เชียงใหม่ อุบัติเหตุลดลง เตรียมรับรางวัลการสวมหมวกนิรภัยดีเด่นระดับประเทศ 25 ก.ย.นี้
วันนี้ (17 ก.ย. 67) ที่ ห้องประชุม 3 ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมนิเทศเสริมพลังโครงการลดอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์ 8 อำเภอเสี่ยงสูงมาก สู่อำเภอขับขี่ปลอดภัยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดกลไกการทำงาน ของ “ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน” 8 อำเภอเสี่ยงสูง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยได้ทำ MOU ร่วมกับ สอจร. เพื่อรณรงค์สร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ตามโครงการขับเคลื่อนผ่านกลไกในระดับจังหวัด/อำเภอ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ร้อยละ 25 ภายในสิ้นปี 2567 ทั้งนี้จากสถิติพบว่า ในปี 2567 ทั่วประเทศมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 598,834 ราย เสียชีวิต 9,863 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาย อยู่ในช่วงอายุ 46-60 ปี เป็นรถจักรยานยนต์มากถึงร้อยละ 85 และจากสถิติเมื่อปี 2566 เทียบกับปี 2567 ของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าจาก 25 อำเภอมี 8 อำเภอเสี่ยง ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ แม่ริม จอมทอง ดอยสะเก็ด ฝาง สันทราย สันป่าตอง และหางดง
ด้าน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงใหม่ รายงานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ปี 2566-2567 จังหวัดเชียงใหม่ว่า มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ 2 จากเมื่อปี 2566 ที่มีการเกิดอุบัติเหตุ 1,540 ครั้ง บาดเจ็บ 964 ราย เสียชีวิต 634 ราย และในปี 2567 เกิดอุบัติเหตุลดลงเหลือ 1,400 ครั้ง บาดเจ็บ 856 ราย เสียชีวิต 570 ราย ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยง ไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 62.26 และเกิดกับประเภทถนน ในหมู่บ้านร้อยละ 44.32 ในการนี้ ปภ.เชียงใหม่ จึงได้ขับเคลื่อนเพื่อรณรงค์การลดอุบัติเหตุและสวมหมวกนิรภัย พร้อมทั้งประชุมขับเคลื่อนกับ 8 อำเภอเสี่ยง โดยร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการตั้งด่านชุมชน ทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุไม่สวมหมวกนิรภัยลดลง ดังนั้นจังหวัดเชียงใหม่จึงได้รับเลือกจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและมูลนิธิไทยโรดส์ เพื่อเข้ารับรางวัลการสวมหมวกนิรภัยดีเด่นระดับประเทศ ในวันที่ 25 กันยายน นี้
ในโอกาสนี้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบแนวทางในการเสริมพลังโครงการลดอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์ 8 อำเภอ ว่า ขอให้ทุกหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันบูรณาการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์วางแผนปรับกระบวนการทำงานให้เป็นระบบที่สามารถใช้งานได้จริง พร้อมทั้งให้หน่วยงานกรมทางหลวงและถนนในท้องถิ่นมีการปรับปรุงถนน ซ่อมแซมถนนให้เกิดความปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงทุกด้าน และขอให้ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ หมั่นตรวจสถาพรถส่วนบุคคล ยานพาหนะขนส่งสาธารณะให้เกิดความปลอดภัย นอกจากนี้ขอให้หน่วยงานด้านกฎหมาย เข้มงวดกับการใช้ข้อบังคับกฎหมายกับผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน