เชียงใหม่รีพอร์ต » เชียงใหม่ขับเคลื่อนโครงการ “ป่าจุลินทรีย์” ลดการเผา ป้องกันฝุ่น PM 2.5

เชียงใหม่ขับเคลื่อนโครงการ “ป่าจุลินทรีย์” ลดการเผา ป้องกันฝุ่น PM 2.5

2 เมษายน 2025
39   0

Spread the love

ภาคเอกชนและนักวิชาการอิสระร่วมกันผลักดันโครงการ “ป่าจุลินทรีย์” ในพื้นที่ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อลดการเผาป่าและป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยนำชาวบ้านในพื้นที่ทำแนวกันไฟในป่าชุมชนกว่า 3,000 ไร่ เพื่อป้องกันไฟป่า และต่อยอดโครงการ “คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์” เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน ก่อนหน้านี้ ได้มีการอบรมตัวแทนชาวบ้านเกี่ยวกับการทำ EM จากจุลินทรีย์ และการเพาะเชื้อเห็ดป่าจากจุลินทรีย์ เพื่อนำไปหว่านฟื้นฟูสมดุลให้ป่า นอกจากนี้ ยังมีการฉีดพ่น EM น้ำเพื่อเร่งการย่อยสลายใบไม้ ลดเชื้อเพลิงในช่วงฤดูแล้ง

ณ สุสานบ้านป่าตึงน้อย หมู่ 1 ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวจันทร์จิรา จำปาอิน ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าตึงน้อย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) และทหารจิตอาสา ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลป่าป้อง และนายจิรศักดิ์ มีสัตว์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท กัลฟ์ ได้ร่วมกันทำแนวกันไฟป่าและฟื้นฟูสมดุลป่าด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่นำองค์ความรู้ด้านฐานชีวภาพและจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาอบรมแก่ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ตำบลป่าป้อง ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 3,000 ไร่ เพื่อลดปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM 2.5

นางสาวจันทร์จิรา จำปาอิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านป่าตึงน้อย กล่าวว่า ชุมชนให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างมาก เพราะป่าชุมชนเป็นแหล่งอาหาร ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัญหาไฟป่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งที่มีใบไม้แห้งจำนวนมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดไฟป่าและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยเหตุนี้ ชุมชนจึงรวมกลุ่มกันเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่า ทำแนวกันไฟเป็นประจำทุกปี อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายลดการเผาป่าและป้องกันไฟป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกันทำแนวกันไฟอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะฯ ของบริษัทเชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (CMWTE) และกลุ่มบริษัท กัลฟ์ (GULF) นำพนักงานและประสานกองกำลังทหาร มทบ. 33 มาร่วมทำแนวกันไฟป่า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังนำองค์ความรู้ด้านฐานชีวภาพและจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาอบรมแก่ผู้นำชุมชนในโครงการ “คืนสมดุลให้ป่าด้วยจุลินทรีย์” และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับฐานชีวภาพและระบบนิเวศ สามารถเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ เพื่อนำมาช่วยย่อยสลายใบไม้จากการทำแนวกันไฟ ลดการเป็นเชื้อเพลิงไฟป่า และเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ช่วยให้ดินมีชีวิตชีวา และเสริมสร้างการกระจายเชื้อจุลินทรีย์ในป่าที่เสื่อมโทรมจากการถูกไฟป่าหรือการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมฟื้นฟูป่าด้วยเชื้อราไมคอร์ไรซา หรือเชื้อเห็ดป่า เพื่อปลูกป่าเพิ่มเติมและฟื้นฟูสมดุลป่าในระยะต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ชุมชนมีโอกาสอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ชุมชนขอขอบคุณบริษัทฯ และทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป สำหรับบ้านป่าตึงน้อยเป็น 1 ใน 4 หมู่บ้านในตำบลป่าป้อง ที่มีพื้นที่ป่า 670 ไร่ ในวันนี้ ได้ทำแนวกันไฟป่าประจำปี ระยะทาง 6 กิโลเมตร ในป่าชุมชนและพื้นที่ป่าคาร์บอนเครดิตรวม 5 แปลง ป่าชุมชนบ้านป่าตึงน้อยมีความสมบูรณ์ มีต้นพะยูง ไม้แดง ไม้สัก และต้นยางนา เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านทุกฤดูกาล มีทั้งไข่มดแดง ผักหวาน ผักกรูด แมงมัน ผักพ่อค้าตีเมีย เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า และเห็ดระโงก ชาวบ้านสามารถเข้ามาเก็บไปบริโภคได้ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ไม่ต้องเผาป่า ก็มีผักหวานให้เก็บกิน

