UOB จัดกิจกรรมมอบรางวัลผลงานจิตรกรรมสะท้อนวาระซ่อนเร้นของคนในสังคม คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประเทศไทย ประจำปี 2567

UOB จัดกิจกรรมมอบรางวัลผลงานจิตรกรรมสะท้อนวาระซ่อนเร้นของคนในสังคม คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประเทศไทย ประจำปี 2567

กรุงเทพ, 15 ตุลาคม 2567 – ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย มอบรางวัลชนะเลิศการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2567 แก่นายสุกิจ ชูศรี จากผลงานชื่อ “พราง” ซึ่งใช้เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าใบ ผลงานชิ้นนี้สื่อสารผ่านสัญลักษณ์ อาทิ ดอกไม้ เสื้อผ้าที่ภูมิฐาน และแมลงวัน เพื่อตีแผ่เจตนาแอบแฝงและวิพากษ์พฤติกรรมของมนุษย์ที่ซ่อนเร้นภายใต้ภาพลักษณ์ที่น่านับถือ

นายสุกิจ อายุ 47 ปี นับเป็นศิลปินคนแรกที่ชนะเลิศการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ในประเทศไทยถึงสองครั้ง ซึ่งในครั้งแรกที่เขารับรางวัล ก็สามารถคว้ารางวัลจิตรกรรมยูโอบีชนะเลิศระดับภูมิภาค UOB Southeast Asian Painting of the Year ปี 2560 อันทรงเกียรติได้อีกด้วย

นายสุกิจ กล่าวว่า “สังคมของเราเต็มไปด้วยผู้คนที่อาจซ่อนเจตนาที่แท้จริงไว้เบื้องหลังรูปลักษณ์ภายนอก ผมหวังว่า ผลงานศิลปะของผมจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมได้ไตร่ตรองมากกว่าจะหลงเชื่อแค่สิ่งที่เห็นเพียงผิวเผิน การได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นครั้งที่สอง นับเป็นความฝันที่เป็นจริง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินชาวอินโดนีเซียที่เคยทำสำเร็จมาก่อน”

นายริชาร์ด มาโลนี่ย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับคุณสุกิจที่คว้ารางวัลจากเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบีได้เป็นครั้งที่สอง ผลงานศิลปะที่กระตุ้นให้คิดของศิลปินทำให้ผู้ชมต้องย้อนมองกลับไปยังการกระทำและเจนตนาของตัวเอง ชวนให้เกิดการใคร่ครวญภายในซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ผ่านศิลปะเท่านั้น ธนาคารยูโอบี เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพราะเราเชื่อว่า ศิลปะมีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจ ปรับมุมมอง ในขณะเดียวกันก็สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาต่างๆ ในสังคม”

“การประกวดจิตรกรรมยูโอบี นับเป็นความมุ่งมั่นระยะยาวของเราในการสนับสนุนวงการศิลปะ เพราะนอกเหนือจากยกระดับศิลปินรายบุคคลแล้ว เวทีการประกวดของเรายังช่วยสร้างระบบนิเวศทางศิลปะที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาค การที่มีเวทีระดับนานาชาติให้ศิลปินอาชีพและศิลปินใหม่ได้แสดงศักยภาพ ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างโอกาสให้ผลงานของพวกเขาออกสู่สายตาชาวโลกได้อย่างกว้างขวางแล้ว ยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกด้วย”

การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 15 ประจำปี 2567 ได้รับการตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติปี 2563 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม-สื่อผสม) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิเมืองเก่าสงขลา และสมาชิกและเลขานุการของคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร ศิลปินแห่งชาติปี 2565 สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) และนายธวัชชัย สมคง ผู้ก่อตั้งและประธาน MATDOT Art Centre พื้นที่ทางศิลปะที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน

คณะกรรมการตัดสินชื่นชมความสามารถของนายสุกิจในการใช้สัญลักษณ์เพื่อวิพากษ์พฤติกรรมในสังคม โดยยกย่องทั้งความลึกซึ้งของแนวคิด และความเชี่ยวชาญทางเทคนิคศิลปะในผลงานของเขา

ในการคว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทศิลปินอาชีพ จากการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2567 นายสุกิจ ชูศรี ได้รับเงินรางวัล 750,000 บาท และผลงานชิ้นนี้จะไปแข่งขันกับผลงานชนะเลิศการประกวดจิตรกรรมยูโอบี (UOB POY) จากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ในเวทีระดับภูมิภาค UOB Southeast Asian Painting of the Year ประจำปี 2567 และโอกาสที่จะได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเป็นศิลปินในพำนัก (artist in residence) เป็นเวลา 1 เดือน

ในประเภทศิลปินใหม่หรือศิลปินสมัครเล่น นางสาวพัฒน์นรี บุญมี อายุ 21 ปี คว้ารางวัล Most Promising Artist of the Year จากผลงานชื่อ “สังคมเชิงลบ” ซึ่งนำเสนอผลกระทบทางจิตใจจากการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech)

นางสาวพัฒน์นรี กล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเดินทางบนเส้นทางศิลปะในอนาคตของดิฉัน ผลงาน “สังคมเชิงลบ” สะท้อนปัญหาในเชิงลึกของการใช้คำพูดที่เกลียดชังทำร้ายจิตใจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกมองข้าม ดิฉันหวังว่า ผลงานชิ้นนี้จะเป็นเสียงที่ช่วยสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงของคำพูดและการกระทำที่สามารถนำไปสู่ความทุกข์ใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาว

ในฐานะศิลปิน เราสามารถช่วยสังคมสะท้อนปัญหาและกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักรู้ ดังนั้น ดิฉันจึงหวังว่า ผลงานของดิฉันจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นตระหนักถึงความสำคัญของการเห็นอกเห็นใจและการสื่อสาร รวมถึงการยอมรับความหลากหลาย การได้รับรางวัลนี้ ช่วยเปิดโอกาสให้ฉันสร้างสรรค์งานศิลปะที่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”

นิทรรศการแสดงผลงานผู้ชนะการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2567 (ประเทศไทย)
ผลงานจิตรกรรมที่ชนะการประกวด ทั้งประเภทศิลปินอาชีพและศิลปินใหม่ จะถูกจัดแสดงตามวัน เวลา และสถานที่ต่อไปนี้ โดยไม่เสียค่าเข้าชม

สถานที่จัดแสดง
ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) วันที่ 16 – 27 ตุลาคม 2567
ชั้น 1 ยูโอบี พลาซา กรุงเทพ วันที่ 28 ตุลาคม – 22 ธันวาคม 2567
ชั้น 1 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน วันที่ 24 ธันวาคม 2567 – 19 มกราคม 2568

การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2567 (UOB Painting of the Year) ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของการประกวดผลงานจิตรกรรมประจำปีของกลุ่มธนาคารยูโอบี ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2525 โดยธนาคารยูโอบีมุ่งค้นหาและสนับสนุนศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันทรงคุณค่าในภูมิภาค นับเป็นการประกวดผลงานศิลปะที่ยาวนานที่สุดในประเทศสิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในการประกวดที่ทรงเกียรติที่สุดเวทีหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ยืนยันฝายดอยน้อยไม่ส่งผลทำให้น้ำท่วมเชียงใหม่รอบสอง ชี้สลิงขาดทำน้ำยกตัว น้ำระบายผ่านฝายได้เป็นปกติ

ยืนยันฝายดอยน้อยไม่ส่งผลทำให้น้ำท่วมเชียงใหม่รอบสอง ชี้สลิงขาดทำน้ำยกตัว 80 ซม. น้ำเท้อไม่ถึงฝายหนองสลีกที่อยู่ตอนเหนือห่างขึ้นไป 15 กม. น้ำระบายผ่านฝายได้เป็นปกติ น้ำที่ยกตัวล้นคันหลากท่วมตำบลน้ำดิบ อ.ป่าซาง ขณะนี้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ต.ค. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายวิสูตร จันทร์เขียว หัวหน้าฝ่ายช่างกล นายรังสรรค์ บุญยสิงห์ กำนันตำบลน้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และ นายณรงค์ วงศ์จันทร์ทิพย์ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ฝายดอยน้อย ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามการจัดการเศษสวะ กิ่งไม้ที่ลอยมาติดฝายเป็นจำนวนมาก ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่รอบแรก พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการ โดยใช้รถแบ็คโฮแขนยาว ทำการตักเศษขยะ เศษวัชพืช กิ่งไม้ขนาดใหญ่ออกจากฝาย ในขณะที่มวลน้ำยังไหลผ่านฝายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า จากฝนตกหนักของพายุ “ซูริก” ในช่วงต้นเดือนและปลายเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทางฝายดอยน้อยได้ระบายน้ำออกไปทางปลายน้ำ และมีการกำจัดเศษสวะ พบว่าได้มีท่อนซุงเข้ามาชนสายสลิงที่อยู่ด้านหน้าบานระบายของฝายดอยน้อย ทำให้สลิงขาด และเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องแต่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนด้วยการนำสลิงที่ขาดมาเกี่ยวกับหูบานด้านหลังของประตูระบายน้ำ เพื่อให้บานระบายยกได้ สลิงที่ขาดมีจำนวน 5 บาน ซึ่งยกบานขึ้นได้ที่ 2.5 – 3 เมตร มีอีกบานที่สลิงไม่ขาดก็สามารถยกได้เต็ม 6 เมตร

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสลิงขาด ฝายยังสามารถระบายน้ำได้ โดยอัตราการไหลของมวลน้ำที่ผ่านฝายระบายน้ำดอยน้อยก็ยังอยู่ในระดับอัตราการไหล เนื่องจากมวลน้ำก็ยังเคลื่อนที่ผ่านได้เท่าเดิม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือปรากฎการณ์ โช็คเอฟเฟค “Chook Effect” คือ น้ำด้านหน้าฝายจะยกตัวสูงขึ้น ซึ่งจากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 ปริมาณน้ำด้านหน้าฝายจะยกตัวสูงขึ้นกว่าปกติประมาณ 80 เซนติเมตร ทำให้น้ำไปล้นคันด้านหน้าของฝายดอยน้อยและเข้าไปในพื้นที่บ้านท่าไม้ ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งน้ำที่ล้นคันไปนั้นจะเข้าสู่ทางผันน้ำเดิม โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้พื้นที่การเกษตรบางส่วนมีน้ำไหลผ่าน ปัจจุบันน้ำที่ได้ล้นคันไปแล้วก็ได้กลับลงสู่แม่น้ำปิงตามปกติ ส่วนคันกั้นน้ำก็ยังได้รับความเสียหายอยู่ จำเป็นต้องซ่อมแซมต่อไปในอนาคต

“ยืนยันประตูระบายน้ำยังยกขึ้นลงได้ ไม่มีผลต่อการระบายน้ำ ส่วนเรื่องขยะ เศษสวะ กิ่งไม้ที่มาติดที่ฝายดอยน้อยขณะนี้ มีผลกระทบน้อย แต่หากมาติดที่ด้านหน้าฝาย ก็จะทำให้การยกตัวของน้ำเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ในส่วนนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และท่านอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ทำการตักขยะออกตลอด ทำทุกวัน โดยใช้รถแบ็คโฮ แขนยาว จำนวน 2 คัน และมีรถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วย ร่วมกับรถของชลประทาน เป็นรถดั๊มพ์ที่จะเอาเศษขยะ เศษสวะ กิ่งไม้ นำไปทิ้ง ซึ่งในวันนี้ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเที่ยง” นายเกื้อกูลฯ กล่าว

ด้าน นายรังสรรค์ บุญยสิงห์ กำนันตำบลน้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบประมาณ 5 หมู่บ้าน 40 กว่าครัวเรือน น้ำมาเร็วและลดเร็ว น้ำท่วมประมาณ 12 ชั่วโมง ปัจจุบันน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และน้ำก็ข้ามฝายไปแล้ว เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับพื้นที่การเกษตรเป็นสวนลำไย นาข้าว ก็มีน้ำท่วมขังไม่สูง ยังไม่ได้รับความเสียหายมาก เพราะน้ำมาเร็ว ลดเร็ว

ชาวบ้านท้ายเขื่อนแม่งัด โล่งใจ หลังชลประทานเปิดประตูเร่งระบายน้ำ ป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

เชียงใหม่ ชาวบ้านท้ายเขื่อนแม่งัด เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลังเปิดประตูระบายน้ำ โล่งใจ หลังชลประทานเปิดประตูเร่งระบายน้ำ ป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

หลังจากที่ชาวบ้านท้ายเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และความกังวลเกี่ยวกับปริมาณ น้ำในเขื่อนที่ล้นสปริลเวย์ ล่าสุด กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำในเขื่อนลง

นายจรัส ไชยยา ประธานศูนย์ประสานงานความเดือดร้อนของประชาชนท้ายเขื่อน กล่าวว่า ชาวบ้านต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังจากได้รับแจ้งว่าชลประทานจะเริ่มปล่อยน้ำตั้งแต่เวลา 07.00 น.วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำล้นเขื่อนและส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านท้ายเขื่อน ทั้ง 4 ตำบล

ทางด้านนายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล ได้ชี้แจงว่า การระบายน้ำในครั้งนี้จะดำเนินการอย่างมีระบบและคำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ โดยความคืบหน้าในช่วงเช้าของวันนี้ทางเขื่อนได้ระบายน้ำผ่านโรงไฟฟ้า 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงคลองส่งน้ำทั้ง 2 คลอง และระบายน้ำผ่าน Service spillway 70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถึง เวลา 17 นาฬิกา ของวันนี้ ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างช่องว่างในการรับน้ำฝนที่อาจจะตกและป้องกันไม่ให้น้ำล้นสปริงเวย์ที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทางผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาฯ ได้ขอให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สองฝั่งน้ำยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ลำน้ำแม่ขานรอดแล้ว หลังใกล้แตะจุดวิกฤติเช้านี้ ชลประทานเชียงใหม่ เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิง ระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปลอดภัยแล้ว

