นอร์ทเทิร์นรีพอร์ต » อ่างห้วยแม่ฮ่องสอนระบายน้ำ เน้นบริหารสอดคล้องกับสถานการณ์ ใช้แนวทางตาม 10 มาตรการรับมือฝน 67

อ่างห้วยแม่ฮ่องสอนระบายน้ำ เน้นบริหารสอดคล้องกับสถานการณ์ ใช้แนวทางตาม 10 มาตรการรับมือฝน 67

24 กรกฎาคม 2024
69   0

Spread the love

รับลูก สนทช.เตือนฝนหนัก ชลประทานแม่ฮ่องสอนระบายน้ำจากอ่างห้วยแม่ฮ่องสอน 0.36 ลบ.ม.ต่อวินาที ยันไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ “ผคป.เกื้อกูล” เน้นการบริหารน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ก่อประโยชน์สูงสุด สอดรับนโยบายรัฐบาล และ รมว.เกษตรฯ

ตามประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2567 วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำจากข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี โดยในช่วงวันที่ 24 – 31 กรกฎาคม 2567 พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง และอำเภอสบเมย อยู่ในพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน

จากการแจ้งเตือนของ สนทช. นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน (ผคป.แม่ฮ่องสอน) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้ (วันที่ 24 ก.ค. 2567) อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ฮ่องสอนมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 858,950 ลบ.ม. คิดเป็น 97.5% ของความจุอ่าง ทางโครงการฯ ได้มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯ ในอัตรา 0.36 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 31,104 ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ไม่ให้เกินกว่าระดับเก็บกักน้ำที่ 881,000 ลบ.ม. โดยที่อัตราการระบายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนตามแนวลำน้ำห้วยแม่ฮ่องสอน บริเวณท้ายอ่างอีกทางจะเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ตามที่ สนทช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือน และจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง

ผคป.แม่ฮ่องสอน กล่าวต่อว่า โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างห้วยแม่ฮ่องสอนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ที่สำคัญได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 10 มาตรการ รับมือฤดูปี 2567 อย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล และ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์