มทร.ล้านนา ส่งมอบเวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภค บริโภคจากเครือข่าย อว. แก่ผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่

มทร.ล้านนา ส่งมอบเวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภค บริโภคจากเครือข่าย อว. แก่ผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมวางแนวทางฟื้นฟูหลังน้ำลด

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ณ สนามด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี ผศ.สิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน นโยบายและยุทธศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศิรประภา ชัยเนตร ผู้ช่วยอธิการบดี และ อาจารย์อัคคสัจจา ดวงสุภาสิญจ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ได้ร่วมกันส่งมอบผลิตภัณฑ์และสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ สิ่งของที่ส่งมอบประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งของอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่ได้รับการบริจาคจากเครือข่ายสถาบันการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงพันธมิตรภาครัฐและเอกชน โดยผลิตภัณฑ์ขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้รับการสนับสนุนจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการนี้

คุณศรีพรรณ หลุยจำวัล นายกสโมสรโรตารีสารภีเชียงใหม่ ได้เข้ารับมอบสิ่งของในนามของสโมสรโรตารีสารภีเชียงใหม่ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ต่อไป
นอกจากการให้ความช่วยเหลือในช่วงน้ำท่วมแล้ว ผศ.สิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลดที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการต่อไปว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาได้เตรียมแผนการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลดอย่างครบวงจร โดยจะเน้นใน 4 งานหลัก คือ”
1. การประกอบอาหาร และผลิตน้ำดื่มแจกจ่ายผุู้ประสบภัย
2. การฟื้นฟูทำความสะอาดที่อยู่อาศัย โดยกลุ่มจิตอาสาของมหาวิทยาลัย
3. การซ่อมสร้างเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบน้ำ ระบบไฟ มหาวิทยาลัยจะจัดส่งคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การตรวจสอบระบบไฟฟ้า และการฟื้นฟูอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
4. การสร้างอาชีพใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยมีแผนการจัดอบรมอาชีพใหม่ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐในการจัดอบรมทักษะใหม่ ๆ เช่น การแจกจ่ายเมล็ดพันธ์ุผักสวนครัว จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์ การผลิตสินค้าชุมชน และการพัฒนาอาชีพในด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนายังคงมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในการช่วยเหลือชุมชน ไม่เพียงแต่ในช่วงวิกฤตเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนกลับมาเข้มแข็งและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน

Bakery Rock Concert Live In Chiang Mai  ครั้งแรกในเชียงใหม่ !  ณ ท่าช้าง คาแฟ่ เชียงใหม่ 

Bakery Rock Concert Live In Chiang Mai  ครั้งแรกในเชียงใหม่ !  ณ ท่าช้าง คาแฟ่ เชียงใหม่ 

วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 เวลา 16.30 น.  ณ ท่าช้าง คาแฟ่ เชียงใหม่ จัดงานแถลงข่าวคอนเสิร์ตช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ของพี่น้องชาวเชียงใหม่  กับงาน  Bakery Rock Concert Live In Chiang Mai  ถือเป็นคอนเสิร์ตแรกที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่าง ค่ายเบเกอรี่มิวสิค ค่ายเพลงทรงอิทธิพลที่อุ่นหนาฝาคั่ง ไปด้วยศิลปินชั้นนำ ระดับตำนานมากมาย และ ท่าช้างคาเฟ่ ผู้นำด้านดนตรีและความบันเทิงแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่

นายกมล สุโกศล แคลปป์ หรือ พี่สุกี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเบเกอรี่มิวสิค และเลิฟอีส ทั้งยังเป็นมือกีต้าร์วงพรู ได้เล่าถึงว่ามีความตั้งใจที่จะจัดเบเกอรี่ร็อคมิวสิค ด้วยทั้งจากความชอบของตนเอง และยังคงคิดถึงห้วงเวลาแห่งวันวานที่เสียงดนตรีร็อคกระหึ่มฮอลล์จึงเกิดงานคอนเสิร์ตเบเกอรี่ร็อคขึ้น ทั้งนี้จะเกิดขึ้นที่กรุงเทพก่อน และ จังหวะเหมาะที่พี่สุกี้เห็นคือ แลนมาร์คแห่งเบเกอรี่นั้นอยู่ที่เชียงใหม่  เราจะไม่ไปจัดที่เชียงใหม่ได้ยังไง จึงเกิดการคุยและตกลงร่วมมือกันกับ “ท่าช้างคาเฟ่” 

นายวมินทร์  ประกอบสุข หรือ จอมท่าช้าง  ผู้บริหารท่าช้าง เมื่อพี่สุกี้ติดต่อมา แน่นอนว่าสนใจและตอบตกลงร่วมมือทันที  ด้วยเป็นสาวกชาวเบเกอเลี่ยน และรักในดนตรีร็อคอยู่แล้ว แน่นอนว่าอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ เพื่อชาวเชียงใหม่และชาวเหนือ ตั้งใจอย่างยิ่งว่าการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ต้องคืนความสุขให้ชาวเชียงใหม่ ทั้งเสียงเพลง การบริการจากการชมคอนเสิร์ต และด้วยสถานการณ์วิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวเชียงใหม่ จอมท่าช้าง จึงตัดสินใจ ปรับเป็น Concert Charity โดยยอดการจำหน่ายบัตร หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว นำช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อน ของพี่น้องชาวเชียงใหม่  มอบเข้า “กองทุนพลังน้ำใจนครเชียงใหม่” 

กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแล บรรเทาความเดือดร้อน ของพี่น้องในชุมชน เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ การดูแลขับเคลื่อนกองทุนดังกล่าว  ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ จากตัวแทนชุมชน เข้าร่วมตัดสินใจ การบรรเทาความเดือดร้อนในแต่ละพื้นที่  เริ่มดำเนินงานจากเงินบริจาค งาน Bakery Rock Concert Live In Chiang Mai โดยนายอัศนี  บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ให้เกียรติร่วมเป็น ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกองทุน

“คอนเสิร์ตเบเกอรี่ร็อค” ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ณ เชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต พบกับศิลปิน 3 วงที่จะมาอยู่บนเวทีเดียวกัน ครั้งแรกที่เชียงใหม่ !!!              

รมช.มหาดไทยและรมช.กลาโหม ลงพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เร่งช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว ช้างอีกจำนวน 9 เชือก

รมช.มหาดไทยและรมช.กลาโหม ลงพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เร่งช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว ช้างอีกจำนวน 9 เชือกที่ตกค้างเนื่องจากน้ำป่าไหลหลากเข้าพื้นที่

วันนี้ (4 ต.ค.67) ที่ ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตำบลกื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผอ. ศปช.(ส่วนหน้า) และพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ปรึกษา ศปช. (ส่วนหน้า) พร้อมด้วย นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำส่วนราชการ ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว และช้างจำนวน 126 เชือก โดยคลื่อนย้ายขึ้นสู่ที่สูงแล้ว 117 เชือก คงเหลือช้างอีกจำนวน 9 เชือก ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุให้น้ำท่วมในพื้นที่ศูนย์บริบาลช้าง นางแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ท้องที่ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจากฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บ้านแม่ตะมานและศูนย์บริบาลช้างเป็นเหตุให้สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแลได้รับความเดือดร้อน โดย รมช. ทั้งสองท่านได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด


ทั้งนี้ ได้ประสานทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่จิตอาสา นำเรือท้องแบน ช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว ที่ประสบภัยภายในมูลนิธิช้างและสิ่งแวดล้อมแม่แตง โดยได้เคลื่อนย้ายช้างขึ้นที่สูงแล้ว เหลือเพียงบ้างส่วนที่ยังเคลื่อนย้ายออกมาไม่ได้ เนื่องจากเป็นช้างที่มีความดุ ซึ่งได้ประสานผู้เชียวชาญด้านช้างเข้าให้การช่วยเหลือ พร้อมทั้งสั่งการให้ ปภ. จัดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เพื่ออำนวยการ สั่งการ และประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย รวมถึงให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอำเภอแม่แตง จำนวน 2 จุด ได้ แก่ บริเวณวัดแม่ตะมาน และวัดเมืองกื้ด และสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามพยากรณ์ต่อไป

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอแม่ริม อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันป่าตอง อำเภอหางดง อำเภอจอมทอง และอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

บ่ายวันนี้(4 ต.ค.67) ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 60 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายชัชวาล ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทาน เพื่อมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอแม่ริม อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันป่าตอง อำเภอหางดง อำเภอจอมทอง และอำเภอสารภี อำเภอละ 500 ชุด โดยมี นางกันยา ปัญญา รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ และ คณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมส่งมอบ ให้แก่ตัวแทนราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่ริม จำนวน 200 คน ยังความปลาบปลื้มแก่ราษฎรที่ได้รับสิ่งของพระราชทาน ในครั้งนี้ เป็นอย่างยิ่ง


ตามที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน และลุ่มน้ำกวงตอนบนทำให้เกิดสถานการณ์น้ำปิง และน้ำกวงล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่อำเภอแม่ริม อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันป่าตอง อำเภอหางดง อำเภอจอมทอง และอำเภอสารภี ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัย ยังเริ่มคลี่คลายและความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ

สำหรับการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นในบางส่วนแล้ว เช่น การแจกจ่ายเครื่อง อุปโภคบริโภค การสูบน้ำท่วมขัง การขนย้ายผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยภาครัฐและเอกชน การดูแลระบบสุขภาพ ในเบื้องต้นให้กับกลุ่มเปราะบาง จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำหรับในด้านการฟื้นฟู เยียวยาการช่วยเหลือประชาชน ในภาคการเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์ ได้สำรวจและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบราชการต่อไป

มทร.ล้านนา ตาก จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

มทร.ล้านนา ตาก จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมทองกวาว อาคารเรียนรวมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายสถานศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู กับ สถาบันการศึกษาอาชีวศึกษา โดย ผศ. ดร.ทนงศักดิ์ ยาทะเล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษา ร่วมพิธี มีสถานศึกษาร่วมลงนามความร่วมมือจำนวน 19 แห่ง ได้แก่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่, วิทยาลัยเทคนิคตาก, วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร, วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด,วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์, วิทยาลัยเทคนิคสารภี, วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย, วิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพณิชยการและเทคโนโลยี, วิทยาลัยอาชีวศึกษานอร์ทฝาง, วิทยาลัยการอาชีพขาณุวรลักษณบุรี, วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราราชินีแม่ฮ่องสอน, วิทยาลัยการอาชีพบ้านตาก, วิทยาลัยการอาชีพบ้านโฮ่ง, วิทยาลัยการอาชีพพิชัย, วิทยาลัยการอาชีพฝาง, วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง, วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย, วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่และวิทยาลัยการอาชีพเถิน

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี ( 4 ตุลาคม 2567 – 3 ตุลาคม 2567) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านวิชาชีพครูแก่นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต ให้ได้ฝึกภาคปฏิบัติควบคู่กับภาคทฤษฎีและนำไปปฏิบัติงานสอนจริงในสถาบันการอาชีวศึกษา สร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันการอาชีวศึกษาด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทรัพยากรด้านการเรียนการสอนระหว่างกัน โดยมหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิตเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และสถาบันการอาชีวศึกษารับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู (ฝึกสอน) เป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนด และกำหนดภาระงานหรือหัวข้อโครงงานที่สอดคล้องกับวิชาชีพและประสบการณ์การทำงานของนักศึกษา

สถานการณ์น้ำในสวนสัตว์เชียงใหม่ บ่ายวันนี้ (4 ต.ค. 67)  มีน้ำไหลบ่าจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

สถานการณ์น้ำในสวนสัตว์เชียงใหม่ บ่ายวันนี้ (4 ต.ค. 67)  มีน้ำไหลบ่าจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

บ่ายวันนี้ (4 ต.ค. 67) นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่เปิดเผยให้กับสื่อมวลชนว่า จากการที่ฝนตกอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมา สถานการณ์ปริมาณน้ำในสวนสัตว์เชียงใหม่ มีน้ำไหลบ่าจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจทางน้ำผ่านทั้ง 4 ลำห้วย ได้แก่ ลำห้วยผาลาด ลำห้วยตาดชมพู ลำห้วยกู่ขาว และลำห้วยแก้ว มีปริมาณน้ำไหลอย่างต่อเนื่องแต่ไม่มีการไหลทะลักท่วมออกนอกพื้นที่ บริเวณพื้นที่รับน้ำโดยรอบสามารถรองรับการไหลของน้ำได้เป็นอย่างดี สำหรับลักษณะภูมิประเทศทั่วไปพบถนน ทางเข้าบ้านพักพนักงานชำรุดจากการทรุดตัวของดินมีความลึกประมาณ 1.2 เมตร ซึ่งบริเวณนั้นเป็นพื้นดินชายขอบลำห้วยแก้วที่มีน้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นลำห้วยโค้งความแรงของน้ำได้ไปปะทะกับขอบกันดินทำให้ดินด้านล่างถูกน้ำกระแทกและทรุดตัวลง


สำหรับส่วนจัดแสดงและสัตว์ต่างๆ ในสวนสัตว์เชียงใหม่ ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด นายวุฒิชัยฯ ผอ.สวนสัตว์เชียงใหม่ แจ้งสถานการณ์น้ำให้ ทราบ และเบื้องต้นได้รายงานให้กับผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับทราบเพื่อขออนุมัติงบฉุกเฉินของต้นสังกัดในการปรับปรุงซ่อมแซมถนนและอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ต่อไป

กกล.ผาเมือง สนับสนุนทีมแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ บินด่วนรับผู้ป่วยวิกฤติในพื้นที่ห่างไกล

กกล.ผาเมือง สนับสนุนทีมแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ บินด่วนรับผู้ป่วยวิกฤติในพื้นที่ห่างไกล

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 67 เวลา 1400 ชุดปฏิบัติการบินทหารบก หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง จัด ฮ.ท.212 จำนวน 1 เครื่อง สนับสนุนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รับผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ เพศชาย อายุ 66 ปี มีอาการชักเกร็งจากอาการทางโรคจิตเภท จาก โรงพยาบาลปาย อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาบิน ประมาณ 40 นาที (ไม่สามารถลำเลียงทางรถยนต์ได้เนื่องจากมีดินสไลด์ขวางถนน) ปัจจุบันผู้ป่วยถึงมือแพทย์ปลอดภัย

มทร.ล้านนา เชียงราย ร่วมกับ PEA ลงพื้นที่ปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในครัวเรือน ในพื้นที่ประสบอุทกภัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

มทร.ล้านนา เชียงราย ร่วมกับ PEA ลงพื้นที่ปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในครัวเรือน ในพื้นที่ประสบอุทกภัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ซ่อมแซม แก้ไขและปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในครัวเรือนในพื้นที่ประสบอุทกภัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการ “ชุมชนปลอดภัย ใช้ไฟ PEA” นำโดย ผศ.ดร.รัฐพล เกติยศ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมอาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้า จำนวน 30 คน ระดมทีมเข้าฟื้นฟู แก้ไขซ่อมแซมระบบไฟฟ้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า โดยช่างไฟฟ้าจากโครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า และช่างไฟฟ้าตามแผนงานขยายผลสู่โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 ช่างไฟฟ้า เป้าหมาย ไม่ต่ำกว่า 10,000 ครัวเรือน ในพื้นที่บริการของ PEA ที่ประสบอุทกภัย ระยะเวลาในการดำเนินงานภายในปี 2567 หรือจนกว่าจะกลับคืนสู่สภานการณ์ปกติตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ เช่น ติดตั้งเต้ารับ สวิสซ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า ตู้เมนเบรกเกอร์ เละเครื่องตัดไฟรั่ว เป็นต้น

 

“Chiangmai TRUCKS & TOYS” ครั้งแรกของการรวม Art Toys และ Food Truck

“Chiangmai TRUCKS & TOYS” ครั้งแรกของการรวม Art Toys และ Food Truck

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เชิญพบกับครั้งแรกของการรวม Art Toys และ Food Truck ที่รวบจบครบทั้งความฟินและความอร่อยกว่า 50 ร้านค้า มาไว้ที่งานนี้งานเดียว ในงาน“Chiangmai TRUCKS & TOYS”
วันที่ 3-7 ตุลาคม 2567 ณ ลานน้ำพุชมดอย ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

เอาใจสายจุ่ม สายจิ้ม สายกิน ไม่ควรพลาด และสนุกกับกิจกรรมภายในงาน ทั้ง K-Pop Random Dance & Breaking Dance Free Stage , POKEMON GO COMMUNITY DAY และ COSPLAY FREE STAGE พร้อมลุ้นรับของรางวัลมากมาย กับ Labubu V.2 , Labubu time to chill และรางวัลพิเศษสุดกับ BAMBAM 3rd Mini Album

แล้วเจอกันที่งาน CHIANGMAI TRUCKS & TOYS วันที่ 3-7 ตุลาคม 2567 ณ ลานน้ำพุชมดอย ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

“อธิบดีกรมสุขภาพจิต” เผย “สมศักดิ์” สั่งทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ ห่วงใยเรื่องสภาพจิตใจครอบครัว บัสนักเรียนไฟไหม้

“อธิบดีกรมสุขภาพจิต” เผย “สมศักดิ์” สั่งทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ ห่วงใยเรื่องสภาพจิตใจครอบครัว บัสนักเรียนไฟไหม้

“อธิบดีกรมสุขภาพจิต” เผย “สมศักดิ์” สั่งทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ เหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ต่อเนื่อง หลัง “นายกฯ แพทองธาร” ห่วงใยเรื่องสภาพจิตใจครอบครัว พร้อมเน้นสื่อสารเข้าใจง่าย ชี้ ไม่เพียงเยียวยาญาติ แต่รวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวด้วย ส่วนเยียวยาน้ำท่วม จิตแพทย์ ตรวจแล้ว 40,268 ราย พบเครียด 1,501 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 36 ราย กำชับ เฝ้าระวังใกล้ชิด

วันนี้ 2 ตุลาคม 2567 นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการในที่ประชุมให้กรมสุขภาพจิต โดยทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยเรื่องสภาพจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นอย่างมาก พร้อมได้ฝากชื่นชมทีม MCATT ที่ได้นำทั้ง จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตลงพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ทันที รวมถึงส่งทีมไปยังจังหวัดอุทัยธานี เพื่อดูแลสุขภาพจิตครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย โดยนายสมศักดิ์ ยังได้แนะนำให้กรมสุขภาพจิต สื่อสารการดูแลสภาพจิตใจอย่างง่ายๆ เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าใจและปฎิบัติตามได้ เพราะการเยียวยาไม่ใช่เพียงแต่ครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวสาร แล้วเกิดอาการเศร้าอย่างรุนแรงด้วย

นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข ยังได้เน้นย้ำให้ทีม MCATT ของกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาดูแลจิตใจผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัยด้วย ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ที่เห็นถึงความสำคัญในการดูแลสภาพจิตใจของประชาชนหลังน้ำลดด้วย โดยกรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการส่งจิตแพทย์ ทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาฟื้นฟูจิตใจประชาชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แบ่งแผนการดำเนินการเป็น 3 ส่วน ตามระยะของผลกระทบ คือ 1.พื้นที่น้ำลดแล้ว มีการประเมินสุขภาพจิตโดยทีม MCATT จำนวน 40,268 ราย พบความเสี่ยงต่อภาวะเครียด จำนวน 1,501 ราย เสี่ยงซึมเศร้า จำนวน 215 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 36 ราย และให้การปฐมพยาบาลทางใจ ครบ 100% รวมถึงมีระบบการติดตามและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง ในระยะหลังได้รับผลกระทบ 2 สัปดาห์ – 3 เดือน จนกว่าจะไม่พบความเสี่ยง

2.พื้นที่ได้รับผลกระทบสูงมาก โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย มีการติดตามเฝ้าระวังเคสที่มีการสูญเสียไปแล้ว 400 ราย ที่มีความเสี่ยงสูงและมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจำนวน 13 ราย ซึ่งทั้งหมดมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยกรมสุขภาพจิต ยังได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิต ในพื้นที่อำเภอแม่สาย รวมถึงยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างพลังใจจากผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติด้วย และ 3.สำหรับพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน ตั้งแต่เกิดเหตุ – 2 สัปดาห์ ได้จัดทีม MCATT นำโดยจิตแพทย์ เข้าไปร่วมดูแลทั้งโรงพยาบาลสวนปรุง ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ เข้าประเมินสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเยียวยาจิตใจต่อไป