เชียงใหม่รีพอร์ต » กรมสุขภาพจิตเปิดศูนย์ปฏิบัติการเชิงรุกเยียวยาจิตใจประชาชนในสถานการณ์อุทกภัย พร้อมลงพื้นที่ติดตามกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด

กรมสุขภาพจิตเปิดศูนย์ปฏิบัติการเชิงรุกเยียวยาจิตใจประชาชนในสถานการณ์อุทกภัย พร้อมลงพื้นที่ติดตามกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด

17 กันยายน 2024
28   0

Spread the love

กรมสุขภาพจิตเปิดศูนย์ปฏิบัติการเชิงรุกเยียวยาจิตใจประชาชนในสถานการณ์อุทกภัย พร้อมลงพื้นที่ดำเนินงานตามนโยบาย ติดตามกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด

วันที่ 16 กันยายน 2567 กรมสุขภาพจิตเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินวิกฤตสุขภาพจิต ปฏิบัติการเชิงรุกเยียวยาจิตใจประชาชนในสถานการณ์อุทกภัย ตามข้อสั่งการปลัดกระทรวงสาธารณสุข การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สุขภาพจิตประชาชนอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขได้มีการมอบหมายให้ทุกภาคส่วนเปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติงานเชิงรุกดูแลสุขภาพจิตประชาชน โดยบูรณาการร่วมกับทีม MCATT ทุกในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 และขณะนี้ทีมได้ลงพื้นที่ ณ ศูนย์พักพิงในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ พบว่า จังหวัดเชียงรายยังคงเป็นพื้นที่ที่หลายภาคส่วนต้องระดมเข้าช่วยเหลือและวางแผนการเข้าเยียวยาจิตใจ


นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า ในการดำเนินการตั้งแต่การเตรียมการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วม จนถึงปัจจุบันสื่อมวลชนและภาคีเครือข่ายให้ความร่วมมือและประสานงานให้การช่วยเหลือในการให้ข้อมูล เป็นกลไกที่สำคัญที่ช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ และจัดการตนเองเบื้องต้น ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้จำนวนมาก โดยแผนการเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยสถานการณ์วิกฤต ขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนไว้ 4 ระยะ 1) ระยะเตรียมการ กรมสุขภาพจิตได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโดยกรมสุขภาพจิต พร้อมทั้งจัดตั้งทีมเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการ ทั้งหมด 7 ทีม และจัดทีมโลจิสติกส์เพื่อเตรียมถุงยังชีพ ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น พร้อมสนับสนุนทีมเยียวยาจิตใจของพื้นที่ในการรับมือและดูแลจิตใจเบื้องต้น 2) ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน ตั้งแต่การเกิดเหตุจนถึงระยะในช่วงสองสัปดาห์ จะมีการจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจให้การสนับสนุนระดับ

จังหวัดและระดับอำเภอ มุ่งคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจภาวะความเครียดในผู้ได้รับผลกระทบ ร่วมกับการจัดทำฐานข้อมูลของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางตรง การดูแลจิตใจของกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่ที่ทำกิน รวมไปถึงผู้สูงอายุเด็กและผู้ป่วยจิตเวช เน้นย้ำการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเดิมไม่ให้ขาดยา และจัดบริการส่งยาทางจิตเวชในพื้นที่ที่หน่วยบริการยังต้องทำการฟื้นฟู และที่สำคัญต้องดำเนินการจัดกิจกรรมบำบัดในกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้วย 3) ระยะหลังได้รับผลกระทบในช่วงสองสัปดาห์ถึงสามเดือน จะเป็นการดำเนินงานเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและทำร้ายตนเอง หรือโรคเครียดหลังเผชิญเหตุอันตราย (PTSD) โดยมีการเยี่ยมบ้าน เป้าหมายการดำเนินงาน 100% พร้อมทั้งส่งต่อผู้ที่อยู่ในกลุ่มสีแดงหรือสีส้มเข้าสู่ระบบการรักษา Service plan และเน้นย้ำการดูแลจิตใจป้องกันภาวะหมดไฟ (Burnout) 4) ระยะฟื้นฟู ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์สามเดือนขึ้นไปจะเป็นการติดตามเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตและวิกฤติสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายหรือภาวะเครียดหลังเผชิญเหตุอันตราย (PTSD) ในกลุ่มที่สูญเสียคนใกล้ชิด ทรัพย์สิน หรือที่อยู่อาศัย และจัดทำแผนร่วมกับพื้นที่เพื่อส่งเสริมการดำเนินการช่วยเหลือกันในระดับชุมชน สร้างวัคซีนใจในชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในการดูแลฟื้นฟูจิตใจ