ข่าวคุณภาพชีวิต » มหาวิทยาลัยดังเชียงใหม่ จับมือขับเคลื่อนนิเวศสังคม ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยดังเชียงใหม่ จับมือขับเคลื่อนนิเวศสังคม ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ยั่งยืน

8 สิงหาคม 2024
49   0

Spread the love

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ทำ MOU ทางวิชาการร่วมมือขับเคลื่อนนิเวศสังคม หวังก้าวไปสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน ชี้องค์ความรู้ก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องเฉพาะทางเข้าถึงได้น้อย รอง ผวจ.เชียงใหม่ เชื่อจะเป็นก้าวสำคัญในการจะจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 ณ ห้องอินทนิล ชั้น 1 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (UNISERV) นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นเกียรติใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การขับเคลื่อนนิเวศสังคม เพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน” ระหว่าง สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ โดยมีผู้บริหารสถาบันการศึกษาเข้าร่วม

การริเริ่มความร่วมมือทางวิชาการในการขับเคลื่อนนิเวศสังคม เพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างความร่วมมือ ส่งเสริม และให้บริการวิชาการด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นองค์ความรู้เฉพาะทางที่ยังเข้าถึงได้น้อย จึงมีความริเริ่มจะสนับสนุนองค์ความรู้ดังกล่าว ผ่านความร่วมมือเชิงวิชาการ เช่น การอบรม สัมมนา เพื่อเพิ่มพูนและทบทวนความรู้ให้กับบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยผู้แทนสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายที่ลงนามใน MOU ได้แถลงการณ์การดำเนินงานการขับเคลื่อนนิเวศสังคม เพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน และนำเสนอการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มโรงเรียนคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชื่นชมภาคีภาควิชาการของมหาวิทยาลัยชั้นนำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ร่วมมือกันบูรณาการการทำงานด้านวิชาการ ซึ่งการลงนามใน MOU ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวความสำเร็จของทั้งสองมหาวิทยาลัยในการเสริมสร้างทัศนคติการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การสร้างพื้นฐานและแหล่งเรียนรู้ไปกับสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge – Based Society) ให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา พร้อมทั้งสามารถขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนและสังคมต่อไป