นายสมพงค์ เจริญศิริ กำนันตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาวมีพื้นที่ 2,307 ไร่ ชุมชนมีวิถีชีวิตที่อาศัยและพึ่งพาป่าชุมชนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ป่าไม้คือชีวิตของทุกคน ในช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาการทำลายป่าและความเสื่อมโทรม จึงรวมกลุ่มกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำแนวกันไฟป่าและการเฝ้าระวังการทำลายป่า จนสามารถขึ้นทะเบียนผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าชุมชนที่ดูแลโดยชุมชนได้ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน และอยู่ระหว่างการทำโครงการคาร์บอนเครดิต รวมถึงการทำแนวกันไฟป่าเป็นประจำทุกปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน ที่สำคัญคือการสนับสนุนจากบริษัทเชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด ที่นำองค์ความรู้ด้านฐานชีวภาพและจุลินทรีย์มาเสริมการดำเนินงานเชิงคุณภาพต่อระบบนิเวศ เพราะเดิมชุมชนมองเชิงกายภาพและปฏิบัติการบนพื้นดินเป็นหลัก ยังขาดความรู้เชิงชีวภาพ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบนิเวศ ทำให้ชุมชนเข้าใจมิติการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศป่าไม้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาป่าชุมชนเชิงชีวนิเวศน์ที่ยั่งยืนต่อไป

นายจิรศักดิ์ มีสัตว์ ผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มบริษัทกัลฟ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และมีนโยบายร่วมกับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน ป่าชุมชนเป็นแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การอาชีพ และแหล่งอาหารที่สำคัญ บริษัทฯ จึงอาสาเข้ามาสนับสนุนชุมชน รวมถึงการประสานองค์ความรู้จากนักวิชาการและหน่วยงานต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน บริษัทฯ ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน และยินดีสนับสนุนชุมชนต่อไป

ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน นักวิชาการอิสระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทกัลฟ์ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นโครงการเพื่อสังคม (CSR) เริ่มจากการทำแนวกันไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาวและบ้านป่าตึงน้อย ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนรวมกันประมาณ 3,700 ไร่ และอยู่ในกระบวนการป่าคาร์บอนเครดิต ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง จะนำองค์ความรู้จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับเชื้อเห็ด “ไมคอร์ไรซา” ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีความสำคัญต่อระบบเครือข่ายการเชื่อมโยงการเจริญเติบโตร่วมกันของรากพืชไม้ป่าและจุลินทรีย์ในดิน ช่วยการเจริญเติบโต สร้างภูมิคุ้มกันโรคพืช และสลายอินทรียวัตถุให้เป็นธาตุอาหารแก่พืช เชื้อราไมคอร์ไรซากับรากต้นไม้อาศัยอยู่ร่วมกันตลอดอายุขัยของพืช และเป็นต้นกำเนิดของเห็ดป่านานาชนิด เช่น เห็ดเผาะ เห็ดไคล เห็ดระโงก เห็ดตับเต่า และเห็ดโคนปลวก เป็นต้น ศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ได้วางแผนร่วมกับชุมชนในการนำเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซากลับคืนสู่ป่า เพาะเชื้อใส่ในกล้าไม้ปลูกเสริมในป่า และกระจายเชื้อเห็ดป่าสู่บริเวณรากต้นไม้ในป่า เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในผืนป่าเสื่อมโทรม นอกจากนี้ จะนำเมล็ดพันธุ์กล้าไม้ป่ามาแช่จุลินทรีย์เพิ่มอัตราการงอก และนำมาปั้นกับก้อนดินจุลินทรีย์และเชื้อเห็ด เพื่อกระจายสู่ป่าในช่วงฤดูฝน และมีแผนนำเชื้อเห็ดป่าต่างๆ ให้ชุมชนเพาะในป่าใกล้ชุมชนและสวนไร่นา เพื่อเป็นแหล่งอาหารประเภทเห็ดในชุมชนทดแทนการเผาป่า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไฟป่า แนวทางนี้จะช่วยลดปัญหาไฟป่าและผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ได้ ความสำคัญอยู่ที่ความรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะศูนย์เรียนรู้ฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ จะช่วยเสริมพลังให้มากยิ่งขึ้น โครงการนี้เป็นอีกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน อาศัยความร่วมมือและความมุ่งมั่นของชาวบ้านตำบลป่าป้อง ที่มีความตั้งใจป้องกันไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น ทหาร และภาคเอกชน เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ชุมชนและลดฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ป่าที่เสื่อมโทรมจากน้ำป่ากัดเซาะหรือไฟป่า ทำให้ป่าไม่เหมือนเดิม ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น มีเชื้อไมคอร์ไรซาขยายไปหลายกิโลเมตร หากต้นไม้ใหญ่ 1 ต้นตาย จะส่งผลเสียต่อต้นไม้อื่นๆ อีก 47 ต้น

ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชนทั้งสองหมู่บ้าน เป็นกิจกรรมต่อยอดจากโครงการ “คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์” เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน ก่อนหน้านี้ ได้อบรมตัวแทนชาวบ้านเกี่ยวกับจุลินทรีย์และความรู้ฐานชีวภาพ (Biobased) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบนิเวศ ให้ชุมชนเข้าใจความสัมพันธ์ของวัฏจักรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงการใช้จุลินทรีย์เพื่อสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการพัฒนาอาชีพ และอบรมการทำ EM จากจุลินทรีย์และการเพาะเชื้อเห็ดป่า เพื่อนำไปหว่านฟื้นฟูสมดุลป่าในป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว นอกจากนี้ ยังมีการฉีดพ่น EM น้ำเพื่อเร่งการย่อยสลายซากพืช ลดเชื้อเพลิงในช่วงฤดูแล้ง และชาวบ้านได้ตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเกิดจากภาวะเสียสมดุลของระบบนิเวศ จึงมีแนวคิดลดภาวะโลกร้อนและฟื้นฟูโลกด้วยระบบฐานชีวภาพ ซึ่งอธิบายการเสียสมดุลได้ดี จึงส่งเสริมยุทธศาสตร์นี้แก่ชุมชนในรูปแบบ “เมืองจุลินทรีย์” โดยนำองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์มาแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การเผาป่าเพื่อหาเห็ด หรือการเผาป่าเพื่อความสะดวกในการหาพืชพันธุ์ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ จุลินทรีย์เป็นกลไกวัฏจักรของระบบนิเวศที่จะเร่งการย่อยสลายเศษใบไม้และอินทรียวัตถุจากภาคการเกษตรและเศษอาหาร ให้กลายเป็นปุ๋ย EM และจุลินทรีย์ที่ใช้ในการฟื้นฟูป่า จุลินทรีย์เป็นตัวกระตุ้นการทำงานของต้นไม้ ระบบนิเวศ และอุณหภูมิ ฟื้นฟูดินให้มีชีวิต เมื่อดินดี ต้นไม้และป่าก็มีชีวิตชีวา