ประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงรายจับมือเครือข่ายจัดงานประจำปี “ป๊ะ ปุ๊ แป๋ง เปี๊ยะ ปี2”: จับเข่าเล่าเรื่องเพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋ เพื่อเชื่อมเพื่อนภาคีร่วมประกาศเจตนารมณ์ หวังขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงปกป้องเยาวชนในภาคเหนือตอนบน
เชียงราย 10 ธ.ค.67 – เร็วๆ นี้ที่บ้านสิงหไคล (มูลนิธิมดชนะภัย) ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “ป๊ะ ปุ๊ แป๋ง เปี๊ยะ ปี2”: จับเข่าเล่าเรื่องเพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋ โดย นางกัญญานันท์ ตาทิพย์ ผู้จัดการเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ประชาคมงดเหล้าฯและภาคีเครือข่ายจังหวัดเชียงรายจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสื่อสาร การแสดงออก มีพื้นที่สร้างสรรค์และเชื่อมเครือข่ายเด็กเยาวชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ โชว์ เชื่อมและกำหนดแนวทางการพัฒนาของเพื่อนภาคีเครือข่าย : เพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋ และเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2566/67 ของประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงราย ภายในงานมีทั้งการ ออกบู๊ธนิทรรศการผลการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์ของชุมชนคนสู้เหล้าประจำปี 2566/67 การแสดงของเด็กเยาวชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานพัฒนาเด็กเยาวชนให้ลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สุขภาพจิต ยาเสพติดและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การเสวนาแนวทางการพัฒนาภายใต้กรอบคิด “จับเข่าเล่าเรื่องเพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋” การแสดงของเครือข่ายเยาวชนจังหวัดเชียงรายและประกาศเจตนารมณ์สานพลังเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)
ขณะที่นายฤทธิรงค์ หน่อแหวน ประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากจังหวัดเชียงรายที่มีพื้นที่ 18 อำเภอ 124 ตำบล 1,751 หมู่บ้าน โดยมีสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจังหวัดเชียงราย พบว่า อัตราการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในปี 2564 พบว่า มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ จากการคัดกรองข้อมูลพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในโปรแกรม Jhcis และ Hosxp ระบบ special pp ปีงบประมาณ 2566 มีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 755,935 ราย ได้รับการคัดกรองจำนวน 300,059 ราย คิดเป็นร้อยละ 39.69 โดยแยกตามพฤติกรรมการดื่มดังนี้ ไม่เคยดื่มเลยจำนวน 160,251 ราย คิดเป็นร้อยละ 53.40 เคยดื่มสุราแต่หยุดมาแล้ว 1 ปีขึ้นไปจำนวน 32,778 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.92 มีพฤติกรรมดื่มสุรา จำนวน 96,108 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.03 เมื่อมีการจำแนกปริมาณการดื่มสุราเพื่อประเมินความเสี่ยงในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามระบบ Assist พบว่า มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีระดับความเสี่ยงต่ำจำนวน 89,646 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.28 มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีระดับความปานกลางจำนวน 5,766 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.00 มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีระดับความเสี่ยงสูง จำนวน 696 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.72 มีการส่งต่อเพื่อรับการบำบัดช่วยเลิกจำนวน 266 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.21 (ข้อมูลจากรายงานสรุปผลการดำเนินงานการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ 2566 ณ วันที่ 30 เมษายน 2566)
ในภารกิจการทำงานทางประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ เน้นการป้องกันและการลด ละ เลิกของนักดื่ม นักสูบ นักเสพทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ บูรณาการภาคีเครือข่ายสร้างเสริม งานบุญประเพณีปลอดเหล้าระดับพื้นที่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยบูรณาการกับกลไก พชอ. และพัฒนาศักยภาพยกระดับแกนนำคนทำงานในพื้นที่ชุมชนสุขปลอดเหล้า ให้สามารถขับเคลื่อนงานต่อเนื่องของชมรมคนหัวใจเพชร เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายพระภิกษุสงฆ์ เครือข่ายสถานศึกษาและเครือข่ายเยาวชนอำเภอป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ YSDN (Youth Stop Drink Network) ซึ่งในพื้นที่ 7 อำเภอคือ 1) อำเภอเวียงชัย 2) อำเภอเทิง 3) อำเภอแม่จัน 4) อำเภอพาน 5) อำเภอเวียงป่าเป้า 6) อำเภอแม่สาย และ7) อำเภอเชียงแสน
