ข่าวคุณภาพชีวิต » “เฉลิมชัย” มอบนโยบายแก้ปัญหาไฟป่า บูรณาการร่วมกันไม่ให้มีช่องว่าง

“เฉลิมชัย” มอบนโยบายแก้ปัญหาไฟป่า บูรณาการร่วมกันไม่ให้มีช่องว่าง

8 พฤศจิกายน 2024
270   0

Spread the love

“ดร.เฉลิมชัย” รมว.ทส. ซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ประจำปี 2568 เน้น “รวดเร็ว ตรงเป้า เข้าถึงพื้นที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด” มอบนโยบายสำคัญ “บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ชุมชน โดยไม่ให้มีช่องว่าง โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างจังหวัด”

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ประจำปี 2568 พร้อมด้วย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 3 ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นอกจากนี้ยังประชุมผ่านระบบออนไลน์ไปยังหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนด้วย

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะในปี 2568 ที่คาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการทำเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไร่และการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมที่จะมีหมอกควันและฝุ่นละออง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการจัดการกับปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สำหรับการประชุมในครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ PM2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทุกมิติ ทั้งการจัดการไฟในพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร ตลอดจนการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเมือง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2568” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ระดับภาค และระดับจังหวัด เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการในเรื่องนี้

ขณะที่การประชุมครั้งนี้ ดร.เฉลิมชัยฯ ได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวด้วยความ “รวดเร็ว ตรงเป้า เข้าถึงพื้นที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด” ประการแรก ขอให้ในทุกพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ติดต่อระหว่างจังหวัดต้องไม่มีช่องว่าเกิดขึ้น จะเกี่ยงกันไม่ได้ การทำงานข้ามจังหวัดก็ต้องทำงานร่วมกันให้ได้ ที่สำคัญจะทำงานลำพังเฉพาะหน่วยงานของรัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องทำงานร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่ ต้องทำความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ ทำงานต้องบุณาการกัน

“วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้ในการทำงาน รวมถึงงบประมาณ และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเสริมในการทำงาน อย่างเช่น โดรน ก็ต้องนำมาใช้ให้ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การยับยั้ง ใช้ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันเหตุอันไม่พึงประสงค์เกิดกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้ ย้ำว่าเรื่องงบประมาณไม่ใช้ปัญหา จะเป็นผู้ประสานมาให้กับทุกหน่วย” รมว.ทส. กล่าว

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวต่อว่า เรื่องการสื่อสาร การแจ้งเตือน เป็นอีกเรื่องที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งประเด็นของการสื่อสารคงมิใช่เฉพาะแค่เรื่องไฟป่า ฝุ่นควัน เท่านั้น แต่เป็นการสื่อสารในทุกภัยที่เกิดขึ้น การสร้างความเข้าใจในพื้นที่จะเกิดความร่วมมือเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้จะได้มีการประสานกับกระทรวงมหาดไทยในการขอความร่วมมือกับผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ขอให้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหากันอย่างเต็มที่ ปัญหาไฟป่ามาจากคน ก็ต้องใช้คนในการแก้ปัญหา

“ขอให้ทุกหน่วยดำเนินการให้เป็นรูปธรรม สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นให้ได้ในทุกพื้นที่ ก็ฝากทั้งกองทัพภาค ทั้งจังหวัด หากแต่อย่างแรกต้องหน่วยงานทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพย์ฯ ต้องเริ่มก่อนในการจะสร้างความร่วมมือกัน จากนั้นจะไปสู่การบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการทำให้สถานการณ์ไฟป่า ฝุ่นควัน ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งการมอบนโยบายวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ว่าจะพยายามมาลงพื้นที่อีก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาก็อาจจะไปเองโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าก็ได้”

ทั้งนี้แนวทางการจัดการปัญหาไฟป่า ฝุ่นควัน PM2.5 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทาง ดังนี้ การบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยง : ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบริหารจัดการแบบไร้รอยต่อ โดยมุ่งเน้นไปที่พื้นที่เสี่ยงเผาไหม้ขนาดใหญ่ 14 กลุ่มป่า (Cluster) ที่มีแนวโน้มเกิดไฟป่ามากที่สุด การติดตามสถานการณ์ : ให้มีการติดตามสถานการณ์จุดความร้อน และสนธิกำลังพลจากฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครองและเครือข่ายในการลาดตระเวนและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ขยายวงกว้าง การควบคุมการเข้าพื้นที่ : ต้องมีการควบคุมและจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการลักลอบเผาในพื้นที่ป่า การจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร : สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษในพื้นที่ จะต้องประสานงานกับจังหวัดในการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารสถานการณ์ : ต้องมีการสื่อสารแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นอย่างทั่วถึงและทันท่วงที เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสถานการณ์แก่ประชาชน การทำงานร่วมกับจังหวัด : ทุกหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องสนับสนุนการทำงานร่วมกับจังหวัดอย่างเต็มที่ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพสูงสุด การจัดสรรงบประมาณ : หากงบประมาณไม่เพียงพอให้เร่งขอรับการจัดสรรงบกลาง และสอบถามความต้องการของจังหวัดเพื่อประสานงานกับสำนักงบประมาณโดยด่วน

การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าในปี 2568 โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนให้ปลอดภัย ซึ่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าไม่สามารถทำได้เพียงแค่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนทั่วไป ด้วยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาไฟป่าและผลกระทบที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะการดำเนินงานตามมาตรการที่ได้มีการกำหนดไว้ เพื่อให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่ามีความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้