ข่าวคุณภาพชีวิต » นาไหนเผาไม่ให้น้ำ ชลประทานแจ้งคาดโทษพื้นที่เกษตรมีเผา ปจ.เชียงใหม่สั่งเร่งสำรวจข้อมูล

นาไหนเผาไม่ให้น้ำ ชลประทานแจ้งคาดโทษพื้นที่เกษตรมีเผา ปจ.เชียงใหม่สั่งเร่งสำรวจข้อมูล

9 มกราคม 2025
27   0

Spread the love

เชียงใหม่ เร่งหารือแนวทางการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ด้านชลประทาน ไม่ปล่อยน้ำให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำหากมีการเผาในพื้นที่การเกษตร ปจ.เชียงใหม่สั่งเร่งสำรวจพื้นที่การเกษตร พื้นที่พร้อมไถกลบ ย้ำให้ได้ตัวเลขที่แน่ชัด

วันที่ 8 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา นายชัยณรงค์ นันตาสาย ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางณัฐธัญ กาหลง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ , นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ , นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ , สำนกังานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่จำนวน 14,022,546 ไร่ เป็นพื้นที่ป่า จำนวน 9,614,645 ไร่ คิดเป็น 68.57 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่การเกษตร จำนวน 3,449,428 ไร่ คิดเป็น 24.60 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ จำนวน 958,473 ไร่ คิดเป็น 6.83 เปอร์เซ็นต์

การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ปี 2568 โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 (ฤดูฝน) ปีการผลิต 2567/68 (คาดการณ์) จำนวน 256,967 ไร่ เป็นพื้นที่ราบ 24,671 ไร่ คิดเป็น 9.6 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ลาดชัน 232,293 ไร่ คิดเป็น 90.4 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเฉลี่ย จำนวน 950 กิโลกรัมต่อไร่ อำเภอที่ปลูกมาก ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม, เชียงดาว, แม่อาย, เวียงแหง (ตามลำดับ) ปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จำนวน 698,085.53 ตัน สำหรับพื้นที่ผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 (รวมข้าวไร่) จำนวน 507,131.75 ไร่ เป็นพื้นที่ราบ 323,029 ไร่ คิดเป็น 63.7 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ลาดชัน 184,103 ไร่ คิดเป็น 36.3 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเฉลี่ย จำนวน 618 กิโลกรัมต่อไร่ อำเภอที่ปลูกมาก ได้แก่ อำเภออมก๋อย, แม่อาย, แม่แจ่ม, เชียงดาว และพร้าว (ตามลำดับ) ปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จำนวน 153,569.64 ตัน ส่วนพื้นที่ผลิตลำไย ปีการผลิต 2567 จำนวน 448,291 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย จำนวน 952 กิโลกรัมต่อไร่ อำเภอที่ปลูกมาก ได้แก่ อำเภอจอมทอง, พร้าว, ดอยเต่า, เชียงดาว และสันป่าตอง (ตามลำดับ) ปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จำนวน 224,145.50 ตัน พื้นที่ปลูกมะม่วง ปีการผลิต 2567 จำนวน 71,947 ไร่ ผลผลิตรวม จำนวน 73,520 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย จำนวน 1,057 กิโลกรัมต่อไร่ อำเภอที่ปลูกมาก ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม, เชียงดาว, แม่อาย และเวียงแหง (ตามลำดับ) ปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จำนวน 35,973.50 ตัน รวมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในภาพรวมทั้งจังหวัด 1,111,774.17 ตัน

นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ รายงานในที่ประชุมว่า ในส่วนของชลประทาน ได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า หากมีการเผาในพื้นที่การเกษตรก็จะไม่มีการส่งน้ำให้ ตั้งแต่ก่อนช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งพื้นที่ของชลประทานทั้งจังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งหมด 980,000 ไร่ คิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตร และ 2 ล้านกว่าไร่ อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน

ด้าน นายชัยณรงค์ นันตาสาย ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งให้กับที่ประชุมเพื่อดำเนินการเร่งด่วน ในการสำรวจพื้นที่การเกษตรให้แน่ชัด รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าด้วย ว่ามีทั้งหมดกี่ไร เป็นพืชชนิดไหนบ้าง รวมทั้งพื้นที่ฝังกลบมีจำนวนกี่ไร่ จุดที่จะทำการฝังกลบต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นของชลประทาน เพื่อให้ทราบตัวเลขที่แน่ชัดในแต่ละพื้นที่ ที่จะนำมาบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนที่ทางการเกษตรที่ไม่สามารถฝังกลบได้ ก็ให้แต่ละอำเภอรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเพื่อส่งให้กับสำนักงานเกษตรฯ ที่จะดำเนินการตามนโยบายในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่จะลดการเผา ซึ่งให้ทุกอำเภอเร่งดำเนินการสำรวจข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ ที่ 10 ม.ค. 68 นี้ เพื่อดำเนินการวางแผนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป