ข่าวคุณภาพชีวิต » ชาวบ้านนำวัสดุรีไซเคิ่ลถวายเป็นสังฆทานรับเข้าพรรษา วัดพระนอนขอนม่วง

ชาวบ้านนำวัสดุรีไซเคิ่ลถวายเป็นสังฆทานรับเข้าพรรษา วัดพระนอนขอนม่วง

19 กรกฎาคม 2024
221   0

Spread the love

แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ชาวบ้านตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม หอบขยะถวายเป็นสังฆทานรับเข้าพรรษา เจ้าอาวาสวัดพระนอนขอนม่วง ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม นำมารีไซเคิลเปลี่ยนถุงพลาสติกไร้ค่าเปลี่ยนให้เป็นน้ำมันดีเซล กลายเป็นพลังงานหมุนเวียนนำไปใช้ในวัดและใช้เป็นเชื้อเพลิงในการฌาปนกิจ

ใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ประชาชนเริ่มเข้าวัดทำบุญสืบสานประเพณี ที่วัดพระนอน ( ขอนม่วง ) ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ศรัทธาชาวบ้านพากันเข้าวัดถวายสังฆทาน แต่การถวายสังฆทานของชาวบ้านที่นี่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครเพราะทั้งหมดเป็นขยะพลาสติกที่ถูกเก็บมาจากครัวเรือนและตามพื้นที่ชุมชนมาให้ทางวัดได้ใช้ประโยชน์ โดยมีพระประสิทธิ์ กิตติญาโณ เจ้าอาวาสรับสังฆทานและให้ศีลให้พรปะพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล

โดยสังฆทานขยะทั้งหมดทางวัดจะเก็บรวบรวมนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นน้ำมันดีเซล กลายเป็นพลังงานหมุนเวียนนำไปใช้ในวัดและใช้เป็นเชื้อเพลิงในการฌาปนกิจลดค่าใช้จ่ายให้กับญาติโยม ถือเป็นการลดปริมาณขยะล้นชุมชนและเป็นการกำจัดโดยไม่ต้องฝังกลบ ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้กับคนในชุมชนไปพร้อมกัน

พระประสิทธิ์ กิตติญาโณ เจ้าอาวาสวัดพระนอน ( ขอนม่วง ) พาทีมข่าวไปดูการเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นน้ำมัน โดยกระบวนการไม่ซับซ้อน เพียงแค่น้ำขยะพลาสติกใส่ลงไปในดังที่จะทำการเผาไหม้และในอุณหภูมิ 200-300 องศาเซลเซียส จากนั้นพลาสติกจะกลายเป็นของเหลว ส่งไอระเหยเข้าไปยังหอควบแน่นที่จะมีการคัดแยกน้ำหนักของไอระเหย กลายเป็นน้ำมันดีเซล เบนซิน น้ำมันก๊าด และ ก๊าซชีวภาพ โดยไอระเหยการหลอมพลาสติกหนึ่งครั้ง จะได้น้ำมันดีเซลร้อยละ 90 น้ำมันเบนซินประมาณร้อยละ 4 , น้ำมันก๊าดประมาณร้อยละ 4 ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์จะกลายเป็นก๊าซชีวภาพ

ด้าน พระประสิทธิ์ บอกว่า ในแต่ละปีทางวัดมีงานบุญหลายงาน การออกโรงทานแต่ละครั้งมีขยะจากพลาสติกจำนวนมาก ทางวัดจึงมีแนวคิดในการกำจัดขยะโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้พระเณรและชาวบ้านจิตอาสาช่วยกันคัดแยกขยะพลาสติก นำไปอัดส่งขายให้กับโรงงานรับซื้อ แม้จะขายได้ราคาไม่มาก แต่เป้าหมายคือลดปริมาณขยะของวัดและชุมชน

ต่อมาได้มีตัวแทนชาวบ้านเสนอให้นำขยะมาผ่านกระบวนการเปลี่ยนให้เป็นน้ำมันดีเซล จึงมองว่าเป็นแนวคิดที่เกิดประโยชน์จึงลองศึกษาดู เมื่อเห็นว่าทำได้จริงจึงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องหลอมและอุปกรณ์ทั้งหมดมาจากอาจารย์พยัคฆ์ จวนตรง ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในงบประมาณ 20,000 บาท มาใช้ที่วัด ปรากฏว่าได้ผลดี น้ำมันที่มาจากพลาสติกทดลองแล้วว่าติดไฟได้เป็นอย่างดี โดยทางวัดได้รณรงค์ให้ชาวบ้านคัดแยกและนำขยะพลาสติกมาถวายวัด ส่วนใครจะมาถวายเป็นสังฆทานทางวัดก็ยินดี ซึ่งในตอนนี้ได้รับการตอบรับดี ประชาชนเริ่มตระหนักและพากันนำขยะพลาสติกมาให้กับทางวัด โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษานี้ มีชาวบ้านทยอยนำมาถวายเป็นสังฆทานมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับน้ำมันดีเซลที่ได้มา ในเบื้องต้นจะนำไปใช้ประโยชน์ภายในวัด เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงกับเครื่องตัดหญ้า ใช้เป็นน้ำมันตะเกียงในงานพิธีต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการฌาปนกิจศพซึ่งเป็นการช่วยญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ประหยัดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง

ขณะที่นายรณกร บวรเลิศศักดา ที่ปรึกษาในโครงการนี้ บอกว่า ขยะพลาสติกประมาณ 1 กิโลกรัม จะรีไซเคิลเป็นน้ำมันดีเซลเฉลี่ยประมาณ 0.5 ลิตร- 0.8 ลิตร ถือเป็นโครงการนำร่องวัดแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ในการลดปริมาณขยะ หลังจากนี้จะมีการต่อยอดแนวคิดนี้ไปยังวัดอื่น ๆ ทั้งในตำบลดอนแก้วและในตำบลอื่นๆ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะให้ได้มากที่สุด

ด้านนายนิพนธ์ สุวรรณรังสี ชาวบ้านในชุมชน กล่าวว่า แม้จะเป็นโครงการเล็ก ๆ แต่กระบวนการที่ชาวบ้านได้เห็นด้วยตาตัวเอง ทำให้ชาวบ้านเริ่มเกิดความตระหนักในเรื่องของปัญหาขยะ เมื่อก่อนจะมองว่าขยะเป็นภาระ แต่เมื่อเห็นว่ามันกลับมาสร้างประโยชน์ได้ก็เริ่มพากันเก็บและคัดแยกนำมาถวายให้วัด ที่สำคัญคือวัดที่เป็นจุดศูนย์รวมของชาวบ้านจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนต่อไป