ลำน้ำแม่ขานรอดแล้ว หลังใกล้แตะจุดวิกฤติเช้านี้ ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปลอดภัย ชลประทานเชียงใหม่ เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิง ยืนยันไม่มีผลกระทบต่อประชาชนด้านท้ายน้ำ

วันที่ 22 ก.ย. 67 เวลา 15.30 น. นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า จากกรณีฝนตกหนักจากพายุซูลิก ส่งผลให้ช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ลำน้ำแม่ขาน สถานีตรวจวัด (P.71A)​บ้านกลาง​ ต.บ้านกลาง​ อ.สันป่าตอง​ ระดับน้ำพุ่งสูงไปถึง 4.83 เมตร ซึ่งใกล้กับระดับวิกฤติ 5 เมตร จึงได้สั่งการให้ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 และฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ร่วมกันระบายน้ำออกจากลำน้ำแม่ขาน ลงสู่แม่น้ำปิง และระบายน้ำในแม่น้ำปิงไปท้ายน้ำโดยเร็วที่สุด กระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. พบว่าลำน้ำแม่ขาน ลดลงเหลือ 4.52 เมตร และระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตก คาดว่าในเช้าวันที่ 23 ก.ย. 67 ระดับน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ

นายเกื้อกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การเร่งระบายน้ำจากลำน้ำแม่ขานลงสู่แม่น้ำปิงนั้น เป็นการลดระดับน้ำ ไม่ให้เกิดน้ำท่วม น้ำเอ่อล้นตลิ่ง เมื่อน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิงแล้ว ก็ระบายลงสู่ท้ายน้ำที่จะไปยังทะเลสาปดอยเต่า เข้าสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งการเร่งระบายน้ำก็ได้ดำเนินการตามการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้กระทบต่อผู้เลี้ยงปลาในกระชัง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อำเภอสันป่าตองและอำเภอแม่วาง ซึ่งอยู่ท้ายน้ำ พร้อมกันนี้ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าปัจจุบันสถานการณ์น้ำเริ่มลดลง และใกล้สู่ภาวะปกติแล้วไม่มีผลกระทบใดๆ ในพื้นที่

ฝนตกหนักจากพายุซูลิก ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ สั่งเปิดประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มมากขึ้น เร่งระบายน้ำสายหลักและสาขา เพื่อรองรับน้ำฝน

ฝนตกหนักจากพายุซูลิก ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ สั่งเปิดประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มมากขึ้น เร่งระบายน้ำสายหลักและสาขา เพื่อรองรับน้ำฝน ให้ จนท.รายงานต่อเนื่อง เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่อื่นๆ

วันที่ 22 ก.ย. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า จากพายุฝนกระหน่ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา จากอิทธิพลของพายุ “ซูลิก” จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ ทำการตรวจสอบแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาทุกจุดที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีความจุเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างต่อเนื่อง

ผลจากการตรวจสอบได้ทราบว่า สถานีตรวจวัด P.71A บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำแม่แนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่ล้นตลิ่ง ในขณะที่ลำน้ำทา ลำน้ำขาน มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดูแลประตูระบายน้ำดอยน้อย เปิดประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มมากขึ้น โดยเปิดทั้งหมด 3 บาน บานที่ 2 และบานที่ 5 ยกสูง 2 เมตร และบานที่ 6 ยกพ้นน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำปิง เพื่อให้ลำน้ำทา และลำน้ำขาน สามารถไหลลงสู่แม่น้ำปิงได้สะดวก

ในขณะที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ควบคุมดูแลระดับน้ำในแม่น้ำปิงของเขตเมืองเชียงใหม่ ก็ได้ยกบานพ้นน้ำ 6 ช่องบาน เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำจากตัวเมืองเชียงใหม่ สู่ด้านท้ายน้ำ ปัจจุบันภาพรวมโดยส่วนใหญ่ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก และแม่น้ำสาขายังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีเพียงบางจุดเท่านั้นมีน้ำเพิ่มขึ้นหลังจากที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่หลังจากที่มีการเปิดประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิง เพื่อพร่องน้ำในลำน้ำ ก็ทำให้สถานการณ์ในแม่น้ำสาขาลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานผลการปฏิบัติให้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่ต่างๆ

พ่อเมืองสามหมอก ลงพื้นที่มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือราษฏรบ้านแม่สามแลบ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำสาละวิน

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือราษฏรบ้านแม่สามแลบ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำสาละวิน

วันที่ 14 กันยายน 2567 ที่ ศูนย์ประสานงานป้องกันเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมและช่วยเหลือประชาชน (กองอำนวยการชั่วคราว) หมู่ที่ 1 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าฯจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน พ.อ. พัลลภ ผึ้งหลวง ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ผบ.นพค.36) นายวารินทร์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน นางสาวพลอยพรรณ พลอยทับทิม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน นางจิรนันท์ เจียมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ เหตุอุทกภัย แม่น้ำสาละวินล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และน้ำดื่ม ให้กับราษฎรบ้านแม่สามแลบ ม.1 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 79 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน โดยมี นายศราวุธ ทังดิน นายอำเภอสบเมย หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญมาส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ รายงานสถานการณ์

โดยมีการสรุปความเสียหาย -บ้านแม่สามแลบครัวเรือนที่ได้รับความเสียหาย 50 ครัวเรือน มีความเสียหายหนัก 34 ครัวเรือน รวมประชากร ทั้งสิ้น 125 คน , บ้านสบเมย 31 ครัวเรือน มีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายมี 11 ครัวเรือน และมีความเสียหายหนัก จำนวน 9 ครัวเรือน , บ้านพะละอึ มีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหาย 20 ครัวเรือน เสียหายหนัก 3 ครัวเรือนรวมประชากร ทั้งสิ้น 78 คน รวม 79 ครัวเรือน รวมประชากร ทั้งสิ้น 203 คน ส่วนความเสียหายด้านสัตว์เลี้ยง มี สุกร 1 ตัว ไก่ 60 ตัว วัว 1 ตัว ที่สูญหายไปกับสายน้ำ

พร้อมกันนี้ทาง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 ( ศบภ.นพค.36 สนภ.3 นทพ.) ให้การสนับสนุนรถประปาสนาม จำนวน 1 คัน ในการผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้กับราษฎรผู้ประสบภัย และเตรียมความพร้อม เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกล ยุทโธปกรณ์ กำลังพลพร้อมให้ความช่วยเหลือ

หลังจากนั้น ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน พร้อมคณะ ได้ติดตามความเสียหายบ้านเรือนราษฏร หลังปริมาณน้ำลดลง พร้อม เยี่ยมให้กำลังใจ และ ลงเรือติดตามสถานการณ์น้ำสาละวิน ซึ่งวันนี้ระดับน้ำได้ลดลงประมาณ 1 เมตร คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนจะทำให้ระดับน้ำสาละวินลดลงสู่สภาวะปกติ

Cr. สุกัลยา บัวงาม

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ จัดการประชุมชี้แจงการบริหารจัดการน้ำ จากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 11 สถานี ในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ จัดการประชุมชี้แจงการบริหารจัดการน้ำ จากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 11 สถานี ในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับดำเนินการในการส่งน้ำ และการใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทาน

วันที่ 6 ก.ย. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายวิสูตร จันทร์เขียว หัวหน้าฝ่ายช่างกล โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายณรงค์ วงศ์จันทร์ทิพย์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายจีระศักดิ์ ศรีจันทร์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานเชียงใหม่ จัดการประชุมชี้แจงการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ จังหวังเชียงใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับดำเนินการในการส่งน้ำ และการใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทาน การดูแลรักษาระบบชลประทานภายใต้กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง เพื่อรายงานความก้าวหน้า แผนงาน/โครงการ ที่จะดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568 – 2570 โดยมี นายนเรศ ธำรงศ์ทิพยคุณ สส.เขต 9 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม มี นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายมานิตย์ ไหวไว นายอำเภอดอยหล่อ ว่าที่ร้อยตรี สุรพงค์ กาบวัง นายก อบต.ดอยหล่อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอดอยหล่อกว่า 200 คน เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ในวันนี้โครงการชลประทานเชียงใหม่ได้เชิญกลุ่มผู้ใช้น้ำสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 11 สถานี ทั้งหมดในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ มาเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องของการวางแผนการใช้น้ำ ตลอดจนแผนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วมที่ของชลประทาน ในปี 2568 จะมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่อำเภอดอยหล่อ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีสูบน้ำบ้านป่าลาน และสถานีสูบน้ำบ้านท่าล้อ เมื่อดำเนินการแล้วจะทำให้พื้นที่ของอำเภอดอยหล่อ มีพื้นที่รับประโยชน์ จากสถานีสูบน้ำมากกว่า 3,000 ไร่ จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนและเกษตรกรในอำเภอดอยหล่อที่มีแหล่งผลิตมะม่วงพันธุ์ดีของจังหวัดเชียงใหม่

นายนเรศ ธำรงศ์ทิพยคุณ สส.เขต 9 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมชลประทาน โดย นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องแหล่งน้ำ มารับฟังปัญหาของพี่น้องอำเภอดอยหล่อ ซึ่งอำเภอดอยหล่อมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำมาโดยตลอด ที่ผ่านมาตั้งแต่ผมเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีก็ได้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำให้กับพี่น้องอำเภอดอยหล่อ ผมในฐานะที่เป็น สส.เขต ก็ได้ประสานกับทางกรมชลประทาน กรมน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกรอำเภอดอยหล่อ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาโดยตลอด แต่ตอนนี้ต้องการที่จะขยายโครงการออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยหล่อในการแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกร จึงเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้ที่ได้ประสานยังกรมชลประทานเข้ามาในวันนี้

นอกจากนี้ก็ได้ดำเนินการตามนโยบายของท่าน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรเกิดการรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกันกลายเป็นเกษตรแปลงใหญ่ และต้องการให้พี่น้องชาวอำเภอดอยหล่อดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งต่อไปทางหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาช่วยเหลือก็จะสามารถเข้าไปช่วยเกษตรแปลงใหญ่ได้ และวันนี้ก็ยังต้องการให้พี่น้องเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี ลดต้นทุนการทำการเกษตร ด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และการผลักดันการใช้แผงโซลาเซลล์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ

สมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ ประกาศแจกทุนส่งเสริมการศึกษา “ลูก-หลาน ผู้สื่อข่าว” ประจำปี 2567

ประกาศ สมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่
เรื่อง การให้ทุนส่งเสริมการศึกษา “ลูก-หลาน ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่” ประจำปี 2567

นิยาม
ทุนส่งเสริมการศึกษา คือ ทุนที่ให้สำหรับ “กรรมการบริหารสมาคม” หรือ “ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่” ที่มี “ลูก หลาน” ซึ่งกำลังศึกษาในระดับชั้นอนุบาลถึงปริญญาตรี
กรรมการบริหารกิจการสมาคม หมายถึง กรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ ที่ประกาศแต่งตั้งโดย
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่
ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ด้านการข่าวโดยชัด มีพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ประจำในการแสวงหาข้อมูล รวบรวม เขียนเรียบเรียง และนำเสนอข่าว ในช่องทาง หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ หรือสื่อสารมวลชนอื่น
ลูก หมายถึง บุตร ธิดา ของ กรรมการบริหารกิจการสมาคม หรือ ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่
หลาน หมายถึง ลูก ของบุตรหรือธิดา ของ กรรมการบริหารกิจการสมาคม หรือ ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่

คุณสมบัติ

  1. เป็นกรรมการบริหารกิจการสมาคม
  2. ต้องเป็น “ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่” ตามนิยามตามประกาศนี้
  3. มีสังกัดเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน
  4. สามารถขอรับทุนส่งเสริมการศึกษา ลูก หลาน ได้ ครอบครัวละ 1 ทุน เท่านั้น
  5. ความเป็น “ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่” พิจารณาโดยคณะกรรมการซึ่งสมาคมฯ ประกาศแต่งตั้งเพื่อการนี้ และผลการพิจารณาของคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สิ้นสุด

หลักฐานในการยื่นประกอบการพิจารณาขอรับทุน

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว(ถ้ามี) ของผู้ขอรับทุน
  2. สำเนาบัตรประจำตัวนักเรียนหรือนักศึกษา บัตรประจำตัวประชาชน(ถ้ามี) ของผู้รับทุน
  3. สำเนาทะเบียนบ้านของ ผู้ขอรับทุน และผู้รับทุน ที่สามารถแสดงความเชื่อมโยงระหว่างผู้ขอรับทุน และ
    ผู้รับทุนได้
  4. สำเนาสมุดรายงานผลการศึกษา หรือหนังสือรับรองผลการศึกษา ภาคเรียนล่าสุด ที่ได้รับจากอาจารย์ใหญ่หรือผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ผู้รับทุนศึกษาอยู่
  5. หนังสือแสดงความจำนงขอรับทุน ตามแบบที่สมาคมกำหนด

 

กำหนดวันรับสมัครขอรับทุนและการประกาศผลการพิจารณา

  • ยื่นความจำนงขอรับทุน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
  • ประกาศผลพิจารณาทุนส่งเสริมการศึกษา วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
  • ผู้ขอรับทุน ต้องนำ ลูก หลาน แต่งชุดนักเรียน นักศึกษา มารับทุน วันที่ 26 ธันวาคม 2567 (วันสถาปนาสมาคมฯ)

(เวลาและสถานที่ในการมอบทุกส่งเสริมการศึกษา สมาคมฯ จะประกาศให้ทราบผ่านเว็บไซต์หรือเพจสมาคมฯ ในเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง)

การยื่นแบบแสดงความจำนงขอรับทุน

  1. ขอเอกสารได้ที่ ที่ทำการสมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ หรือดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์ หรือเพจ สมาคมฯ
  2. ยื่นแบบแสดงความจำนงพร้อมเอกสารประกอบ ได้ที่ ที่ทำการสมาคมฯ
    หรือส่งทางอีเมล์ chiangmaireporterassociation@gmail.com
  3. สมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ เลขที่ 57 หมู่ที่ 5 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ประกาศสมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ เรื่อง การให้ทุนส่งเสริมการศึกษา “ลูก-หลาน ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่” ประจำปี 2567
https://thecmreporter.com/wp-content/uploads/2024/09/ประกาศ-สมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่-มอบทุนส่งเสริมการศึกษา-2567.pdf

หนังสือแสดงความจำนง ขอรับทุนส่งเสริมการศึกษา “ลูก-หลาน ผู้สื่อข่าวเชียงใหม่” ประจำปี 2567
https://thecmreporter.com/wp-content/uploads/2024/09/หนังสือแสดงความจำนง-ขอรับทุนส่งเสริมการศึกษา-2567.pdf

ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ เร่งตรวจระดับน้ำปิง ยืนยันยังอยู่ในระดับปกติ ยกบานพ้นน้ำ 5 บาน ระบายลงท้ายน้ำ เข้าเขื่อนภูมิพล

เชียงใหม่ ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ เร่งตรวจระดับน้ำปิง ยืนยันยังอยู่ในระดับปกติ พร้อมยกบานประตูระบายน้ำ 5 ช่องบานเร่งระบายน้ำลงท้ายน้ำ เข้าสู่เขื่อนภูมิพล

วันที่ 1 ก.ย. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ตรวจจุดวัดระดับน้ำปิง P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีระดับน้ำอยู่ที่ 2.79 เมตร อัตราการไหลอยู่ที่ 339 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งยังอยู่ในระดับสีเขียว ยังไม่ถึงจุดที่เฝ้าระวัง จากนั้นได้เดินทางไปที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบอาคารระบายน้ำ และการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด 5 บาน เพื่อดึงมวลน้ำจากด้านเหนือประตูระบายน้ำลงสู่ท้ายน้ำ ผลักดันไปยังเขื่อนภูมิพล ซึ่งประตูระบายน้ำท่าวังตาลได้ยกบานขึ้นเหนือน้ำ และให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า เช้านี้ได้มีน้ำหลากจากพื้นที่อำเภอแม่ริมได้ไหลมาสมทบปิง ขณะนี้มวลน้ำได้มาในเขตพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาคารที่สำคัญเป็นประตูระบายน้ำท่าวังตาล และได้มีการยกบานประตูระบายน้ำพ้นน้ำทั้งหมด 5 บาน เพื่อเร่งการระบายน้ำ และพื้นที่ด้านหน้านประตูระบายน้ำจะอยู่สูงกว่าประตูระบายน้ำประมาณ 1 เมตร ประตูระบายน้ำยังไหลผ่านได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมวลน้ำได้ไหลผ่านประตูไปในอัตรา 322 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งสถานีตรวจวัด P.1 สะพานนวรัฐ เมื่อเวลา 09.00 น. อยู่ที่ 2.74 เมตร ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกประมาณ 15 ซม. ถึงจะไปอยู่ในเส้นที่เฝ้าระวัง ในขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันที่ขอบตลิ่งด้านท้ายประตูระบายน้ำนั้น ขอบตลิ่งก็ยังอยู่สูงกว่ามวลน้ำประมาณ 1 เมตร ท้ายน้ำยังสามารถรองรับได้อยู่ และมวลน้ำนี้ก็ได้เร่งระบายตามประตูระบายน้ำและฝายต่างๆ เพื่อร่งระบายน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล และให้มีช่องว่างในการรับมวลน้ำจากพื้นที่ตอนบนไม่ว่าจะไหลมาจากอำเภอเชียงดาว แม่แตง และอำเภอแม่ริม

ในส่วนของประตูระบายน้ำท่าวังตาล ก็มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง มีห้องควบคุมบานประตู ที่สามารถสั่งการได้ทั้งระบบออนไลน์ โดยผ่านสมาร์ทโฟน และออฟไลน์ ด้วยการเข้ามาควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งมีระบบป้องกันฉุกเฉินหากสถานการณ์ไฟฟ้าดับก็มีระบบสำรองที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมการทำงานของประตูระบายน้ำได้ การทดสอบที่ผ่านมาประตูระบายน้ำสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่อำเภอแม่ริม ซึ่งจะไหลลงน้ำแม่ริมเป็นหนึ่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิงที่ใกล้เขตตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ชี้แจงว่า น้ำแม่ริม แม่สา โดยสภาพลำน้ำค่อนข้างชันน้ำไหลเร็ว ซึ่งน้ำแม่ริมจะไหลลงแม่น้ำปิงหลังสถานีวัดน้ำ P.67 ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ระดับน้ำที่สถานีวัน P.1 จะมากกว่า P.67 เยอะ โดยปริมาณน้ำที่น้ำแม่มขณะนี้วัดได้ 60 ลบ.ม/วินาที น่าจะเป็นปริมาณไหลลงน้ำปิงที่เยอะมากแล้ว และตั้งแต่ 05.00 – 07.00น ระดับน้ำที่ P.1 เพิ่มจากน้ำแม่ริม 50 ลบ.ม./วินาที มากกว่าที่ P67 เพิ่มเล็กน้อย 5 ลบ.ม./วินาที ซึ่งในส่วนของประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ได้ทำการยกบานบานี่ 3, 4, 5 และบานที่ 6 พ้นน้ำ

ด้าน นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายแห่งในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำปิงเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาแม่น้ำปิง ได้แก่ น้ำแม่แตง น้ำแม่ริม และน้ำปิงสายหลักจากเชียงดาว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงเห็นควรให้โครงการต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล งดการระบายน้ำตามแผนการพร่องน้ำในเขื่อน (24-40 cms) ออกไปก่อน จนกว่าระดับน้ำในลุ่มน้ำภาพรวมลดลง ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 1 (สชป.1) จะติดตามข้อมูลและแจ้งให้ทางโครงการเริ่มระบายน้ำในช่วงที่เหมาะสมทราบอีกครั้ง และให้เจ้าหน้าที่ควบคุมกำกับอาคารชลประทานในแม่น้ำปิงสายหลัก เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยให้เร่งระบายน้ำผ่านอาคารไปด้านท้ายน้ำให้มีประสิทธิภาพ และควบคุมระดับน้ำด้านเหนืออาคารไม่ให้สูงจนเกิดผลกระทบกับพื้นที่ทั้งสองฝั่งทางน้ำ

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบทดสอบอาคารประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำแม่แตง ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ป้องกันน้ำฝั่งตะวันตกท่วมเมืองเชียงใหม่

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบทดสอบอาคารประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำแม่แตง ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เร่งระบายน้ำจากคลองแม่แตงลงสู่น้ำแม่ขาน เสริมเครื่องมือป้องกันน้ำฝั่งตะวันตกท่วมเมืองเชียงใหม่

วันที่ 30 ส.ค. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายวิสูตร จันทร์เขียว หัวหน้าฝ่ายช่างกล โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ตรวจสอบอาคารควบคุมบานประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำแม่แตง บริเวณปลายคลองที่ลงสู่น้ำแม่ขาน ซึ่งได้มีการทดสอบเปิดบานประตูระบายน้ำ

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้ทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำส่วนต่อจากคลองแม่แตงพร้อมด้วยอาคารควบคุม บานประตูระบายน้ำ ซึ่งเชื่อมต่อจากคลองแม่แตง งานก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้มีการเปิดทดสอบระบบ ในวันนี้จึงได้เดินทางมาดูการระบายน้ำที่ปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่แตง ที่จะรองรับน้ำหลากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ที่จะลงสู่น้ำแม่ขาน ปัจจุบันน้ำในลำน้ำแม่ขานยังมีน้อยและมีศักยภาพในการช่วยระบายน้ำในเขตพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ มาลงสู่ลำน้ำแม่ขาน และลงไปสู่แม่น้ำปิง

สำหรับคลองส่งน้ำส่วนต่อคลองแม่แตง ระยะ 2 +600 กิโลเมตร พร้อมด้วยอาคารชลประทานในคลอง มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที และยังสามารถช่วยในเรื่องของการป้องกันอุทกภัยในเขตเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนในช่วงฤดูแล้งก็สามารถเก็บน้ำไว้ให้กับประชาชน และเกษตรกรในเขตพื้นที่อำเภอแม่วาง สันป่าตอง และพื้นที่ด้านท้ายก็มีฝายทดน้ำต่างๆ ที่จะสามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรของพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง อาคารต่างๆ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการทดสอบการใช้งาน ปัจจุบันสามารถใช้งานได้ดี และเป็นอีกส่วนหนึ่งของทีมเชียงใหม่ในการดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำหลากที่จะมาจากฝั่งตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ได้ โดยการบริหารจัดการน้ำในคลองส่วนต่อจะคำนึงถึงผลกระทบด้านท้ายที่ระบายน้ำลงไปเป็นสำคัญ ด้วยอาคารต่างๆ ที่ก่อสร้างไว้ในคลองมีศักยภาพเพียงพอที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายคลอง กล่าวคือ หากปริมาณน้ำขานอยู่ในระดับที่สูงคลองก็จะปิดสนิทไม่นำน้ำไปเติมแม่น้ำขานเพิ่มอีก