6 ทันที โดยขาดจาก ต้นสังกัดเดิม

ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้มีหนังสือสั่งการกำหนด 7 มาตรการเข้มข้น ให้ปฏิบัติอย่างชัดเจน โดยมีผลการปฏิบัติ ห้วงระหว่าง วันที่ 20-31 มกราคม 2568 ดังนี้
1.มาตรการก่อนคนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศไทย : การประสานและสืบสวนหาข่าวร่วมกับหน่วยงานด้านการข่าว สมาชิก INTERPOL และประสานงานช่องทางกงสุล (ฝ่ายตำรวจ/ทูตฝ่ายตำรวจ) เชื่อมโยงข้อมูลคนต่างด้าวไปยังหน่วยตำรวจพื้นที่และจุดตรวจ และประสานงานด้านการสืบสวนหาข่าวสืบสวนจับกุมคนต่างด้าวที่กระทำความผิด

2. มาตรการ ณ ท่าอากาศยาน และด่านตรวจคนเข้าเมือง(ชายแดน) : ตรวจสอบและบันทึกข้อมูลบุคคลเฝ้าระวัง ปฏิเสธการเข้าเมือง สืบสวนในพื้นที่ท่าอากาศยาน และตรวจคัดกรองคนต่างด้าวชายแดน ตรวจสอบ/จับกุมยานพาหนะบริเวณท่าอากาศยาน โดยประสานกับการท่าอากาศยาน ศุลกากร ตำรวจท่องเที่ยวและตรวจคนเข้าเมือง

3. มาตรการตั้งจุดตรวจเส้นทางการเดินทางจากท่าอากาศยาน/ด่านตรวจคนเข้าเมืองไปยังพื้นที่เฝ้าระวัง : ตั้งจุดตรวจความมั่นคง จุดตรวจ จุดสกัด จุดกวดขันวินัยจราจร โดยใช้รูปแบบใยแมงมุมและเหลื่อมเวลาการปฏิบัติ ประชาสัมพันธ์คนต่างด้าวเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจและ ไม่ประสงค์เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงต่อไป

4. มาตรการตรวจสอบที่พัก พื้นที่ท่องเที่ยว สกัดกั้นพื้นที่ชายแดน : ตรวจสอบที่พัก ช่องทางเข้า-ออกชายแดน ประชาสัมพันธ์พื้นที่ท่องเที่ยว ตลอดจนสกัดกั้นลาดตระเวน ช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามต่าง ๆ

5. มาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบเส้นทางและจุดพักคอย : ตรวจสอบปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ สถานีขนส่ง สถานที่ที่พักคอย พักค้างแรมชั่วคราว

6.มาตรการเข้มข้นในพื้นที่ชายแดน ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง/เฝ้าระวังที่จะข้ามไปชายแดน :ตรวจสอบที่พักในแนวชายแดน สืบสวนหาข่าว (IPB) ตรวจสอบป้ายทะเบียนรถและใบหน้าบุคคล ประสานงานและบูรณาการตรวจร่วมหน่วยความมั่นคง ลาดตระเวน ตรวจร่วมบริเวณชายแดน ท่าข้าม และตรวจสอบยานพาหนะข้ามแดน

7.มาตรการประสานงาน ให้ความช่วยเหลือ และสืบสวนขยายผล: ประสานงานให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวจากประเทศต้นทางและได้ประชุมหารือความร่วมมือระหว่างประเทศปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศ 16 ประเทศ UNODC และกระทรวงความมั่งคงสาธารณะจีน ในความร่วมในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทุกมิติ

สรุปผลการตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ คนต่างด้าว 7,076 ราย จับกุมคนต่างด้าวผิดกฎหมาย 524 ราย ปฏิเสธการเข้าเมือง 92 ราย เพิกถอนการอนุญาต 11 ราย จับกุมยานพาหนะ(เสี่ยง) 72 คัน ตั้งจุดตรวจ จำนวน 2,218 จุด ตรวจสอบยาพาหนะ 286,886 (ในเส้นทาง 268,429 คัน และพาหนะข้ามแดน 18,457 คัน) ตรวจสอบป้ายทะเบียนรถและใบหน้าบุคคล 20,665 ข้อมูล ตรวจสอบสถานที่พัก สถานีขนส่ง จุดพัก ช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามต่าง ๆ กว่า 2,204 แห่ง จำนวน 3,379 ครั้ง

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าผู้กระทำความผิดมีการเปลี่ยนเส้นทางและพยายามจะขนย้ายอุปกรณ์ เปลี่ยนสถานที่ในการกระทำความผิด จะได้วิเคราะห์ข้อมูลและปรับแผนการปฏิบัติ ตรวจสอบและจับกุมดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาดทุกราย หากพบเจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยว พัวพัน ประพฤติมิชอบ จะดำเนินการโดยทันที.

มจร เชียงใหม่ แสดงความยินดีกับกงสุลใหญ่อินเดีย

มจร เชียงใหม่ แสดงความยินดีกับกงสุลใหญ่อินเดีย

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 พระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์, ผศ.ดร. รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ มอบหมายให้พระครูใบฎีกาทิพย์พนากรณ์ ชยาภินนฺโท, ดร. ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ รศ.ดร.อภิรมย์ สีดาคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป และพระนคร ปัญญาวชิโร, ดร. เลขานุการรองอธิการบดีวิทยาเขตเชียงใหม่ พร้อมด้วยนางสาวอรช บุญ – หลง ผู้ร่วมก่อตั้ง Greater Chiang Mai ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นคืนจิตวิญญาณเมืองเชียงใหม่ เข้าแสดงความยินดีกับ Mr. Pranav Ganesh กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินเดีย ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในวาระการเข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมหารือแนวทางขยายโครงการสำรวจคัมภีร์ใบลานและพับสาตลอดจนถึงเอกสารโบราณต่างๆ เพื่อทำการอนุรักษ์พร้อมกับจัดทำฐานข้อมูลสำเนาเอกสารดิจิทัลโบราณล้านนาเผยแพร่ในระบบออนไลน์ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กับศูนย์เผยแพร่ศิลปะแห่งชาติ อินทิรา คานธี เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๕ ณ ห้องรับรอง สถานกงสุลใหญ่อินเดียประจำจังหวัดเชียงใหม่.

ศอ.ปกป.ภาค 3 สน.ร่วมกับหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช หารือการวางกำลังลาดตระเวนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

ศอ.ปกป.ภาค 3 สน.ร่วมกับหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช หารือการวางกำลังลาดตระเวนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น.ที่ ศอ.ปกป.ภาค 3 สน. อ.แม่ริม พันเอก พงษ์ยุทธ งามเกษม รองหัวหน้าศูนย์ควบคุมอากาศยานและดับไฟป่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ( ศอ.ปกป.ภาค 3 สน.)ร่วมกับหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช หารือการวางกำลังลาดตระเวนเพื่อปฏิบัติงานด้านการลาดตระเวน เฝ้าระวังและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

สำหรับแนวทางดังกล่าวศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้าได้กำหนดให้มีการจัดชุดปฏิบัติการลาดตระวนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กจากหน่วยทหารของกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 13 หน่วย 208 ชุด ปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.- 31 พ.ค.2568 ตามพื้นที่ควบคุมไฟป่า 14 กลุ่มป่าซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 44,708,436 ไร่ ทั้งนี้จะมีการประกอบกำลังทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามการจัดชุดปฏิบัติการลาดตระวนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กในครั้งนี้สามารถปรับกำลังการปฏิบัติงานตามสถานการณ์ไฟป่าของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายควบคุมพิเศษ พื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำตลอดจนพื้นที่อุทยานที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศฯ เป็นต้น.