น้ำแม่กลางหลากท่วมบ้านน้ำลัด ต.บ้านหลวง ราษฎรออกบ้านไม่ได้ เทศบาลจัดรถรับส่ง

น้ำแม่กลางเพิ่มระดับ หลากท่วมบ้านน้ำลัด หมู่ 15 ต.บ้านหลวง เทศบาลจัดรถ 6 ล้อ เข้ารับราษฎรออกจากพื้นที่ไปทำงานไปโรงเรียน หมู่ที่ 4 บ้านติดแม่น้ำกลางเจอด้วยน้ำหลากท่วม

วันที่ 23 ก.ย.2567 เวลา 07.30 น. อำเภอจอมทอง รายงานว่า เนื่องมาจากฝนที่ตกในพื้นที่ติดต่อหลายวัน ทำให้ลำน้ำแม่กลางล้นตลิ่ง หลากท่วมปิดเส้นทาง บ้านน้ำลัด หมู่ที่ 13 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เช้าวันนี้ เทศบาลตำบลบ้านหลวงได้นำรถบรรทุก 6 ล้อ ขนาดใหญ่ วิ่งรับขนย้ายคนเพื่อการเดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียน ได้โดยสะดวก และในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ต.บ้านหลวง ซึ่งอยู่ริมน้ำแม่กลาง เกิดน้ำหลากท่วมบริเวณบ้านเรือนราษฎร ทั้งนีปริมาณน้ำน่าจะลดลงเข้าสู่สภาวะปกติภายในช่วงกลางวันวันนี้ หากไม่มีฝนตกหนักเพื่อในพื้นที่

 

อ.แม่วาง ฝนตกหนัก น้ำหลากท่วม 2 หมู่บ้าน พื้นที่ตำบลบ้านกาด

ฝนตกหนักพื้นที่แม่วาง น้ำหลากเข้าท่วม 2 หมู่บ้าน ในตำบลบ้านกาด อำเภอร่วมกับท้องถิ่นเร่งให้ความช่วยเหลือ นำกระสอบทรายกั้นมวลน้ำ

วันที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 06.00 น. อำเภอแม่วาง รายงานว่า เมื่อเวลา 22.00 น. คืนที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ม.3, ม.9 ต.บ้านกาด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้นางจริยา วงศ์สุวรรณ์ นายอำเภอแม่วาง ได้สั่งการให้ ฝ่ายปกครองอำเภอแม่วาง สมาชิกกองร้อย อส.ร้อย อ.แม่วางที่ 23 บูรณาการร่วมกับ เจ้าหน้าที่ อบต.บ้านกาด นำกำลังช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยการนำกระสอบทรายวางกั้นมวลน้ำไม่ให้เข้าบ้านเรือนประชาชน โดยขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงบางส่วนแล้ว

ในส่วนความเสียหาย อำเภอแม่วางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจักได้สำรวจอีกครั้งและรายงานให้จังหวัดเชียงใหม่ทราบเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

อ.จอมทอง น้ำหลากท่วม ม.4 ต.บ้านหลวง เล็กน้อย อำเภอออกติดตามถึงพื้นที่ พร้อมจัด อส. เฝ้าระวัง

อำเภอจอมทองติดตามสถานการณ์น้ำท่าในพื้นที่ ลงตรวจ 8 จุด พบ 2 หมู่บ้าน ต.บ้านหลวง ระดับน้ำอยู่ระดับเสี่ยงท่วม มีหลากท่วมเล็กน้อยในพื้นที่ ม.4 ต.บ้านหลวง

วันที่ 20 กันยายน 2567 อำเภอจอมทอง รายงานว่า เวลา 10.30 น. นายณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอจอมทอง มอบหมายให้ นายกษิเดช คงประเสริฐ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง และสมาชิกอส.อ.จอมทอง ที่ 8 ลาดตระเวนเฝ้าระวัง ตรวจ ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อำเภอจอมทอง ได้แก่

1. บ้านหนองห่าย ม.1 ต.ข่วงเปา
2. น้ำตกแม่กลาง ม.20 ต.บ้านหลวง
3. ลำน้ำบ้านแม่หอย ม.10 ต.บ้านหลวง
4. ลำน้ำแม่กลาง ม.17 ต.บ้านหลวง
5. บ้านกู่ฮ้อ ม. 21 ต.บ้านหลวง
6. ลำน้ำแม่ปอน ม.16 ต.บ้านหลวง
7. ลำน้ำแม่ยะ ม.12 ต.บ้านหลวง
8. บ้านน้ำรัด ม.13 ต.บ้านหลวง

มีรายงานว่า เนื่องจากฝนได้หยุดตกตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. ในการตรวจสอบ ระดับน้ำเกือบทุกแห่งขณะนี้ได้ลดลงแล้ว เว้นลำน้ำในพื้นที่ หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 13 ต. บ้านหลวง ยังคงมีระดับน้ำในระดับที่เสี่ยง เฉลี่ยสูงประมาณ 3.8 เมตร มีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ ม.4 ต.บ้านหลวง เล็กน้อย

ทั้งนี้อำเภอจอมทองได้จัดเวรยาม สมาชิก อส. ในการเฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำแต่ละเวลา

แม่ฮ่องสอนเตรียมพร้อมรับมือดีเปรสชัน ย้ำทุกอำเภอที่มีพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวัง 21 ก.ย. 67 คาดฝนตกหนัก

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเตรียมความพร้อมรับสภาพอากาศที่แปรปวน จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมกับหย่อมความกดอากาศต่ำ ในช่วงสัปดาห์หน้า

วันที่ 19 กันยายน 2567 นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับสภาพอากาศที่แปรปวนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมกับหย่อมความกดอากาศต่ำ ในช่วงสัปดาห์หน้า ว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แล้ว คณะทำงานติดตามสถานการณ์ (War Room ระดับจังหวัด) ได้ออกมาตรการป้องกันและเตรียมความพร้อมในการรับมือการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ประกอบด้วย

มาตรการเน้นย้ำให้ทุกอำเภอ แจ้งทำความเข้าใจกรณีฝนที่ตกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ รวมกับหย่อมความกดอากาศต่ำ โดยฝนตกจะตกหนักในวันที่ 21 กันยายน 2567 ทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีพื้นที่เสี่ยงสูงสุด คือ ตำบลแม่สวด และหย่อมบ้านพะละอึ (บ้านสบเมย) ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย และมีพื้นที่เสี่ยงมากในตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย

มอบหมายให้แขวงทางหลวงแม่ฮ่องสอน แขวงทางหลวงชนบทแม่ฮ่องสอน องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เตรียมสนับสนุนเครื่องจักรกล ยานพาหนะในการดำรงเส้นทาง ให้สามารถส่งความช่วยเหลือหรือการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอสบเมย และอำเภอแม่สะเรียง ขณะที่ในพื้นที่อื่น ๆ ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยให้เตรียมเครื่องมือและบุคลากรให้พร้อมปฏิบัติการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เตรียมความพร้อมทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ (SKY DOCTOR) ในการขนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ และยาเวชภัณฑ์ ให้พร้อมสนับสนุนในพื้นที่ที่เกิดเหตุอุทกภัย ให้เตรียมการป้องกันโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่ของอำเภอสบเมย และอำเภอแม่สะเรียง

ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอน หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 36 เตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารหลัก การสื่อสารรอง การสื่อสารทางสื่อโซเชียลมีเดีย (LINE) เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารสำหรับการติดต่อไปยังพื้นที่ที่ประสบภัยในพื้นที่โซนใต้ และพื้นที่โซนเหนือ เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

ด้านมาตรการการประชาสัมพันธ์ ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องทั้งการคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณและทิศทางฝน รวมทั้งมาตรการป้องกัน และมาตรการช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ และยานพาหนะ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อป้องกันความสับสนจากข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถอ้างอิงได้

รวมไปถึงเปิดศูนย์ติดตามเฝ้าระวังและพยากรณ์อากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง ณ สถานีอุตุนิยมวิทยาแม่ฮ่องสอน หากหน่วยงานใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมให้ติดต่อได้ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาแม่ฮ่องสอน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

และให้หน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำรงการติดต่อสื่อสารตลอด 24 ชั่วโมง โดยมอบหมายให้หัวหน้าหน่วย รองหัวหน้าหน่วย เป็นผู้รับผิดชอบประสานและดำเนินการในกรอบภารกิจของหน่วยงาน ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่18 กันยายน 2567 จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2567 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง รวมถึงให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคลากร และยานพาหนะ รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการในห้วงวันหยุดที่ 21 – 22 กันยายน 2567 เนื่องจากปริมาณฝนจะตกหนักในห้วงดังกล่าว

ภาพ-ข่าว : วิรัตน์ แม่ฮ่องสอน

ด่วนที่สุด!! เตือนอำเภอจอมทอง เฝ้าระวังดินโคลนถล่ม

จังหวัดเชียงใหม่วิทยุด่วนที่สุดถึงอำเภอจอมทอง เฝ้าระวังดินโคลนถล่มในพื้นที่ ค่า API ทะลุ 120 ปภ.เชียงใหม่ ออกติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ทั้งตอมทอง แม่แจ่ม ฮอด หลังฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเย็นเมื่อวาน

วันที่ 18 กันยายน 2567 ปภ.เชียงใหม่ รายงานว่า ด้วยมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเช้าในพื้นที่อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ระดับลำน้ำต่างๆ ในพื้นที่เพิ่มขึ้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฮอด ได้ลงติดตามพื้นที่ พร้อมทั้งรายงานว่า

อ.จอมทอง ลำน้ำแม่กลาง ระดับน้ำเพิ่มระดับใกล้ระดับวิกฤต นายอำเภออจอมทอง พร้อมด้วยฝ่ายปกครองในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ติดตามระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้น สถานการณ์ปกติพื้นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ปัจจุบันระดับน้ำได้ลดลงแล้ว

อ.ฮอด ได้เฝ้าติดตามระดับลำน้ำแม่แจ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงถนนทางหลวงเส้น 108 (ฮอด-แม่สะเรียง) กม.97-99 ซึ่งระดับน้ำห่างจากผิวถนนประมาณ 1 เมตร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมความพร้อมในการแจ้งเตือน และให้หลีกเลี่ยงเส้นทางคามแผนที่ได้เตรียมไว้ หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมผิวถนน โดยปัจจุบันระดับน้ำแม่แจ่มได้ลดลงแล้ว

อ.แม่แจ่ม พื้นที่เกิดน้ำท่วมผิวจราจรบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณบ้านแพม ต.ช่างเคิ่ง และบริเวณสะพานบ้านกองกาน ต.แม่ศึก แต่รถทั่วไปยังสามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งนี้ ทางฝ่ายปกครองอำเภอแม่แจ่ม ได้วางแผนจะขุดลอกทรายใต้สะพานกองกานออก เพิ่มให้ป้องกันการเกิดอุทกภัยและสามารถระบายน้ำได้ดีมากขึ้นต่อไป ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีวิทยุสื่อสาร ด่วนที่สุด ถึงนายอำเภอจอมทอง / ผู้อำนวยการอำเภอ ให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังดินโคลนสไลต์ เนื่องจากค่าดัชนีความชุ่มชื้นของดิน (API) จากกรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ มีค่าดัชนีความชุ่มชื้นของดิน (AP) เกินกว่า 120 ที่ต้องเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจอมทอง จังหวัเชียงใหม่จึงเน้นย้ำให้พื้นที่เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ดินโคลนถล่ม อันเนื่องมาจากฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่

เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมใจสู้ภัยน้ำท่วม “อัศนี” ปล่อยสรรพกำลัง ช่วยพื้นที่แม่อาย

เทศบาลนครเชียงใหม่ ระดมสรรพกำลังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเปิดรับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอุทกภัย

วันที่ 13 กันยายน 2567 นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ปล่อยขบวนคาราวาน “เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมใจสู้ภัยน้ำท่วม” โดยเป็นการระดมสรรพกำลังของเทศบาลนครเชียงใหม่ ทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ อาทิ รถยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถบรรทุกน้ำ รถเครน รถขุด รถบรรทุก รถพยาบาล พร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อเดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เลขานุการนายกเทศมนตรีฯ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีฯ ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล และ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ เข้าร่วม บริเวณลานจอดรถสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่

ทั้งนี้ เทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดรับบริจาค อาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งของจำเป็น เพื่อนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ ศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้านหน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ถ.วังสิงห์คำ ทุกวัน เวลา 8:30-16:30 น. ตั้งแต่บัดนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 053-259000 หรือ Facebook: เทศบาลนครเชียงใหม่

เร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบบริเวณสะพานซูตองเป้ ผู้ว่าฯ สั่งการอำเภอฯ ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พื้นที่บริเวณโดยรอบสะพานซูตองเป้ บ้านกุงไม้สัก ตำบลปางหมู หมู่ที่ 2 อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน รวมถึงเตรียมความพร้อมให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทัน

วันที่ 12 กันยายน 2567 นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มอบหมายให้ นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เร่งให้การช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบริเวณพื้นที่โดยรอบสะพานซูตองเป้ บ้านกุงไม้สัก หมู่ 2 ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยล่าสุด อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการลงสำรวจความเสียหายของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ พร้อมสร้างความเข้าใจถึงเงื่อนไขหลักเกณฑ์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือโดยร่วมกับเกษตรอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานไปยังชลประทานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการนำเครื่องจักรดำเนินการขุดเปิดฝาย จำนวน 2 ช่องประตู ซึ่งทำให้น้ำในพื้นที่ที่ท่วมขังลดลงแล้วในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ยังคงลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังแจ้งเตือนชาวบ้านใกล้ริมน้ำ ไม่ให้เกิดผลกระทบเพิ่มเติม รวมทั้งเตรียมความพร้อมจัดถุงยังชีพ จำนวน 100 ถุง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้เข้าร่วมประชุมประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งได้แนวทางร่วมกันคือ ชาวบ้านจะจัดทำฝายภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมกับประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการเตรียมการขุดลอกคลอง ในจุดที่ไม่กระทบกับชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้กระแสน้ำลดลง

ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ได้ร่วมกับชลประทานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการวางแผนดำเนินการขุดลอกคลองในระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนอีก โดยอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบซึ่งมีโฉนดของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และจากนี้จะร่วมการทำประชาคมอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

สำหรับบริเวณสะพานซูตองเป้ บ้านกุงไม้สัก ตำบลปางหมูนั้น อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนและร้านค้าที่อยู่ใกล้ บริเวณดังกล่าวให้เตรียมความพร้อมในการรับมือหากเกิดสถานการณ์อุกทกภัย ทั้งนี้อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยง และได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่อย่างใกล้ชิดทุกวัน ซึ่งหลังจากนี้หากเกิดสถานการณ์อุกภัยในพื้นที่ขึ้น อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับชาวบ้านต่อไป

หยุดปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดทิ้งต่อเนื่อง เผยมีช่องว่างรับน้ำได้อีก กว่า 89 ล้าน ลบ.ม.

“เฉลิมเกียรติ” สั่งหยุดปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดทิ้งต่อเนื่องเป็นวันที่สอง คาดจะหยุดจ่ายต่อเนื่อง เผยยังมีช่องว่างรับน้ำได้อีกกว่า 89 ล้าน ลบ.ม. ชี้สถานการณ์ฝนในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนขณะนี้ยังรับมือน้ำเข้าเขื่อนได้ไร้ปัญหา แต่ยังเฝ้าระวังติดตามข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 11 กันยายน 2567 นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล (ผคบ.แม่แฝก-แม่งัด) เปิดเผยว่า ณ ปัจจุบันเขื่อนแม่งัดฯ ได้หยุดการระบายน้ำแล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา โดยลดการระบายน้ำจากเขื่อนฯ จากระบายอยู่ที่ 47 ลบ.ม. ต่อวินาที เหลือเพียง 24 ลบ.ม. ต่อวินาที และเมื่อเช้าวันที่ 10 ก.ย. 67 ได้หยุดการระบายเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงแค่ส่งน้ำให้พื้นที่รับผิดชอบของโครงการฯ ผ่านคลองฝั่งซ้ายและคลองฝั่งขวา แค่เพียง 4 ลบ.ม. ต่อวินาที เนื่องจากสถานการณ์ฝนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่มปริมาณขึ้น การระบายน้ำในลงไปเติมแม่น้ำปิงเป็นเงื่อนไขที่ไม่ควรปฏิบัติ อีกประการขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดฯ มีปริมาณที่ต่ำกว่าเส้นเกณฑ์ควบคุมสูงสุดแล้ว ที่ 12.015 ล้าน ลบ.ม.

https://youtu.be/ohhp4O5AnsM

“โครงการฯ จะปิดการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ไปอีกต่อเนื่อง โดยจะรอการคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหลัก หากสถานการณ์เป็นดั่งเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็ไม่จำเป็นที่ต้องระบายน้ำทิ้ง ด้วยปริมาณน้ำเข้าเขื่อนแม่งัดฯ ฤดูฝนปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 – 1.3 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำที่มีอยู่ขณะนี้ที่ 214 ล้าน ลบ.ม. ก็ราว 80% ของความจุ คงค้างอีก 20% (หรือ 51 ล้าน ลบ.ม) จึงจะเต็มความจุที่ 100% นอกจากนี้ยังมีพื้นที่รับน้ำได้จากการยกระดับของสปิลเวย์ของเขื่อนอีก 10.5%(หรือ 28 ล้าน ลบ.ม) ก็เท่ากับว่าเขื่อนแม่งัดฯ ยังมีช่องว่างรับน้ำได้อีก 30.5%หรือรับน้ำได้อีกราว 89 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเป็นปริมาณน้ำระดับสูงสุดที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลรับได้คือปริมาณน้ำที่ 293 ล้าน ลบ.ม. หรือ 110.5% ของความจุ” นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผคบ.แม่แฝก-แม่งัด กล่าว

ทั้งนี้มีรายงานว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำกักเก็บ 213.965 ล้าน ลบ.ม. หรือ 80.74% ของความจุ วันนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน (Inflow) 2.287 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่โครงการฯ (Outflow) 0.360 ล้าน ลบ.ม. (เส้นปริมาณน้ำอยู่ระหว่างเกณฑ์ควบคุม LRC และ URC) โดยมีแผนส่งน้ำฤดูฝน ปี 2567 ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่โครงการฯ 40 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 24 มิ.ย. 67 – 30 พ.ย.67 และผลการส่งน้ำสะสมตั้งแต่ 14 มิ.ย. 67 – ปัจจุบัน อยู่ที่ 25.835 ล้าน ลบ.ม.

เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วางศิลาฤกษ์พระประธาน พุทธมณฑลเชียงใหม่

พิธีวางศิลาฤกษ์พระประธานองค์ใหญ่ สูง 32 เมตร ภารกิจแรก ของเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ณ พุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่อำเภอดอยหล่อจังหวัดเชียงใหม่

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567 พุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงกโร) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร องค์ประธานพิธี วางศิลาฤกษ์พระประธานองค์ใหญ่ ปางเปิดโลก ความสูง 32 เมตร ณ.พระพุทธมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอดอยหล่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะสงฆ์ จังหวัดเชียงใหม่ คณะศรัทธาสาธุชน จำนวนมาก เข้าร่วมพิธี ถือว่าเป็นองค์ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ เสร็จพิธีมีการมอบ ถังดับเพลิง 300 ถัง มอบให้ 25 อำเภอจังหวัดเชียงใหม่ อีกด้วย

ในงานนี้ยังมี พระครูพิพัฒน์สุตสุนทร ( ครูบาโต ) พร้อมด้วย คุณสถาพร วิจิตรสุนทร หรือ เอ็ม หัตถ์เทพ ผู้เป็นศิษย์ มอบถวายเงินสมทบทุนในการก่อสร้าง เบื้องต้น เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ทุนในการก่อสร้างทั้งสิ้น 16 ล้านบาท โดยมีคณะสงฆ์อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพง และอำเภอแม่ออน ดูแล

ตลิ่งน้ำปิงเปลี่ยน “อ.ชูโชค” ชี้ระดับวิกฤติน้ำปิง P.1 เป็นที่ 4.20 เมตร น้ำท่วมปี 2565 ตอบชัด เกิน 4.20 หลากท่วมป่าพร้าวนอก

ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำปิงแจง ระดับวิกฤติแม่น้ำปิงที่ P.1 อยู่ที่ 4.20 เมตร น้ำท่วมปี 2565 ชี้ชัดกว่าจะล้นฝั่งเข้าท่วมย่านป่าพร้าวนอก ระดับ P.1 สูงถึง 4.20 เมตร ส่วนระดับเดิมที่ 3.70 เมตร เป็นระดับเตือนภัย เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกำหนดให้เป็นตัวเลขเดียวกันเพื่อการบริหารจัดการน้ำปิงอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 1 กันยายน 2567 จากประเด็นระดับน้ำที่สถานี P.1 เชิงสะพานนวรัฐ ที่มีการพูดถึงในสื่อโซเชียลเป็นอย่างมากในช่วงน้ำปิงมีระดับเพิ่มสูงขึ้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถามระดับน้ำที่ P.1 กับ อาจารย์ชูโชค อายุพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้คำตอบว่า ระดับน้ำปิงที่ 3.70 เมตร เป็นระดับน้ำวิกฤติเมื่อครั้งน้ำท่วมเชียงใหม่ปี 2554 ในปีนั้นเมื่อระดับน้ำปิงที่สถานี P.1 มีระดับ 2.80 เมตร น้ำปิงหลากท่วมในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่แล้ว หากแต่น้ำท่วมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 ระดับน้ำปิงที่สถานี P.1 สูงถึงระดับ 4.20 เมตร น้ำปิงจึงหลากท่วมบริเวณย่านป่าพร้าวนอกเป็นพื้นที่แรก

“ปี 2565 ผมอยู่ในสถานการณ์และติดตามถึงพื้นที่ พบว่าที่สถานี P.1 ระดับน้ำไปที่สามเมตรแปดสิบสามเมตรเก้าสิบปรากฎว่าน้ำปิงยังไม่ล้นตลิ่ง ไปล้นตลิ่งแล้วหลากเข้าท่วมพื้นที่ย่านป่าพร้างนอกเป็นพื้นที่แรกเมื่อ P.1 อยู่ที่ระดับ 4.20 เมตร ซึ่งก็น่าจะมาจากการที่เทศบาลนครเชียงใหม่และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการปรับปรุงตลิ่งแม่น้ำปิง มีการอุดรูรั่วของตลิ่งในจุดที่ต่ำ ซึ่งยังไม่มีการเสริมตลิ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมมากมายนัก จริงได้มีการพูดคุยกับทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ปภ.เชียงใหม่ รวมถึงทางชลประทานแล้วว่า ระดับวิกฤติที่ P.1 น้ำจะล้นตลิ่งจะเป็นที่ระดับ 4.20 เมตร ส่วนระดับเดิมก่อนหน้านั้น ระดับ 3.70 เมตร จะเป็นระดับเตือนภัยให้กับประชาชนได้เตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำหลาก ซึ่งสัปดาห์หน้านี้จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อซักซ้อมกับตัวเลขระดับวิกฤติของ P.1 ที่ 4.20 เมตร” ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง กล่าว

“แม่น้ำปิงหลากท่วมเมืองเชียงใหม่ผมยังไม่ค่อยจะกังวลมากกว่าจังหวัดอื่นอย่างเช่น จ.สุโขทัย ซึ่งจะท่วมเป็นเวลานานมาก ส่วนของเชียงใหม่ซึ่งลักษณะภูมิประเทศน้ำท่วมแตกละครั้งไม่เกิน 3-4 วัน และไม่รุนแรงเหมือนจังหวัดอื่น” อาจารย์ชูโชคฯ กล่าวทิ้งท้าย