สำหรับงาน “ป๊ะ ปุ๊ แป๋ง เปี๊ยะปี2”: จับเข่าเล่าเรื่องเพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋ ปีนี้ เป็นการจัดงานที่มีเป้าหมายเชิญชวนแกนนำพื้นที่ เพื่อนภาคีเครือข่ายในจังหวัดเชียงราย มานำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2566/67 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แชร์ โชว์ เชื่อมเพื่อนภาคี การแสดงผลงานและเป็นพื้นที่กลางที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเยาวชนและทุกคน อีกทั้งมีการประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการพัฒนาสังคมสร้างสรรค์ เป็นการขับเคลื่อนงานสนับสนุนให้แผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย เน้นสานพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานรณรงค์เรื่องดังกล่าวของทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในทุกภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันตระหนักรู้ในการสร้างเกราะป้องกันให้กับเยาวชนต่อไป
โอกาสนี้ทางภาคีเครือข่ายฯ ยังได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการพัฒนาสังคมสร้างสรรค์ด้วย โดยมีเจตนารมณ์ดังนี้ 1. ร่วมกันขับเคลื่อนให้เด็กและเยาวชนของจังหวัดเชียงรายมีสุขภาวะที่ดี โดยมีความรู้ด้านสุขภาพและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การไม่ใช้สารเสพติด รวมถึงสุขภาวะทางเพศและ สุขภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม 2. หน่วยงานต่างๆจะร่วมกันขับเคลื่อนงานในประเด็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนในรูปแบบการบูรณาการการทำงานเพื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาวะ สร้างสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์และปลอดภัย พัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กและเยาวชน 3. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม อาทิ เครือข่ายสารวัตรนักเรียน บุคลากรด้านการศึกษา บุคลากรมูลนิธิและสมาคมต่างๆ ด้วยการจัดอบรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน สนับสนุนสื่อการเรียนรู้ สนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคมและสติปัญญาในเด็กและเยาวชน และ 4. การจัดทำฐานข้อมูล ด้านสุขภาวะและการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงการออกแบบกิจกรรมปฏิบัติการและข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการทำงานเชิงรุก ที่สอดคล้องกับบริบทและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง.
ผู้เขียน: editor2
ม.ก.MOU เทศบาลตำบลป่าไผ่ทำ’โรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ’ ต้นแบบ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัย
สถานีวิทยุ ม.ก.เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุต่อเนื่อง ทำ mou ‘โรงเรียนผู้สูงวัยทางอากาศ’ต้นแบบเพิ่มอีกที่ @เทศบาลตำบลป่าไผ่ จ.เชียงใหม่
จากข้อตดลงความร่วมมือครั้งนี้ทั้งสององค์กร จะร่วมมือในการส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูลการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อดิจิทัล ซึ่งหน่วยงาน ทั้งสองมีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายและประสานความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านสุขภาพ สาธารณสุข การดูแลตัวเองของผู้สูงอายุและผู้ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ ในพื้นที่ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครอบคลุม มีความรู้ ความเข้าใจ ภายใต้โครงการ “โรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ เทศบาลตำบลป่าไผ่” ผ่านช่องทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อดิจิทัล ของเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจให้เป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าและสามารถปรับตัว อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยการผลิตรายการต้นแบบหลักสูตร“การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดเชียงใหม่ (สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้อ 1 เทศบาลตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จะให้การส่งเสริม ประสานงานกับชมรมผู้สูงอายุ ของเทศบาลส่วนตำบลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดเลือกผู้สูงอายุ และสนับสนุนเอกสารบทเรียน แบบทดสอบสำหรับแจกให้กับผู้สูงที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ เทศบาลตำบลป่าไผ่
ข้อ 2 สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดเชียงใหม่ (สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่) นำองค์ความรู้และหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อาทิ ด้านการดูแลสุขภาพตัวเอง ด้านโภชนาการ ด้านสิทธิและสวัสดิการสังคม สำหรับผู้สูงอายุ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ตามผังรายการหลักของสถานีวิทยุ ม.ก. โดยถ่ายทอดผ่านสัญญาณเครือข่ายของสถานี วิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ AM 612 kHz ซึ่งเป็นฐานในการดำเนินงานข้างต้น และผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง ทั้ง 4 ภูมิภาค และสื่อดิจิทัล (ตามความเหมาะสม) และเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงจำนวน 42 เครื่อง เพื่อส่งมอบให้กับผู้สูงอายุ ที่เข้าร่วมโครงการ
ข้อ 3 ร่วมกันสร้างแรงจูงใจ กระตุ้น หรือหาสิ่งเร้าเพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงความจำเป็น ในการพัฒนาตนเอง การดูแล การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมสุขภาพที่ดีของตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ และสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มผู้สูงอายุสนใจมารับฟังและรับชมรายการ “โรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ” มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นโครงการรายการต้นแบบผสมผสาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มผู้สูงอายุ และจะพัฒนาไปสู่สื่อรูปแบบอื่น อันจะเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุในอนาคตต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี
ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานนะคณะกรรมการบริหารและผู้จัดการมูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า ภายใต้พันธกิจหน้าที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุกองค์กรในสังกัด รวมถึงสถานีวิทยุ ม.ก. คือ การบริการวิชาการเพื่อสังคมร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ให้ความสำคัญที่จะต้องพัฒนาคนรองรองรับสังคมสูงวัย จึงได้ขยายความร่วมมือกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเกี่ยวข้องดำเนินภารกิจในด้านดังกล่าวมาต่อเนื่องและโครงการ “โรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ” ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ได้ดำเนินการนำร่องเป็นต้นแบบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่นำร่องที่เทศบาลเมืองแม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ มีผลสำเร็จเกิดขึ้นกับประชาชนที่จับต้องได้ชัดเจน ในครั้งนี้ได้มีความร่วมมือกับเทศบาลตำบลป่าไผ่แห่งนี้ ซึ่งจะได้ให้ความรู้ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อดิจิทัลของเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก. ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะเชื่อมโยงเครือข่ายและประสานความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านสุขภาพ สาธารณสุข การดูแลตัวเองของผู้สูงอายุและผู้ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ ในพื้นที่ตำบลป่าไผ่ ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครอบคลุม มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจให้เป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าและสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยการผลิตรายการต้นแบบหลักสูตร “การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ”
ด้าน ดร.ไชยยันต์ วิริยา นายกเทศมนตรีตำบลป่าไผ่ กล่าวขอบคุณ ม.เกษตรศาสตร์และคณะ พร้อมยืนยันในความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในพื้นที่อย่างเต็มที่และถือเป็นโอกาสอันดียิ่งในการได้ร่วมภารกิจสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมในครั้งนี้ โดยมีผู้สูงอายุสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน 42 คน คาดหวังว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีและสร้างโอกาสขยายความร่วมมือในอนาคตต่อไป.
