ชลประทาน ต้อนรับเจ้าหน้าที่ สสน. ประชุมการพัฒนาระบบคาดการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศไทยและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ที่ผ่านมา เตรียมประสานความร่วมมือกับมหาลัยในพื้นที่ และอาจใช้ AI เข้ามาช่วยพัฒนาระบบให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ด้านบริหารจัดการน้ำและป้องกันอุทภกัยเมืองเชียงใหม่ในอนาคต
วันที่ 12 ธ.ค. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ได้เดินทางมามาประชุมการพัฒนาระบบคาดการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศไทย การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือในสภาวะปกติ และภาวะวิกฤติ ณ ห้องประชุมริมน้ำ (อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง) โครงการชลประทานเชียงใหม่
ทั้งนี้ ในที่ประชุม นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้แจ้งต่อคณะผู้เข้าร่วมประชุมว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจุดสำคัญอยู่ที่การวัดค่าการไหลของน้ำในบางพื้นที่ยังไม่แม่นยำ และบางพื้นที่ไม่มีจุดวัด เช่นที่อำเภอเวียงแหง จุดวัดน้ำในแม่น้ำแตง รวมถึงฝั่งตะวันออก ที่มาจากเขื่อนแม่งัด รวมถึงฝั่งอำเภอสันทราย ประกอบกับจุดวัดน้ำในลำน้ำปิงที่ P.20 ซึ่งอยู่ที่ต้นน้ำ เมื่อน้ำไหลมาตามลำน้ำแม่ปิง จะมีลักษณะเป็นเหมือนกับอ่างน้ำขนาดใหญ่มวลน้ำก้อนใหญ่ ก่อนที่จะไหลมาที่บ้านแม่นะ อำเภอเชียงดาว ซึ่งเป็นหน่วยจัดการต้นน้ำ หากมีจุดวัดตรงบริเวณดังกล่าวเพิ่มก็จะทำให้การคาดการณ์เรื่องอัตราการไหลของน้ำในลำน้ำแม่ปิง แม่นยำมากยิ่งขึ้น
นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้บรรยายสรุปในที่ประชุม ถึงมาตรการรับมือในช่วงสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นท่วมตั้งแต่ในพื้นที่ อ.ฝาง และ อ.แม่อาย จากนั้นก็ได้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่ และอำเภอรอบนอกทั้ง 2 รอบ ซึ่งได้มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ การวิเคราะห์สถานการณ์น้ำแบบรายชั่วโมง การทำแผนที่ One Map โซนพื้นที่น้ำท่วมในการบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย การส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจวัดปริมาณน้ำเป็นประจำทุกวันตามจุดต่างๆ เพื่อทราบปริมาณน้ำ การนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยมีน้ำท่วมขัง ทั้งในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และต่อเนื่องไปยังจังหวัดลำพูน ซึ่งน้ำแม่ปิงได้ผ่านเข้าทางอำเภอสารภี และเข้าไปในเขตพื้นที่จังหวัดลำพูนด้วย หลังจากผ่านพ้นวิกฤติและกลับเข้าสู่การฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ก็ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่และรถน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าช่วยฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ และการถอดบทเรียนร่วมกับทางจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้สรุปมาตรการ 4 มาตรการทั้งด้านการพยากรณ์และการคาดการณ์ ด้านการรับรู้ความเสี่ยงของพื้นที่ ด้านการเตรียมความพร้อม การช่วยเหลือ และด้านการประชาสัมพันธ์
รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แผนที่น้ำท่วมตามโมเดลของ สสน. ยังไม่สอดคล้องกับบริบทหรือพื้นที่จริงของแต่ละพื้นที่ จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับว่า เป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน แม้ว่าที่ผ่านมาทางชลประทานได้ทำงานด้านลุ่มน้ำปิงมานานแล้ว ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แต่ ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงของลำน้ำปิง ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการดำเนินการเตรียมขุดลอกแม่น้ำปิง และฝายหินทิ้ง 3 ฝาย หากมีการปรับแล้ว จากระดับน้ำที่เคยสูงไปถึง 4 เมตร อาจจะขึ้นไปไม่ถึงจุดดังกล่าว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำที่เปลี่ยนไป และการวัดอัตราการไหลของน้ำที่ยังไม่มีความแม่นยำ ซึ่งต้องยอมรับในจุดนี้ เนื่องจากบางจุดต้องมีการเพิ่มเติมเรื่องอุปกรณ์ในการติดตั้งให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ในการคาดการณ์ของสถานการณ์น้ำ
ในขณะที่ สสน. ด้านให้ข้อมูลในที่ประชุมว่า ทาง สสน. ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันการดำเนินงานยังมีอยู่แต่ในส่วนกลาง ไม่มีการขยายออกมาอยู่ในส่วนภูมิภาค แต่ก็มีแนวคิดในด้านการทำสถานีหลักขึ้นมาในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ทั้งแม่น้ำกก จ.เชียงราย และแม่น้ำปิง ที่เป็นแม่น้ำสายสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ จากการรับฟังรายงานข้อมูลด้านสถานการณ์น้ำท่วมและการป้องกันน้ำท่วมของจังหวัดเชียงใหม่ ทาง สสน. ก็วางาแผนว่า ในอนาคตจะต้องมีการประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การจัดทำระบบการคาดการณ์การสถานการณ์น้ำต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีการทำระบบใหม่ทั้งหมด แต่นำของเดิมที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและความละเอียดแม่นยำมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปกรณ์ต่างๆ หรือการนำ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ การตรวจวัด โดยจะมีทุกฝ่ายเข้ามาร่วมหารือแนวทางร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น สสน. ชลประทาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้การคาดการณ์การน้ำท่าและระดับน้ำที่มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นในอนาคต ที่จะมาช่วยในด้านการบริหารจัดการน้ำและการป้องกันปัญหาด้านอุทกภัย