เชียงใหม่รีพอร์ต » ขุดผีขึ้นจากหลุม “พนังคอนกรีตริมน้ำปิง” สุดๆ กรมโยธาฯ ส่งคนขู่ชาวบ้าน “ถ้า No โยกงบไปที่อื่น”

ขุดผีขึ้นจากหลุม “พนังคอนกรีตริมน้ำปิง” สุดๆ กรมโยธาฯ ส่งคนขู่ชาวบ้าน “ถ้า No โยกงบไปที่อื่น”

15 สิงหาคม 2024
267   0

Spread the love

สุดงงกรมโยธาธิการและผังเมือง ปลุกผีพนังคอนกรีตกั้นกันน้ำปิงหลากฝั่งตะวันออก ถามกันทั่วทั้งจังหวัดใครขอ เงียบ! ที่ปรึกษาโครงการสุดติ่ง นัดประชุมชาวบ้านวัดเกต มีแค่กระดาษ A4 แผ่นเดียว ต้อนชาวบ้านตอบแบบสอบถาม หนำซ้ำขู่ไม่เอาจะย้ายงบไปที่อื่น ผู้ทรงฯ คกก.ลุ่มน้ำปิงเผย โครงการมีมาครั้งเมื่อปี 2549 ชาวบ้านต้าน ไม่ตอบโจทย์ แก้น้ำท่วมไม่ได้ ชี้ผลเสียเยอะกว่าข้อดีมาก เชียงใหม่นานๆ ท่วมที ท่วมทีไม่กี่วัน ต้องปรับปรุงลำน้ำปิงเป็นทางออกที่ดีกว่าพนังคอนกรีต

วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ศาลาอเนกประสงค์วัดเกตการาม ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ กรมโยธาธิการและผังเมือง โดย บริษัท โปรเกรสเทคโนโลยีคอนซัลแท็นส์ จํากัด บริษัทที่ปรึกษาโครงการงานศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ระยะที่ 5 (พื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ (ฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง) และชุมชนต่อเนื่อง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งผู้แทนเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาฯ นำเอกสารขนาด A4 ภาพแสดงทางเลือกแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างคันป้องกันป้องกันน้ำท่วมกำแพงตัวแอบมีทางเดินเท้าหินเรียงหน้าคัน รูปแบบก่อสร้างคันป้องกันโดยการยกถนนเจริญราษฎร์และถนนเชียงใหม่-ลำพูน การปรับปรุงรางระบายน้ำเดิมริมถนนเลียบทางรถไฟ การก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย และการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมกับรูปภาพสถานที่ต่างๆ ตลอดแนวแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก รวมทั้งสิ้น 3 แผ่น A4 พร้อมด้วยแบบสอบถามความคิดเห็นและความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งมีความยาวกว่า 12 หน้า โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่มานั่งถามชาวบ้านและผู้ประกอบการย่ายชุมชนวัดเกต ซึ่งกำหนดไว้ 18 เครส

ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาฯ พูดในที่ประชุมประชาคม ว่า กรมโยธาธิการมีงบมาให้ทำการศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 5 พื้นที่ เมืองเชียงใหม่ และท่าวังตาล ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ถูกเลือกให้ดำเนินการ ช่วงนี้จะเป็นงานศึกษาจะมีระยะเวลา 500 กว่าวัน อย่างแรกต้องถามประชาชนในพื้นที่ในการที่มีโครงการดีๆ มาลงในพื้นที่ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ก็ต้องถามให้ชัดเจน ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้มีการแจ้งให้ทางเทศบาลแจ้งต่อประชาชน ชุมชน ให้รับทราบเกี่ยวกับโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ว่าจะมีการประชุมที่ไหนบ้างกี่ครั้ง วันนี้เป็นอีกวันที่ต้องมาถามประชาชน ก็จะเป็นการถามจากทางเลือกที่มีให้ว่าอยากได้หรือไม่ในทางเลือกที่มีการนำเสนอ อย่างการยกถนนเจริญราษฎร์อยากได้ที่ความสูงเท่าไรก็จะนำไปสู่การออกแบบ แล้วก็จะนำแบบกลับมาประชุมอีกครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน 2568 ซึ่งจะประชุมที่สำนักงานเทศบาล ซึ่งก็จะมีการถามอีกว่าอยากได้หรือไม่ หากไม่อยากได้ ก็จะได้ย้ายงบไปที่อื่น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกรมโยธาฯ ไม่ใช่จะมาถามแล้วจะทำจะทำด้านเดียว ซึ่งก็ต้องนำมาถามก่อน ซึ่งโครงการรัฐหากว่ามีคนไม่อยากได้แค่คนหรือสองคนก็เป็นว่าโครงการนั้นพับไปเลย

ในส่วนของประชาชนและผู้ประกอบการย่านชุมชนวัดเกตและชุมชนใกล้เคียงที่เข้าร่วมประชุมประชาชนคม ต่างมีความเห็นไม่ในทิศทางเดียวกันคือ ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างพนังคอนกรีตหรือยกระดับถนนเจริญราษฎร์ขึ้นเพื่อทำเป็นแนวกั้นน้ำหากแม่น้ำปิงหลาก โดยมีหลากหลายความเห็น อาทิ รูปแบบไม่ชัดเจน มีเพียงภาพไม่กี่ภาพแล้วจะนำมาให้ชาวบ้านเลือก ชาวบ้านจะเลือกได้อย่างไร กำแพง ระดับถนนที่ยกขึ้นจะสร้างทัศนอุจาดให้แก่เมืองเชียงใหม่ การทำพนังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เมื่อทำแล้วจะต้องยกระดับขึ้นไปอย่างไม่สิ้นสุดหากระดับน้ำในแม่น้ำปิงสูงเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างมีให้เห็นชัดที่กรุงเทพมหานครต้องเสริมตลิ่งขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตัวอย่างการตอบแบบสอบถามแค่ 18 เครสไม่ตอบโจทย์คนทั้งชุมชนได้ ประเด็นที่สำคัญที่ชาวบ้านตั้งข้อสังเกต โครงการนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งเมื่อหลายสิบปีก่อน หลังน้ำท่วมใหม่เมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2548 แล้วเกิดการต่อต้านอย่างมากจากคนในชุมชนเมืองเชียงใหม่ มีการขึ้นป้ายมากมายที่จะไม่เอาคลองส่งน้ำมาไว้กลางเมืองเชียงใหม่ จู่ๆ กรมโยธาธิการและผังเมืองก็มีโครงการนี้ลงมาในพื้นที่เชียงใหม่อีก ซึ่งจากการสอบถามหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏว่า ไม่มีหน่วยงานใดทั้งสิ้นที่ร้องขอให้มีโครงการ

ด้าน นายชูโชค อายุพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง แสดงความเห็นว่า เมื่อปี 2548 ได้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ครั้งใหญ่ ซึ่งหลังจากนั้นในปี 2549 ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เคยมีความพยายามมาแล้วครั้งหนึ่งที่จะผลักดันโครงการก่อสร้างพนังคอนกรีตริมแม่น้ำปิงช่วงไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อป้องกันน้ำท่วม อย่างไรก็ตามได้ถูกชุมชนและชาวเชียงใหม่ต่อต้านคัดค้านต้องล้มเลิกโครงการไปในที่สุด ขณะที่โดยส่วนตัวในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะดำเนินโครงการนี้ เพราะเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าโครงการดังกล่าวมีข้อดีเพียงอย่างเดียวคือ การป้องกันน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมได้ในระดับความสูงที่ออกแบบไว้ อย่างไรก็ตามกลับพบว่ามีข้อเสียหลายประการ เช่น ไม่สามารถป้องกันน้ำล้นตลิ่งได้มากกว่าที่ออกแบบไว้, ทำให้เกิดปัญหาแรงดันยกของน้ำ, กีดขวางทางระบายน้ำจากตัวเมืองและส่งผลกระทบต่ออาคารชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการขุดลอกและขนย้ายตะกอนในอนาคต ตลอดจนทำลายระบบนิเวศและทัศนียภาพที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ซึ่งหากสูญเสียไปแล้วจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้ และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แถมอาจเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้เห็นว่าปรากฏการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่อย่างรุนแรงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ และมักจะท่วมแค่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากกว่าเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานี้นั้น คือ ควรปรับปรุงสภาพลำน้ำของแม่น้ำปิงให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนภัยน่าจะดีกว่าการสร้างพนังคอนกรีตที่อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง