ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ เร่งตรวจระดับน้ำปิง ยืนยันยังอยู่ในระดับปกติ ยกบานพ้นน้ำ 5 บาน ระบายลงท้ายน้ำ เข้าเขื่อนภูมิพล

เชียงใหม่ ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ เร่งตรวจระดับน้ำปิง ยืนยันยังอยู่ในระดับปกติ พร้อมยกบานประตูระบายน้ำ 5 ช่องบานเร่งระบายน้ำลงท้ายน้ำ เข้าสู่เขื่อนภูมิพล

วันที่ 1 ก.ย. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ตรวจจุดวัดระดับน้ำปิง P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีระดับน้ำอยู่ที่ 2.79 เมตร อัตราการไหลอยู่ที่ 339 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งยังอยู่ในระดับสีเขียว ยังไม่ถึงจุดที่เฝ้าระวัง จากนั้นได้เดินทางไปที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบอาคารระบายน้ำ และการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด 5 บาน เพื่อดึงมวลน้ำจากด้านเหนือประตูระบายน้ำลงสู่ท้ายน้ำ ผลักดันไปยังเขื่อนภูมิพล ซึ่งประตูระบายน้ำท่าวังตาลได้ยกบานขึ้นเหนือน้ำ และให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า เช้านี้ได้มีน้ำหลากจากพื้นที่อำเภอแม่ริมได้ไหลมาสมทบปิง ขณะนี้มวลน้ำได้มาในเขตพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาคารที่สำคัญเป็นประตูระบายน้ำท่าวังตาล และได้มีการยกบานประตูระบายน้ำพ้นน้ำทั้งหมด 5 บาน เพื่อเร่งการระบายน้ำ และพื้นที่ด้านหน้านประตูระบายน้ำจะอยู่สูงกว่าประตูระบายน้ำประมาณ 1 เมตร ประตูระบายน้ำยังไหลผ่านได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมวลน้ำได้ไหลผ่านประตูไปในอัตรา 322 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งสถานีตรวจวัด P.1 สะพานนวรัฐ เมื่อเวลา 09.00 น. อยู่ที่ 2.74 เมตร ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกประมาณ 15 ซม. ถึงจะไปอยู่ในเส้นที่เฝ้าระวัง ในขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันที่ขอบตลิ่งด้านท้ายประตูระบายน้ำนั้น ขอบตลิ่งก็ยังอยู่สูงกว่ามวลน้ำประมาณ 1 เมตร ท้ายน้ำยังสามารถรองรับได้อยู่ และมวลน้ำนี้ก็ได้เร่งระบายตามประตูระบายน้ำและฝายต่างๆ เพื่อร่งระบายน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล และให้มีช่องว่างในการรับมวลน้ำจากพื้นที่ตอนบนไม่ว่าจะไหลมาจากอำเภอเชียงดาว แม่แตง และอำเภอแม่ริม

ในส่วนของประตูระบายน้ำท่าวังตาล ก็มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง มีห้องควบคุมบานประตู ที่สามารถสั่งการได้ทั้งระบบออนไลน์ โดยผ่านสมาร์ทโฟน และออฟไลน์ ด้วยการเข้ามาควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งมีระบบป้องกันฉุกเฉินหากสถานการณ์ไฟฟ้าดับก็มีระบบสำรองที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมการทำงานของประตูระบายน้ำได้ การทดสอบที่ผ่านมาประตูระบายน้ำสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่อำเภอแม่ริม ซึ่งจะไหลลงน้ำแม่ริมเป็นหนึ่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิงที่ใกล้เขตตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ชี้แจงว่า น้ำแม่ริม แม่สา โดยสภาพลำน้ำค่อนข้างชันน้ำไหลเร็ว ซึ่งน้ำแม่ริมจะไหลลงแม่น้ำปิงหลังสถานีวัดน้ำ P.67 ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ระดับน้ำที่สถานีวัน P.1 จะมากกว่า P.67 เยอะ โดยปริมาณน้ำที่น้ำแม่มขณะนี้วัดได้ 60 ลบ.ม/วินาที น่าจะเป็นปริมาณไหลลงน้ำปิงที่เยอะมากแล้ว และตั้งแต่ 05.00 – 07.00น ระดับน้ำที่ P.1 เพิ่มจากน้ำแม่ริม 50 ลบ.ม./วินาที มากกว่าที่ P67 เพิ่มเล็กน้อย 5 ลบ.ม./วินาที ซึ่งในส่วนของประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ได้ทำการยกบานบานี่ 3, 4, 5 และบานที่ 6 พ้นน้ำ

ด้าน นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายแห่งในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำปิงเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาแม่น้ำปิง ได้แก่ น้ำแม่แตง น้ำแม่ริม และน้ำปิงสายหลักจากเชียงดาว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงเห็นควรให้โครงการต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล งดการระบายน้ำตามแผนการพร่องน้ำในเขื่อน (24-40 cms) ออกไปก่อน จนกว่าระดับน้ำในลุ่มน้ำภาพรวมลดลง ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 1 (สชป.1) จะติดตามข้อมูลและแจ้งให้ทางโครงการเริ่มระบายน้ำในช่วงที่เหมาะสมทราบอีกครั้ง และให้เจ้าหน้าที่ควบคุมกำกับอาคารชลประทานในแม่น้ำปิงสายหลัก เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยให้เร่งระบายน้ำผ่านอาคารไปด้านท้ายน้ำให้มีประสิทธิภาพ และควบคุมระดับน้ำด้านเหนืออาคารไม่ให้สูงจนเกิดผลกระทบกับพื้นที่ทั้งสองฝั่งทางน้ำ

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบทดสอบอาคารประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำแม่แตง ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ป้องกันน้ำฝั่งตะวันตกท่วมเมืองเชียงใหม่

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบทดสอบอาคารประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำแม่แตง ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เร่งระบายน้ำจากคลองแม่แตงลงสู่น้ำแม่ขาน เสริมเครื่องมือป้องกันน้ำฝั่งตะวันตกท่วมเมืองเชียงใหม่

วันที่ 30 ส.ค. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายวิสูตร จันทร์เขียว หัวหน้าฝ่ายช่างกล โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ตรวจสอบอาคารควบคุมบานประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำแม่แตง บริเวณปลายคลองที่ลงสู่น้ำแม่ขาน ซึ่งได้มีการทดสอบเปิดบานประตูระบายน้ำ

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้ทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำส่วนต่อจากคลองแม่แตงพร้อมด้วยอาคารควบคุม บานประตูระบายน้ำ ซึ่งเชื่อมต่อจากคลองแม่แตง งานก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้มีการเปิดทดสอบระบบ ในวันนี้จึงได้เดินทางมาดูการระบายน้ำที่ปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่แตง ที่จะรองรับน้ำหลากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ที่จะลงสู่น้ำแม่ขาน ปัจจุบันน้ำในลำน้ำแม่ขานยังมีน้อยและมีศักยภาพในการช่วยระบายน้ำในเขตพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ มาลงสู่ลำน้ำแม่ขาน และลงไปสู่แม่น้ำปิง

สำหรับคลองส่งน้ำส่วนต่อคลองแม่แตง ระยะ 2 +600 กิโลเมตร พร้อมด้วยอาคารชลประทานในคลอง มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที และยังสามารถช่วยในเรื่องของการป้องกันอุทกภัยในเขตเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนในช่วงฤดูแล้งก็สามารถเก็บน้ำไว้ให้กับประชาชน และเกษตรกรในเขตพื้นที่อำเภอแม่วาง สันป่าตอง และพื้นที่ด้านท้ายก็มีฝายทดน้ำต่างๆ ที่จะสามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรของพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง อาคารต่างๆ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการทดสอบการใช้งาน ปัจจุบันสามารถใช้งานได้ดี และเป็นอีกส่วนหนึ่งของทีมเชียงใหม่ในการดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำหลากที่จะมาจากฝั่งตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ได้ โดยการบริหารจัดการน้ำในคลองส่วนต่อจะคำนึงถึงผลกระทบด้านท้ายที่ระบายน้ำลงไปเป็นสำคัญ ด้วยอาคารต่างๆ ที่ก่อสร้างไว้ในคลองมีศักยภาพเพียงพอที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายคลอง กล่าวคือ หากปริมาณน้ำขานอยู่ในระดับที่สูงคลองก็จะปิดสนิทไม่นำน้ำไปเติมแม่น้ำขานเพิ่มอีก

ผู้ช่วยฯ การประปาเชียงใหม่ เข้าพบ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ รับฟังสถานการณ์น้ำและขอให้ชลประทานรักษาระดับน้ำไว้เพื่อผลิตน้ำประปา

ผู้ช่วยฯ การประปาเชียงใหม่ เข้าพบ ผอ.โครงการชลประทาน รับฟังสถานการณ์น้ำ โดยยืนยันระดับน้ำปัจจุบันเป็นระดับที่ผลิตน้ำประปาได้ หากต่ำกว่านี้ 50 ซม.จะกระทบ ขอให้ชลประทานรักษาระดับน้ำไว้ ด้านชลประทาน เปิดบาน ปตร.ท่าวังตาล 3 บานพ้นน้ำ เร่งระบายน้ำรองรับน้ำจากโซนเหนือ

วันที่ 28 ส.ค. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ และ นายศิริฉัตร บัวพุทธา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 8 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ต้อนรับ นายศุภกฤษณ์ จันทร์ศุภเสน ผู้ช่วยผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) และ ว่าที่ร้อยตรี กิตติพงศ์ ศรีพราย หัวหน้างาน 8 งานผลิต การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) ที่ได้เดินทางมารับฟังข้อมูลเรื่องของการรักษาระดับน้ำในการผลิตน้ำประปาให้กับเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ทางชลประทานรักษาระดับน้ำไว้ หลังจากที่มีการเปิดบานประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิงตอนล่าง

นายศุภกฤษณ์ จันทร์ศุภเสน ผู้ช่วยผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค (ชั้นพิเศษ) สาขาเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานีสูบน้ำประปาตั้งอยู่ภายในพื้นที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งระดับต่ำสุดที่ได้ข้อมูลจากชลประทานเชียงใหม่ ที่จะสูบน้ำมาใช้ผลิตประปาได้จะอยู่ที่ 300.5 หากต่ำกว่านี้จะไม่สามารถน้ำได้เพียงพอต่อประชาชนในพื้นที่โซนเชียงใหม่ตอนล่างทั้งหมด สถานการณ์ปัจจุบันยังเพียงพอที่ให้การประปาสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาได้อยู่ หากสภาพน้ำต่ำกว่านี้จะเกิดปัญหาในการผลิตน้ำประปา ประชาชนก็จะเดือดร้อนเพราะไม่มีน้ำประปาใช้ โดยรวมหากต่ำกว่านี้ไปอีก 50 เซนติเมตร จะไม่สามารถสูบน้ำผลิตน้ำประปาได้แล้ว จะมีปัญหาเรื่องของดินโคลน เศษขยะ ใบไม้ กิ่งไม้จะเข้ามาสะสมทำให้ผลิตน้ำได้ยากขึ้น ทางชลประทานก็พยายามประคองรักษาสภาพน้ำในแม่น้ำปิงไว้ให้การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อให้สามารถสูบน้ำได้เป็นปกติ ปัจจุบันการผลิตน้ำประปาของสถานีสูบน้ำทั้ง 8 สถานียังไม่ได้รับผลกระทบ นอกเหนือจากน้ำในแม่น้ำปิงต่ำกว่านี้ก็จะได้รับผลกระทบแน่นอน

นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า และท่านอธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร มีข้อสั่งการให้ชลประทานต่างๆ ดำเนินการตาม 10 มาตรการฤดูฝน โดยการยกระดับเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฤดูฝน ซึ่งทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ก็ได้มีการตรวจสอบประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงให้มีความพร้อมในการใช้งาน ปัจจุบันฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 8 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ทำการยกบานพ้นน้ำทั้งหมด 3 บาน ได้ระบายน้ำ 300 กว่า ลบ.ม.ต่อวินาที จุดวัดระดับน้ำ P.1 สะพานนวรัฐ วันนี้วัดได้ 2.36 เมตร ซึ่งได้มีการรระบายน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับน้ำฝนจากอำเภอเชียงดาว และลำน้ำสาขาจากอำเภอแม่แตง แม่ริม ซึ่งการระบายน้ำของโครงการชลประทานเชียงใหม่ได้คำนึงถึงการรักษาระดับน้ำในแม่น้ำปิง ที่จะใช้ในการผลิตน้ำประปาเพราะหน้าประตูระบายน้ำมีสถานีสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคอยู่ เพื่อผลิตน้ำด้านการอุปโภค บริโภค ให้กับชาวเชียงใหม่

ด้าน นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการชลประทานเชียงใหม่ได้บริหารจัดการแม่น้ำปิง โดยการเปิดบานระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด ได้ยกบานพ้นน้ำจำนวน 3 บาน ความสามารถในการระบายน้ำ 1 บานอยู่ที่ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งหมด 3 บาน เป็น 600 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันระดับน้ำด้านหน้าประตูระบายน้ำและด้านท้ายอยู่ในระดับเดียวกัน ตรงนี้จะช่วยในการดึงมวลน้ำที่มาจากพื้นที่ตอนบนของเมืองเชียงใหม่ให้ไหลไปสู่พื้นที่ด้านล่างได้เร็วขึ้น จะช่วยเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำที่จะเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่

สำหรับข้อสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้สั่งการให้กับทีมจังหวัดเชียงใหม่ คือ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์และมีความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำสายหลัก ดูเรื่องอาคารควบคุมให้พร้อมใช้งาน 100% เรื่องสภาพความพร้อมของอาคารเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า และอธิบดีกรมชลประทานได้มีข้อสั่งการให้โครงการชลประทานต่างๆ ทั่วประเทศ ทำการตรวจสอบสภาพอาการให้มีความพร้อมใช้งานในการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ในลุ่มน้ำหลักต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะแม่น้ำปิงก็ใช้ประตูระบายน้ำท่าวังตาลแห่งนี้ในการบริหารจัดการน้ำเขตพื้นที่เมืองเชียงใหม่ เขตพื้นที่เศรษฐกิจ และด้านท้ายน้ำปัจจุบันระดับน้ำยังต่ำกว่าขอบตลิ่ง ซึ่งระดับน้ำด้านหน้าประตูระบายน้ำและด้านท้ายเท่ากันอยู่่ที่ 300.6 ต่ำกว่าระดับปกติอยู่ที่ 90 เซนติเมตร

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงตอนบนที่ไหลผ่านอำเภอเชียงดาว ในขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และลำน้ำแตงก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน อัตราการไหลผ่านจุดวัดที่อำเภอสันทราย ประมาณ 200 กว่า ลบ.ม.ต่อวินาที เช้านี้จุดวัดที่สะพานนวรัฐ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ก็วัดได้ 230 – 240 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ระดับน้ำยังคงที่ 2.36 เมตร ต่ำกว่าระดับวิกฤติ 3.70 เมตร อยู่ประมาณ 1.10 เมตร

ชลประทานเชียงใหม่ติดตามสถานการณ์น้ำปิงใกล้ชิดต่อเนื่อง ภาพรวมระดับน้ำยังปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ชลประทานเชียงใหม่ติดตามสถานการณ์น้ำปิงใกล้ชิดต่อเนื่อง ภาพรวมระดับน้ำยังปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ภาพรวมมีน้ำอยู่ที่ 63% มี 2 อ่าง ปริมาณน้ำแตะ 100% มีการระบายแล้ว ในอัตราที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่าง

วันที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำปิงในพื้นที่ตั้งแต่จุดวัดระดับน้ำเขตอำเภอเชียงดาว (P20) ซึ่งเป็นต้นน้ำ ระดับน้ำวัดได้ 0.98 ม. จากท้องน้ำ อัตราการไหล 51.4 ลบม./วินาที จุดวัด P67 บ้านแม่แต อ. สันทราย ระดับน้ำ 1.73 ม. จากท้องน้ำ ต่ำกว่าระดับวิกฤต 2.07 ม. อัตราการไหล 202.5 ลบม./วินาที ซึ่งจุดวิกฤต 493 ลบ.ม/วินาที ส่วนพื้นที่ตอนกลาง เขตเมืองพื้นที่เศรษฐกิจ สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำ 2.30 ม. ต่ำกว่าระดับวิกฤต 1.40 ม. ซึ่งระดับวิกฤต 3.7 ม. ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขตเมือง 190 ลบม./ วินาที โดยอัตราการไหลวิกฤต 405 ลบม./วินาที

ประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิง (ปตร.ท่าวังตาล) ต.ป่แดด อ.เมืองเชียงใหม่ ได้ทำการรักษาระดับน้ำให้อยู่ที่ +300.7 เมตร (ร.ท.ก.) ต่ำกว่าระดับน้ำปกติที่เก็บกัก (301.5) 80 ซม. พร้อมกันนี้ได้เปิดประตูน้ำทั้งหมด 3 บาน เพื่อระบายให้มีช่องว่างในลำน้ำปิงรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน ในเขต อ.เชียงดาว อ.แม่แตง และบริเวณท้ายน้ำปิง จุดวัด P73 อำเภอจอมทอง ระดับน้ำ 2.96 ม. ต่ำกว่าระดับวิกฤต 4.85 ม. ซึ่งระดับวิกฤต 7.81 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 280 ลบม./ วินาที อัตราการไหลวิกฤต 1337 ลบม./วินาที ปัจจุบันภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำแม่ปิง อำเภอเชียงดาว ถึงจุดวัดท้ายน้ำที่อำเภอจอมทอง สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ประตูระบายน้ำปิง (ปตร.ท่าวังตาล) ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ประตูระบายน้ำแม่สอย อ.จอมทอง มีเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

ด้านปริมาณน้ำ 2 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำ 209.708 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 79.14% มีน้ำไหลเข้าอ่าง (Inflow) 7.042 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกเขื่อน (Outflow) 1.591 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 122.997 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46.77% มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง (Inflow) 2.066 ล้าน ลบ.ม. Outflow 0.159 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 13 แห่ง ภาพรวมมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 65.59 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63.64 % ของความจุโดยรวม มีอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ที่ความจุแตะ 100% คือ อ่างเก็ยน้ำบ้านแม่ตะไคร้ ต.ทาเหนือ อ.แม่ออน มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 100.35% ของความจุ ซึ่งขณะนี้ได้มีการระบายน้ำแล้ว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ระบายผ่ายคลองส่งน้ำฝั่งขวา ที่ 0.7925 ลบ.ม/วินาที หรือ 68,472 ลบ.ม./วัน

อีกแห่งคือ อ่างเก็บน้ำสันหนอง ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ 102.76% ของความจุ และได้มีการระบายน้ำจากอ่างแล้ว โดยมีอัตราการระบาย ดังนี้ ระบายผ่านคลองส่งน้ำฝั่งขวา 0.127 ลบ.ม./วินาที หรือ 10,972 ลบ.ม./วัน และ ระบายผ่ายคลองส่งน้ำฝั่งช้าย 0.377 ลบ.ม./วินาที หรือ 32,573 ลบ.ม./วัน และมีปริมาณน้ำล้น Spillway 0.43 ลบ.ม./วินาที หรือ 37,152 ลบ.ม./วัน ซึ่งอัตราการระบายน้ำโดยรวมทั้งหมด ไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงแต่อย่างใด

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพในปี 2568

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพในปี 2568

เมื่อ 16 สิงหาคม 2567 นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 9 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ฯพณฯ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกลางว่าด้วยการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เข้าร่วมการประชุมด้วย

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สู่อนาคตร่วมของภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและยั่งยืน” (Towards the Shared Future of a Safer and Sustainable Mekong-Lancang Region)” โดยเน้นย้ำการเร่งแก้ไขปัญหาความท้าทายเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความผาสุกของประชาชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย เพื่อมุ่งแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด อาชญากรรมไซเบอร์ และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม ผ่านการเพิ่มพูนความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูล สังเกตการณ์และควบคุมพื้นที่ชายแดน และการส่งเสริมศักยภาพ

รวมทั้ง การส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 และได้รับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง-ล้านช้าง ตามที่ไทยเสนอ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับหน่วยงานผู้ปฏิบัติในการกระชับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ข้อริเริ่มว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การใช้และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก AI ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินโครงการภายใต้ข้อริเริ่มระเบียงนวัตกรรม MLC ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน รวมถึง การส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเฉพาะ MSMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างครอบคลุม ความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการขจัดความยากจน ลดช่องว่างด้านการพัฒนา และเสริมสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในอนุภูมิภาค

อนึ่ง กรอบ MLC ซึ่งข้อริเริ่มของไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยมีจีนเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ผ่านความร่วมมือ 3 เสา ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสังคมและวัฒนธรรม และ 5 สาขาหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยง (2) ศักยภาพในการผลิต (3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน (4) ทรัพยากรน้ำ และ (5) การเกษตรและการขจัดความยากจน โดย MLC นับเป็นกรอบความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำกรอบแรกที่มีประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมอย่างครอบคลุม อีกทั้งยังมีความร่วมมือก้าวหน้าเป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจีนสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นกองทุนให้แก่โครงการจากประเทศสมาชิก MLC มากกว่า 800 โครงการ โดยเป็นโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการ ของหน่วยงานไทย 93 โครงการ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยเป็นประธานร่วมกรอบ MLC ร่วมกับจีนสำหรับวาระปี 2567 – 2568 และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกรอบ MLC ในปี 2568 ที่ประเทศไทย

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน เร่งตรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอขุนยวม

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน เร่งตรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอขุนยวม เพื่อติดตามการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ห่างไกลและถนนถูกตัดขาด

14 ส.ค. 2567 นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ตรวจติดตามการซ่อมแซมสะพานข้ามลำน้ำปอน ซึ่งปัจจุบันถูกน้ำในลำน้ำกัดเซาะคอสะพาน จนได้รับความเสียหายและสะพานได้ถล่มลงมาไม่สามารถใช้การได้ เบื้องต้น นายณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์ นายอำเภอขุนยวม ได้รายงานว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ยวมน้อย ได้จัดส่งรถบรรทุกและรถขุดตักมาดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมบริเวณคอสะพานเพื่อให้ประชาชนชาวบ้านแม่ซอ ได้ใช้สัญจรออกจากหมู่บ้านก่อน โดยมีการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งสะพานแห่งนี้จะเชื่อมระหว่างหมู่บ้านมะหินหลวง หมู่ที่ 8 ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม ไปยังหมู่บ้านแม่ลาก๊ะ หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม ซึ่งมีความเสียหาย 2 แห่ง

นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ประสบอุทกภัยใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอปางมะผ้า อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอขุนยวม โดยอำเภอขุนยวม ประสบภัยหนักที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดาร ทั้งนี้ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน 36 ได้จัดกำลังพล ชุดบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับฝ่ายปกครอง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าดำเนินการสำรวจและให้การช่วยเหลือประชาชน บ้านแม่โกปี่ ตำบลแม่ยวมน้อย อ.ขุนยวม โดยใช้เส้นทาง อ.ขุนยวม – บ.ปางอุ๋ง ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ – บ.หัวแม่ลาก๊ะ ต.แม่ยวมน้อย อ.ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แทนเส้นทางเดิมที่เกิดดินถล่ม และดินสไลด์ปิดทับเส้นทาง โดยฝ่ายปกครองได้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่ เข้าเปิดเส้นทาง จนถึง บ้านหัวแม่ลาก๊ะ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่สามารถเข้าถึง บ้านแม่โกปี่ฯ ได้

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังกล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะเส้นทางที่จะไปโรงเรียนบ้านแม่โกปี่ ที่มีการระบุว่ามีเด็กกว่า 40 คนถูกตัดขาดการเดินทาง ไม่สามารถออกจากโรงเรียนเพื่อกลับบ้านได้ ขณะนี้เด็กนักเรียนทั้ง 40 คนได้กลับบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ ไฟฟ้าและขณการสื่อสารไม่สามารถใช้การได้ ส่วนเครื่องอุปโภคบริโภคทางจังหวัดและอำเภอได้เข้าดำเนินการ เร่งจัดส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว โดย อบต.แม่ยวมน้อย และหน่วยงานต่างๆ ได้นำอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพ เข้าไปให้การช่วยเหลือที่บ้านแม่โกปี่แล้ว

นายอำเภอขุนยวม กล่าวว่า สำหรับแผนความช่วยเหลือ จะเร่งดำเนินการเปิดเส้นทางให้เข้าถึงหมู่บ้าน จาก บ.แม่ลาก๊ะ ถึง บ.แม่โกปี่ ระยะทางอีกประมาณ 10 กม. ทั้งนี้ อำเภอขุนยวมเตรียมระดมสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค ส่งต่อในการช่วยเหลือแล้ว นอกจากนั้นยังได้ขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนในการเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่หมู่บ้าน หมู่ที่ 2 –หมู่ 8 ตำบลแม่ยวมน้อย อำเภอขุนยวม ที่มีสะพานเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านชำรุด และมีดินสไลด์ทับเส้นทางหลายแห่งทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรเป็นระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล

โครงการชลประทานเชียงใหม่ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม

โครงการชลประทานเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567”

วันที่ 9 ส.ค. 67 เวลา 09.09 น. นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เป็นประธานจัดกิจกรรม “เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567” โดยในพิธีได้นำหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 – 8 รวมทั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ของโครงการชลประทานเชียงใหม่ ร่วมกล่าวคำถวายพระพร แสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ปกเกล้า ปกกระหม่อมที่ทรงมีต่อปวงพสกนิกรและก่อให้เกิดความสงบร่มเย็น ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าแก่ประเทศชาติและประชาชนตลอดมา

จากนั้นได้มีพิธีลงนามวถวายพระพรฯ กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทั้งการทาสี ด้านหน้าโครงการชลประทานเชียงใหม่ กิจกรรมทำความสะอาดบริเวณหลงพ่อทันใจ ศาลพ่อปู่แม่ย่า พัฒนารอบอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ภายในโครงการชลประทานเชียงใหม่

(คลิป) ทดสอบประตูระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสบแม่ข่า พร้อมใช้งานระบายน้ำ ชลประทานเชียงใหม่ เดินเครื่องทดสอบสร้างความมั่นใจให้ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่สบแม่ข่า

ทดสอบประตูระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสบแม่ข่า พร้อมใช้งานระบายน้ำ ชลประทานเชียงใหม่ เดินเครื่องทดสอบสร้างความมั่นใจให้ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่สบแม่ข่า

วันที่ 8 ส.ค. 67 เวลา 13.30 น. นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายศิริฉัตร บัวพุทธา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 8 โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างกล ลงพื้นที่พบปะ นายก อบต.สบแม่ข่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ตำบลสบแม่ข่า รวม 5 ตำบล เพื่อทำการทดสอบระบบของประตูระบายน้ำและโรงสูบน้ำพลังไฟฟ้าสบแม่ข่า

ทั้งนี้มีรายงานว่า ผลการทดสอบระบบประตูระบายน้ำสบแม่ข่า ระบบสูบน้ำพลังไฟฟ้า สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิงได้เป็นอย่างดี การทำงานของประตูระบายน้ำสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และสามารถรองรับการระบายน้ำจากคลองแม่ข้าน้อย ซึ่งรับน้ำทั้งจากตัวเมืองเชียงใหม่ผ่านตำบลป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ น้ำในพื้นที่ที่คลองแม่ข่าน้อยไหลผ่าน ซึ่งโรงสูบน้ำสบแม่ข่าเป็นหนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 800 ไร่

ด้าน นายเดช กันทะวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสบแม่ข่า กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 65 ที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมประมาณ 200 กว่าครัวเรือน ทั้งหมด 4 หมู่บ้าน ในหมู่ที่ 2 – 5 ส่วนหมู่ที่ 1 มีน้ำท่วมเล็กน้อยเพราะเป็นพื้นที่สูง ส่วนที่เหลือนั้นน้ำค่อนข้างสูง บางจุดท่วมหัวก็มี ทำให้ชาวบ้านต้องขึ้นมาอาศัยอยู่บนถนนในช่วงที่เกิดอุทกภัย พื้นที่ตำบลสบแม่ข่าส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนพื้นที่การเกษตรมีประมาณ 200 ไร่ ความมั่นใจจากการทดสอบในวันนี้สามารถทำงานได้ปกติ ก็จะได้ไปประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้าน เหตุการณ์เรื่องอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ หากเกิดขึ้นแล้ว ตัวเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งไว้ที่ประตูระบายน้ำสบแม่ข่าแห่งนี้ ก็จะช่วยได้ ชาวบ้านก็จะได้อุ่นใจว่าปัญหาน้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้นเพราะมีประตูระบายน้ำและโรงสูบน้ำช่วยผลักดันน้ำให้ได้

ผู้นำชุมชน 2 ตำบล ตำบลป่าแดดและตำบลสันผักหวาน ยกมือเห็นชอบแบบปรับปรุงคลองแม่ข่าน้อย ชลประทานเชียงใหม่ เตรียมปรับปรุงช่วงพื้นที่ตำบลป่าแดด

ผู้นำชุมชน 2 ตำบล ตำบลป่าแดดและตำบลสันผักหวาน ยกมือเห็นชอบแบบปรับปรุงคลองแม่ข่าน้อย ชลประทานเชียงใหม่ เตรียมปรับปรุงช่วงพื้นที่ตำบลป่าแดด พร้อมเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนตัวเมืองเชียงใหม่ อีกทางให้เป็นแหล่งน้ำแก้ปัญหาน้ำเสีย

วันที่ 7 ส.ค. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายธีรเดช โปรณะ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม พร้อมด้วย นายณรงค์ วงค์จันทร์ทิพย์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานเชียงใหม่ เข้าประชุมชี้แจงแบบก่อสร้าง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำ ปรับปรุงอาคารป้องกันตลิ่งคลองแม่ข่าน้อย ระยะที่ 3 ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ความยาว 900 เมตร เพื่อปรับปรุงแหล่งน้ำสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่า ตลอดจนปรับปรุงระบบระบายน้ำและระบบผันน้ำต่างๆ ในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ตามศักยภาพลุ่มน้ำ และสามารถป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองเชียงใหม่ด้านทิศตะวันตกไม่ให้เกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและสามารถเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ โดยมี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ นายสิงห์วัน ไชยวงศ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าแดด พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมรับฟังเลือกแบบการก่อสร้าง ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ในที่ประชุมทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้มีแบบก่อสร้างนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา ทั้งหมด 3 แบบ โดยที่ประชุมมีมติได้เลือกแบบที่ 2 สำหรับใช้ในก่อสร้างเพื่อการปรับปรุงคลองแม่ข่าในช่วงพื้นที่ตำบลป่าแดด โดยจะทำลักษณะคล้ายกับคลองแม่ข่า ช่วงชุมชนระแกง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รูปแบบจะก่อสร้างเป็นบล็อกสำหรับทำเป็นขอบตลิ่ง และสามารถปลูกต้นไม้เล็กๆ ไม้ดอบ ลงในแต่ละบล็อกได้ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับตลิ่งของคลองแม่ข่า

หลังจากการประชุมครั้งนี้ จะได้มีการสรุปข้อมูลเพื่อหาผู้ดำเนินการในการก่อสร้างตามแผนงานของโครงการ พร้อมกันนี้ในที่ประชุมได้เสนอให้ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ ทำการต่อยอดในเส้นทางการก่อสร้างในอนาคต ให้มีเส้นทางเดิน และเส้นทางที่รถเข้าไปในพื้นที่ได้ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต และยังสะดวกต่อการดำเนินการของท้องถิ่นที่จะเข้าไปดูแลรักษา กำจัดผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำ และขุดลอกคลองแม่ข่าต่อไป

ป่าไม้ แม่แจ่มฟิตจัด สนธิกำลังบุกค้นบ้านเป้าหมายในพื้นที่ ยึดได้ทั้งไม้ประดู่แปรรูป และหัวกระทิง 2 หัว

ป่าไม้ แม่แจ่มฟิตจัด สนธิกำลังบุกค้นบ้านเป้าหมายในพื้นที่ หลังทราบว่าซุกซ่อนไม้หวงห้ามไว้จำนวนมาก และยังพบหัวกระทิง 2 หัว เตรียมติดตามจับกุมตัวคนกระทำผิดมาดำเนินคดี

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เวลา 15.00 น. ตามข้อสั่งการของ ว่าที่พันตรีนรินทร์ ปิ่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) สั่งการให้ชุดปฏิบัติพิเศษป่าไม้ สจป.1 (เชียงใหม่) บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 3 ภาคเหนือ (สปป.3) กรมป่าไม้ , เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ , เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.23 (นางแล) สจป.1(เชียงใหม้)​ กรมป่าไมั , หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) กรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และพัน​ธุ์พืช , เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอแม่แจ่ม พร้อมเจ้าหน้าที่สมาชิก อส. และกำนันตำบลช่างเคิ่ง ผู้ใหญ่บ้านช่างเคิ่งบน หมู่ที่ 12 ได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นบริเวณ บ้านเลขที่ 122/1 หมู่ที่ 12 ตำบลช้างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตามหมายศาลจังหวัดฮอด ที่ 79/2567 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 หลังจากสืบทราบว่า มีการลักลอบแปรรูปไม้และนำไม้หวงห้ามซุกซ่อนไว้ภายในบ้านหลังดังกล่าว

ผลจากการเข้าตรวจค้น ทางเจ้าหน้าที่ได้พบไม้ประดู่แปรรูป ไม้สักแปรรูป จำนวนรวม​ 200​ แผ่น/เหลี่ยม​ และพบซากสัตว์ป่าสงวน​ คือหัวกระทิง​ จำนวน​ 2​ หัวซุกซ่อนภายในบ้านและโดยรอบบริเวณของพื้นที่บ้านดังกล่าว จึงได้จัดทำบันทึกตรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นจะได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการร่วมกันบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและในเขตป่าอนุรักษ์ บริเวณท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่