กกล.ผาเมืองแถลงผลงาน 9 เดือนปีงบ’67 สกัดจับยาบ้า 3 เท่าของปี’66 ได้ของกลางกว่า 150 ล้านเม็ด
กกล.ผาเมืองแถลงผลงานรอบ 9 เดือนยึดยาเสพติดได้ 3 เท่าปีผ่านมา ยาบ้ามากสุดกว่า 150 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้าน
เชียงใหม่ 25 มิ.ย.- ที่กองกำลังผาเมือง(กกล.ผาเมือง)จังหวัดเชียงใหม่ พลตรีประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง/ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกองกำลังผาเมือง พร้อมด้วยนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอนุชา ไชยวงค์ ผอ.ส่วนบังคับใช้กฎหมาย ปปส.ภาค 5 ผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่และเกี่ยวข้องร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานรอบ 9 เดือนปีงบประมาณ 2567 ตามนโยบายในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล สั่งการให้หน่วยกำลังป้องกันชายแดน สกัดกั้นยาเสพติดให้ได้ตั้งแต่พื้นที่แนวชายแดนนั้น หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) โดยกองกำลังผาเมือง ได้เปิดยุทธการในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายในห้วงตั้งแต่ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน หน่วยสามารถสกัดกั้นยาเสพติดได้ 318 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหาได้ 327 คน ตรวจยึดยาบ้าได้มากกว่า 150.4 ล้านเม็ด, เฮโรอีน 256.7 กิโลกรัม, ไอซ์ 1,248.3 กิโลกรัม, ฝิ่น 179.5 กิโลกรัม และคีตามีน 29.2 กิโลกรัม กลุ่มขบวนการเสียชีวิต 29 ศพ จากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ จำนวน 38 ครั้ง ซึ่งถือว่า สามารถดำเนินการได้มากกว่า 3 เท่าของปีที่ผ่านมา ซึ่งหากยาเสพติดที่ตรวจยึดได้ดังกล่าว ถูกลำเลียงเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมูลค่าของยาเสพติดที่จำหน่ายถึง 24,107 ล้านบาท (24,107,483,200 บาท)
โอกาสนี้ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมืองยังได้ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องแถลงข่าวผลการตรวจยึดยาเสพติดยาเสพติดให้โทษประเภท 1(ยาบ้า)จำนวน 1,600,000 เม็ด ที่ชายแดน อ.ฝาง คืนที่ผ่านมา ซึ่งหากเล็ดลอดสู่ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 240,000,000 บาท (สองร้อยสี่สิบล้านบาท)
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พลตรีประพัฒน์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยในพื้นที่ยังคงเพิ่มความเข้มงวดในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด อย่างต่อเนื่องต่อไปเพราะพวกการเคลื่อนไหวของกระบวนการยาเสพติดอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นห้วงฤดูกาลไหนโดยเฉพาะยามวิกาลเพราะผลจากการปฏิบัติหน้าที่ผ่านมามักจะเกิดการปะทะในช่วงกลางคืนอยู่เป็นประจำอีกทั้งยังพบว่า มีการผลิตยาเสพติดในประเทศตรงข้ามเพื่อรอทะลักเข้ามาอีกจำนวนมหาศาลจึงต้องบูรณาการกับทุกหน่วยเพื่อเฝ้าระวังป้องกันอย่างเต็มที่ทำให้มีการจับกุมได้บ่อยครั้งและมากกว่าอดีต
ปปส.ภ.5 เพิ่มเติมว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณยาบ้าพบมากขึ้นเนื่องจากมีการผลิตสูงและใช้สารตั้งต้นที่หาได้ง่ายความเข้มข้นลดลงปริมาณความต้องการทั้งในประเทศไทยและประเทศที่ 3 ก็มีมาก ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ปริมาณยาเสพติดมีการผลิตสูง ส่วนในเรื่องของการขยายผลยึดทรัพย์ก็ยังคงมีต่อเนื่องและได้เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ระบุว่า ส่วนผสมหลักแอมเฟตามีนในยาบ้ามีสัดส่วนลดลงจากอดีตมีความเข้มข้น 20% ปัจจุบันลดเหลือ 14-15% เท่านั้นทำให้เพิ่มปริมาณการเสพและราคาก็ไม่แพงด้วย ซึ่งยังไม่นับรวมสารเสพติดในกลุ่มวัยรุ่นนักเที่ยวกลางคืนอีกหลายชนิดก็เริ่มพบเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก
ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวเสริมว่า ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่เพิ่มความเข้มข้นใน 90 วันนั้นได้กำชับยั้งทุกหน่วยเพื่อเฝ้าระวังเต็มที่โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฝ่ายปกครองท้องที่ตามแนวตะเข็บชายแดนกว่า 270 กิโลเมตรใน 5 อำเภอชายแดนหลัก เน้นเรื่องของชุมชนเข้มแข็งเพื่อเป็นเกราะป้องกันสำคัญในการร่วมมือกับท่านเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย.