เชียงใหม่รีพอร์ต » สปสช. เยี่ยมติดตามคลินิกทันตกรรมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ จ.ลำพูน

สปสช. เยี่ยมติดตามคลินิกทันตกรรมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ จ.ลำพูน

22 พฤศจิกายน 2024
45   0

Spread the love

รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ เชียงใหม่-ลำพูน เยี่ยมติดตามการดำเนินการคลินิกทันตกรรมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567  ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วาน กรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ 11 และทพญ.ปาริชาติ ลุนทา  ผู้อำนวยการกลุ่ม สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ จ.ลำพูน ลงเยี่ยมชมคลินิกทันตกรรม ซี สไมล์พลัส คลินิกทันตกรรมเล็ทสไมล์ลำพูน คลินิกทันตกรรมสบาย สไมล์ และ คลินิกทันตกรรม พร้อมพลัส

โดยมีทพ.เอกรินทร์ พรมพฤกษ์ และทพ.เอกภาพ พัทยาวรรณ เจ้าของคลินิกทันตกรรม ซี -สไมล์ พลัส ที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว รวมทั้งรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ หลังจากที่คลินิกทันตกรรมเหล่านี้เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เฟส 2 และติดสติกเกอร์ โลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าคลินิกเหล่านี้เข้าร่วมเป็นหน่วยนวัตกรรมในระบบบัตรทองและสามารถมารับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ทพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ตามโครงการบัตรประชาชนใบเดียว 30 บาทรักษาทุกโรค โดยทันตแพทยสภามีการกำหนดมาตรฐนดูแล สำหรับทันตแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกคนต้องผ่านการอบรม 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหลักสูตรของทันตแพทยสภา ในส่วนของ คลินิกทันตแพทย์ที่เข้าร่วม ต้องได้มาตรฐาน หลักเกณณ์ ของทันตแพทยสภา เช่น 1. การควบคุมการติดเชื้อ 2. การบันทึกข้อมูลด้วยระบบคลาวด์ 3.มาตรฐานการสื่อสาร และ 4. มาตรฐานดูแลคนไข้

ทพ.เอกรินทร์ พรมพฤกษ์ เจ้าของคลินิกทันตกรรม ซี -สไมล์ พลัส จ.ลำพูน กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มาแล้ว 5เดือนพบว่ามีผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองเพิ่มขึ้นจากเดิม 25% ส่วนใหญ่จะเห็นจากการประชาสัมพันธ์ผ่านทางออนไลน์ Facebook ว่าประชาชนใช้สิทธิ์บัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องชำระเงิน ยังสะดวกรวดเร็วไม่ต้องรอนานเหมือนกับไปโรงพยาบาล อีกทั้งประชาชนที่รับบริการแม้ว่าสิทธิอยู่ต่างจังหวัดก็มารับบริการได้

“เรายังมีการจัดระบบคนไข้โดยให้เสียบบัตรประชาชนหากรอนานเกิน 30 นาทีก็จะมีการแจ้งเตือนอัตโนมัติหรือเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุย เพื่อให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายไม่เครียด ปัญหาอุปสรรคก็มีในช่วงแรกที่ยังไม่เข้าใจ ปัจจุบันปัญหาการเบิกชดเชยก็สามารถเครียร์ได้ภายใน2-3วัน ” ทพ.เอกรินทร์

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอย่างมาก แต่ยังมีสิ่งที่เป็นกังวลในอนาคตของการให้บริการทันตกรรม ประชาชนที่มีสิทธิ์ไปใช้สิทธิ์โรงพยาบาล ต้องรอคิวยาวนานบางครั้งทั้งวันหากเป็นหน่วยนวัตกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ฯประชาชนมารับบริการมากขึ้นอัตราเฉลี่ย 1.8 ครั้งต่อคนต่อปี จากเดิมประชาชนมารับบริการเพียงแค่ 1.4 ครั้งต่อคนต่อปีเท่านั้น

“ปัจจุบันหน่วยทันตกรรมเอกชนที่เป็นนวัตกรรมและเข้าร่วมโครงการฯ มีทั้งหมด 44 จังหวัด และมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร ส่วนจังหวัดลำพูนพบว่า มีการบริหารจัดการดีมากตอบโจทย์การให้บริการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีคลินิกทันตกรรมที่ขอเข้ารับโครงการติดต่อทุกวันถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี” รองเลขาธิการสปสช.กล่าว