เชียงใหม่รีพอร์ต » (มีคลิป) ปปส.ภาค 5 เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2568 – 2570) “จัดอบรมวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่” (จังหวัดนำร่อง) “ขยายผลธวัชบุรีโมเดล”

(มีคลิป) ปปส.ภาค 5 เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2568 – 2570) “จัดอบรมวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่” (จังหวัดนำร่อง) “ขยายผลธวัชบุรีโมเดล”

19 ธันวาคม 2024
141   0

Spread the love

ปปส.ภาค 5 เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2568 – 2570) “จัดอบรมวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่” (จังหวัดนำร่อง) “ขยายผลธวัชบุรีโมเดล”

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายธันวา ผุดผ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดนำร่องขยายผลธวัชบุรีโมเดล ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่” โดยมี นางณิชพลัฏฐ์ วรรณคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ นายจักรินทร์ สิรินทรภูมิ นายอำเภอดอยสะเก็ด เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ ปปส.ภาค 5 ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด นายจิรพงศ์ วางวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการฯ กล่าวรายงาน โดยมีนายสว่าง ธาตุอินทร์จันทร์ ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่ และประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน 8 จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินระดับหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอดอยสะเก็ด เจ้าหน้าที่พัฒนชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปส.ภาค 5 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้

การจัดโครงการฝึกอบรมดังกล่าว สืบเนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการโครงการหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน : ชัยชนะยาเสพติดที่ยั่งยืนสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2568 – 2570 เพื่อฟื้นฟู เสริมสร้าง และพัฒนาความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน และบูรณาการต่อยอดการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน โดยแผนงานในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2567 เป็นการเตรียมการวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดินในระดับต่าง ๆ เพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดินตามแผนปฏิบัติการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2568 – 2570) ต่อไป สำนักงาน ปปส.ภาค 5 จึงร่วมกับสำนักพัฒนาชุมชน และเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินทั้ง 8 จังหวัด จัดโครงการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดนำร่องขยายผลธวัชบุรีโมเดลขึ้น ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 19 ถึงวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินหมู่บ้านในพื้นที่ทดลองนำร่อง ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดิน รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อนำไปขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในแต่ละพื้นที่อย่างบูรณาการ ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดิน แกนนำประชาชนที่ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปส.ภาค 5 ที่รับผิดชอบงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน รวมทั้งสิ้น 80 คน โดยได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ที่ผ่านการอบรมจาก สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การขับเคลื่อนงานกองทุนแม่ของแผ่นดินให้แก่ผู้เข้าอบรม

นายธันวาได้กล่าวชื่นชมการรวมพลังของภาคประชาชนในบทบาทคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน โดยการจัดอบรมในครั้งนี้จะทำให้คณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดินในหมู่บ้านของตน และหมู่บ้านใกล้เคียง ถือเป็นการขับเคลื่อนงานที่สนองพระราชปณิธานการแก้ไขปัญหายาเสพติดของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินงานครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2547 และยังคงมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีการก่อตั้งหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินไปแล้ว 3,097 หมู่บ้าน โดยจังหวัดเชียงใหม่มีหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินรวม 717 หมู่บ้าน และอำเภอดอยสะเก็ดมีหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินแล้ว 26 หมู่บ้าน ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ โดยใช้แนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน เป็นพลังที่มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริงในการเอาชนะปัญหาต่าง ๆ ในหมู่บ้าน/ชุมชนได้สำเร็จ.