“เฉลิมชัย” มอบนโยบายแก้ปัญหาไฟป่า บูรณาการร่วมกันไม่ให้มีช่องว่าง

“ดร.เฉลิมชัย” รมว.ทส. ซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ประจำปี 2568 เน้น “รวดเร็ว ตรงเป้า เข้าถึงพื้นที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด” มอบนโยบายสำคัญ “บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ชุมชน โดยไม่ให้มีช่องว่าง โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างจังหวัด”

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ประจำปี 2568 พร้อมด้วย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 3 ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นอกจากนี้ยังประชุมผ่านระบบออนไลน์ไปยังหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนด้วย

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะในปี 2568 ที่คาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการทำเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไร่และการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมที่จะมีหมอกควันและฝุ่นละออง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการจัดการกับปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สำหรับการประชุมในครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ PM2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทุกมิติ ทั้งการจัดการไฟในพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร ตลอดจนการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเมือง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2568” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ระดับภาค และระดับจังหวัด เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการในเรื่องนี้

ขณะที่การประชุมครั้งนี้ ดร.เฉลิมชัยฯ ได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวด้วยความ “รวดเร็ว ตรงเป้า เข้าถึงพื้นที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด” ประการแรก ขอให้ในทุกพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ติดต่อระหว่างจังหวัดต้องไม่มีช่องว่าเกิดขึ้น จะเกี่ยงกันไม่ได้ การทำงานข้ามจังหวัดก็ต้องทำงานร่วมกันให้ได้ ที่สำคัญจะทำงานลำพังเฉพาะหน่วยงานของรัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องทำงานร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่ ต้องทำความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ ทำงานต้องบุณาการกัน

“วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้ในการทำงาน รวมถึงงบประมาณ และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเสริมในการทำงาน อย่างเช่น โดรน ก็ต้องนำมาใช้ให้ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การยับยั้ง ใช้ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันเหตุอันไม่พึงประสงค์เกิดกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้ ย้ำว่าเรื่องงบประมาณไม่ใช้ปัญหา จะเป็นผู้ประสานมาให้กับทุกหน่วย” รมว.ทส. กล่าว

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวต่อว่า เรื่องการสื่อสาร การแจ้งเตือน เป็นอีกเรื่องที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งประเด็นของการสื่อสารคงมิใช่เฉพาะแค่เรื่องไฟป่า ฝุ่นควัน เท่านั้น แต่เป็นการสื่อสารในทุกภัยที่เกิดขึ้น การสร้างความเข้าใจในพื้นที่จะเกิดความร่วมมือเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้จะได้มีการประสานกับกระทรวงมหาดไทยในการขอความร่วมมือกับผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ขอให้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหากันอย่างเต็มที่ ปัญหาไฟป่ามาจากคน ก็ต้องใช้คนในการแก้ปัญหา

“ขอให้ทุกหน่วยดำเนินการให้เป็นรูปธรรม สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นให้ได้ในทุกพื้นที่ ก็ฝากทั้งกองทัพภาค ทั้งจังหวัด หากแต่อย่างแรกต้องหน่วยงานทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพย์ฯ ต้องเริ่มก่อนในการจะสร้างความร่วมมือกัน จากนั้นจะไปสู่การบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการทำให้สถานการณ์ไฟป่า ฝุ่นควัน ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งการมอบนโยบายวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ว่าจะพยายามมาลงพื้นที่อีก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาก็อาจจะไปเองโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าก็ได้”

ทั้งนี้แนวทางการจัดการปัญหาไฟป่า ฝุ่นควัน PM2.5 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทาง ดังนี้ การบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยง : ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบริหารจัดการแบบไร้รอยต่อ โดยมุ่งเน้นไปที่พื้นที่เสี่ยงเผาไหม้ขนาดใหญ่ 14 กลุ่มป่า (Cluster) ที่มีแนวโน้มเกิดไฟป่ามากที่สุด การติดตามสถานการณ์ : ให้มีการติดตามสถานการณ์จุดความร้อน และสนธิกำลังพลจากฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครองและเครือข่ายในการลาดตระเวนและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ขยายวงกว้าง การควบคุมการเข้าพื้นที่ : ต้องมีการควบคุมและจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการลักลอบเผาในพื้นที่ป่า การจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร : สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษในพื้นที่ จะต้องประสานงานกับจังหวัดในการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารสถานการณ์ : ต้องมีการสื่อสารแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นอย่างทั่วถึงและทันท่วงที เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสถานการณ์แก่ประชาชน การทำงานร่วมกับจังหวัด : ทุกหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องสนับสนุนการทำงานร่วมกับจังหวัดอย่างเต็มที่ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพสูงสุด การจัดสรรงบประมาณ : หากงบประมาณไม่เพียงพอให้เร่งขอรับการจัดสรรงบกลาง และสอบถามความต้องการของจังหวัดเพื่อประสานงานกับสำนักงบประมาณโดยด่วน

การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าในปี 2568 โดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนให้ปลอดภัย ซึ่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าไม่สามารถทำได้เพียงแค่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนทั่วไป ด้วยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาไฟป่าและผลกระทบที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะการดำเนินงานตามมาตรการที่ได้มีการกำหนดไว้ เพื่อให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่ามีความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

เริ่มแล้วคืนผิวทางใหม่ให้ถนนรอบคูเมือง เฟสแรก “แจ่งก๊ะต๊ำ – แจ่งศรีภูมิ” คาด 20 วัน แล้วเสร็จ

เทศบาลนครเชียงใหม่เดินหน้าโครงการปรับปรุงผิวจราจรถนนรอบคูเมืองเชียงใหม่ ช่วงที่ 1 (แจ่งก๊ะต๊ำ – แจ่งศรีภูมิ) วันแรกได้ระยะ 400 เมตร พรุ่งนี้ปูแอสฟัลท์ติกใหม่ทับทันที ทำทีละช่องทาง คาดใช้เวลา 20 วัน ปิดจ๊อบช่วงที่ 1

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายภวฤทธิ์ กาญจนเกตุ นายวีรวิชญ์ ธีรสวัสดิ์ นายพิศุทธ์ พิศุทธกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นางนุสรา ยันตรโกวิท ปลัดเทศบาล นายมนต์ชัย พงษ์เกียรติก้อง รองปลัดเทศบาล นายณภัทร ประเสริฐดี ผู้อำนวยการสำนักช่าง นายเอกพันธ์ พรหมประสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมการก่อสร้าง ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของโครงการปรับปรุงผิวจราจรรอบคูเมืองเชียงใหม่ ช่วงที่ 1 บริเวณถนนมูลเมือง หน้าบ้านธรรมปกรณ์

โดยในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง เวลาประมาณ 17.00 น. เทศบาลนครเชียงใหม่ เริ่มดำเนินการปรับปรุงพื้นผิวการจราจรใน LOT ที่ 1 เริ่มช่วงแรกบริเวณแจ่งก๊ะต๊ำ (คูเมืองด้านใน หน้าบ้านธรรมปกรณ์) โดยจะเริ่มดำเนินการในจุดชิดขอบทางด้านซ้ายของถนนมูลเมือง ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่จะปฏิบัติงานเป็นช่วงๆ ช่วงละประมาณ 300 – 400 เมตร จึงขอให้ประชาชนใช้เส้นทางด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีการทำงานของเครื่องจักร

ด้าน นายณภัทร ประเสริฐดี ผู้อำนวยการสำนักช่าง เปิดเผยว่า วันนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ทำการลอกผิวแอสฟัลท์ติก ผิวเดิมออกได้ประมาณ 400 เมตร จากบ้านธรรมปกรณ์มาถึงบริเวณหน้าโรงแรมเยื้องๆ หลังประตูท่าแพ และในวันพรุ่งนี้จะทำการปูแอสฟัลท์ติกในช่วงที่ลอกออกและทำการลอกผิวทางต่อเนื่องต่อไปจนถึงบริเวณแจ่งศรีภูมิซึ่งเป็นเป้าหมาย LOT แรก โดยคาดว่าจะใช้ทำให้แล้วเสร็จทั้งเส้นในช่วงนี้

งบว่า 2.3 พันล้าน ผุดโรงไฟฟ้าจากขยะ เชียงใหม่หนุนเต็มที่หวังจัดการขยะโซนใต้อย่างมีประสิทธิภาพ

จังหวัดเชียงใหม่ จับมือภาคเอกชนไทย-จีน ทุ่มงบ 2,300 ล้าน ผุดโปรเจค โรงไฟฟ้า ขยะมูลฝอย จากชุมชน ลดก๊าซ โลกร้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองเชียงใหม่ จัดพิธีลงนามข้อตกลงร่วมลงทุนโครงการบริหารกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนปราศจากมลพิษ ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก หลังลงนามเริ่มทำงานก่อสร้างทันที

วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง ทั้งสอง เป็นพยานในพิธีลงนามข้อตกลงร่วมลงทุนโครงการบริหารกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนปราศจากมลพิษ ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก (Very Small Power Product : VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 MW(เมกาวัตต์) โดยใช้ขยะมูลฝอยชุมชนเป็นเชื้อเพลิง บริษัทเอกชนนำโดย MR.เจ้า เตเปี่ยน (Mr. Cao Debiao) CEO บริษัท China Tlanying Inc. หรือ บริษัท CNTY ลงนามกับนายบัณฑิต เดชฤาษี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซเว่นซัน 2514 โดยมีสักขีพยานอีกคือเจ้าหน้าที่อำเภอจอมทอง ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.จอมทอง และนายก อปท.ในพื้นที่ และสมาพันธ์นักธุรกิจเก็บขนสิ่งปฏิกูลมูลฝอยภาคเหนือ (เชียงใหม่) ร่วมในพิธี

MR.เจ้า กล่าวหลังจากพิธีลงนาม ว่า หลังจากวันนี้บริษัทฯ จะเริ่มลงมือก่อสร้างโรงงานทันที คาดว่า 24 เดือน หรือ 2 ปี จะสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จ สามารถกำจัดขยะได้มากถึง 500 ตันต่อวัน โดยปริมาณกำจัดมากสุดอยู่ที่ 650 ตันต่อวัน โรงงานสามารถผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 10 MW. (เมกาวัตต์) ซึ่งบริษัทจะใช้เงินลงทุนโครงการนี้ประมาณ 2,300 ล้านบาท และจะทำให้ชาวเชียงใหม่ได้ประโยชน์ทางเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการกำจัดขยะแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง จากประสบการณ์ที่จัดสร้างโรงกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้ามาแล้วที่ประเทศจีน และได้นำคณะผู้บริหารทางจังหวัดเชียงใหม่ และทางอำเภอจอมทองไปศึกษาดูงาน ก็ได้เห็นแล้วว่าโรงงานเป็นเหมือนสวนสุขภาพ รูปแบบโรงงานที่จีนจะนำมาเป็นต้นแบบเพื่อก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าในพื้นที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หากแต่จะทันสมัยและมีคุณภาพมากกว่า เพราะปัจจุบันมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิน และมีคุณภาพดีกว่าโรงงานต้นแบบที่ประเทศจีน ซึ่งที่จีนได้ดำเนินการมานานกว่า 10 ปีแล้ว และที่นั่นขณะนี้กลายเป็นที่ศึกษาดูงานของนานาชาติหลายประเทศ” MR.เจ้า เตเปี่ยน CEO บริษัท CNTY กล่าว

ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ทาง นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง และ MR.เจ้า เตเปี่ยน CEO บริษัท CNTY กับ นายบัณฑิต เดชฤาษี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซเว่นซัน 2514 ได้หารือกันที่ศาลากลางเชียงใหม่ เมื่อเช้าที่ผ่านมาแล้ว โดยที่ประชุมสรุปได้ว่า งานนี้เป็นนโยบายแห่งชาติของการจัดการให้ขยะหมดสิ้นจากชุมชน โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบวิธีการให้แต่ละจังหวัดจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากภาคครัวเรือนโดยการนำมากำจัดอย่างถูกวิธี โดยอนุญาตให้ทั่วประเทศรวมกลุ่มจัดการขยะด้วยวิธีการเผาแบบไร้ควันนำพลังงานความร้อนผลิตไฟฟ้า เนื่องจาก จ.เชียงใหม่ เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวมีขยะเกิดขึ้นประจำจากประชากรในจังหวัดประมาณ 1,800 – 2,000 ตัน/วัน ทั้งยังมีขยะเกิดจากนักท่องเที่ยวรวมทั้งประชากรแฝงอีกส่วนหนึ่ง ทำให้มีขยะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 300-400 ตัน/วัน รวมแล้วขยะทั้งจังหวัดจะมีมากกว่า 2,500 ตัน/วัน จากที่ผ่าน จ.เชียงใหม่ไม่มีพื้นที่ กำจัดขยะที่เหมาะสมเป็นของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ มีการกำจัดขยะโดยวิธีการฝังกลบโดยภาคเอกชน ซึ่งเกิดต้นทุนในการจัดการที่ไม่คุ้มต่อการบริหารงานท้องถิ่น ทั้งยังมีขยะเพิ่มจากจำนวนประชาชนที่เติบโตขึ้นทุกๆปี กว่าเท่าตัว

กระทรวงมหาดไทย โดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง กรมกอง ต่างๆ ได้ออกเป็นข้อกฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ร่วมกลุ่มจัดการคัดเลือกเทคโนโลยีมากำจัดขยะที่ทั่วโลกยอมรับว่าการเผาขยะแบบสมบูรณ์แปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้านั้นดีที่สุด ประหยัดทั้งงบประมาณ ทำให้ขยะหมดสิ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งนำความร้อนผลิตไฟฟ้ากลับไปในรูปแบบพลังงานสะอาดได้อีก เป็นโรงไฟฟ้าปราศจากมลพิษ โดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง

เมื่อ จ.เชียงใหม่ มีขยะมากกว่า 2,500 ตัน/วัน จึงมีการจัดการกลุ่มผู้จัดการ ( Clusters ) 3 กลุ่ม เทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็น Clusters 3 ได้เสนอตนเองเป็นเจ้าภาพรวมกลุ่มนำรูปแบบการจัดการด้วยการเผาขยะนำความร้อนผลิตไฟฟ้าในรูปแบบของผู้ประกอบการขนาดเล็กมาก (VSPP) Very Small Power Producer นำไฟฟ้าที่ได้เสนอขายให้กับ PEA ได้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ จัดการโครงการนี้ แบบ B.O.T (Build Operate Transfer ) รัฐร่วมกับเอกชน เอกชนผู้ลงทุนให้สัญญาว่า จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการโรงงานกําจัดขยะมูลฝอยชุมชนปราศจากมลพิษเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมาก VSPP ( Very Small Power Producer) ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมทันสมัย มีการจัดการขยะให้ได้มากกว่า 500 ตัน/วัน ซึ่งเป็นโครงการที่เทศบาลตำบลบ้านหลวงจะใช้เทคโนโลยีเตาเผาจากยุโรป และมีผู้ประกอบการด้านการจัดการขยะจากประเทศจีน มีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี จะเข้ามาร่วมดำเนินการ ทั้งนี้ได้มี บริษัท เซเว่นซัน 2514 จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน และมีผู้ร่วมทุนคือ บริษัท CNTY ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน จากประเทศจีน

MR.เจ้า เตเปี่ยน CEO บริษัท CNTY. นายบัณฑิต เดชฤาษี บริษัท เซเว่นซัน 2514 ได้วางแผนจัดการขยะแบบสมัยใหม่ให้มากที่สุดเพื่อลดจำนวนขยะชุมชนที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 500 ตัน และมีแผนนำขยะเก่าสะสมในพื้นที่ฝังกลบนำมาผสมเป็นเชื้อเพลิงอีก 100 ตัน/วัน ในรูปแบบไร้มลพิษ ได้วางกรอบการลงทุนไว้กว่า 1,900 -2,000 ล้านบาท สร้างให้เป็นโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบของประเทศไทยที่ลงทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบ B.O.T(Build Operate Transfer ) โดยผู้ลงทุนเป็นผู้ลงทุนออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการโรงงานกําจัดขยะมูลฝอยชุมชนปราศจากมลพิษเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมากนี้ตามโครงการ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เชื้อเพลิงจากขยะชุมชนเท่านั้น ทั้งนี้ผู้สัมปทานจะบริหารก่อน เมื่อครบสัญญาจะยกเป็นสมบัติของเทศบาลตำบลบ้านหลวงหรือชุมชนให้บริหารเข้ามาบริหารต่อ มีการมอบรายได้ให้กับชุมชนในรูปกองทุนไฟฟ้า รวมทั้งจัดการขยะให้เทศบาลตำบลบ้านหลวงฟรี ตลอดสัญญา 20 ปี มีการจ้างแรงงานในพื้นที่เพื่อก่อสร้างและจ้างแรงงานใน อ.จอมทอง เข้าทำงานในโครงงานก่อน หลังจากนั้นจะประกาศรับทั้งจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่า จะเกิดเงินหมุนเวียนในช่วงก่อสร้างอย่างมาก เกิดการจ้างงาน จะ ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน, หน่วยงานราชการทั่วเชียงใหม่ มากกว่า 50% ของค่าจัดการขยะมูลฝอยที่ อปท. ต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อครัวเรือน

ทั้งนี้ผู้บริหารสัมปทานโครงการ นายบัณฑิต เดชฤาษี ของบริษัท เซเว่นซัน 2514 จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้ว่าวิธีการกำจัดขยะโดยการเผานั้น มีมากกว่า 30 ปีแล้ว ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่างประเทศนี้ไม่มีการฝังกลบขยะ ซึ่งนำเทคโนโลยีการเผาที่ทันสมัยมาใช้ขยะมูลฝอยของบ้านเรือนในประเทศไทยนั้นวิเคราะห์แล้วมีค่าความความร้อนดีมาก จากสมัยก่อนต้องใช้ขยะมากกว่า 100 ตัน จะได้ไฟฟ้า 1 เมกกะวัตต์ ตอนนี้ใช้ขยะแค่ 50 – 60 ตัน ได้ความร้อนผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ เมื่อโรงไฟฟ้านี้ตั้งเป้ากำจัดขยะที่ 600 ตัน/วัน จะได้ไฟฟ้าประมาณ 10 เมกะวัตต์ สามารถกำจัดขยะให้ชุมชนได้หมดสิ้น 600 ตัน ภายใน 1 วัน

MR.เจ้า ได้กล่าวอีกว่า บริษัท CNTY ที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวจากจีนมาจำนวนมากทั้งที่อยู่อาศัยพำนักระยะยาว นำลูกหลานมาเรียนในตัวเมือง มีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเพิ่มทุกๆ ปี ผู้คนในเชียงใหม่อัธยาศัยดี ให้การต้อนรับดี ให้ความอบอุ่นใจ อีกทั้งมีสถานกงสุลจีนตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ในฐานะเป็นผู้บริหาร CNTY ขอรับรองว่า บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าขยะในประเทศจีน และอีกหลายประเทศในเอเชีย ทางบริษัทเป็นผู้ผลิตเตาเผาเอง และส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้เทคโนโลยีจากยุโรป และนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาพัฒนาตาม เช่น ระบบเผาไหม้ไร้ควัน, เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย, การจัดการระบบน้ำ และจัดการกำจัดขยะให้รวดเร็วในวันต่อวัน

“การลงทุนในเชียงใหม่ ทางบริษัทจะลงทุนเป็นที่แรกกับพันธมิตรเรา จะทำให้ดีที่สุดและทำให้สวยที่สุดกว่าที่ใดๆ ในโลก พร้อมที่จะร่วมกับ พันธมิตรเรา คือ บริษัท เซเวนซัน 2514 ลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงอีก 5 -7 แห่ง ภายใน 2 ปี” MR.เจ้า เตเปี่ยน (Mr. Cao Debiao) CEO กล่าวปิดท้าย

ศป.ปส.อ.แม่แตง แก้ปัญหายาเสพติดเชิงรุก รวบได้ 11 ราย พร้อมยาบ้า

อ.แม่แตง ขับเคลื่อนแก้ปัญหายาเสพติดเชิงรุก ออกตรวจตราพร้อมตั้งด่านตรวจค้นกลางชุมชน รวบได้ 11 ราย พร้อมยาบ้า 84 เม็ด พ่วงด้วยเฮโรอีน 2 หลอด

วันที่ 25 ต.ค.2567 ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอแม่แตง ขับเคลื่อน 8 มาตรการ ตามแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก เน้นบูรณาการทุกภาคส่วน อำนวยการโดย นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอแม่แตง สั่งการให้ นายโชคทวี ศรีเที่ยง ปลัดอำเภอแม่แตง สมาชิก อส.อ.แม่แตง ที่ 10 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่แตง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.), และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ตำบลบ้านช้าง ร่วมกันตั้งจุดตรวจในชุมชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน รวมทั้งการตั้งจุดตรวจค้นหาผู้เสพสารเสพติด ในพื้นที่ตพบลบ้านช้าง

มีรายงานผลการปฏิบัติ ว่า เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการได้เรียกตรวจบุคคล ยานพาหนะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อป้องปรามการกระทำผิดกฎหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 11 ราย โดยพบว่ามีการครอบครองยาเสพติด 4 ราย เสพยาเสพติด 7 ราย พร้อมยึดของกลางยาเสพติด ยาบ้า 84 เม็ด และเฮโรอีนอีก 2 หลอด จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันนำตัวทั้ง 11 ราย ส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่แตง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สกัดรถต้องสงสัยยึดยาบ้าได้กว่า 9 ล้านเม็ด อ.เชียงดาว สนธิกำลังจับขบวนการยาเสพติด

เชียงดาวสนธิกำลังสกัดรถกระบะต้องสงสัย รวบได้ทั้งคนทั้งรถพร้อมยาบ้ากว่า 9 ล้านเม็ด อีกรายคาดเป็นรถนำทางขับหนี เจ้าหน้าที่ไล่ติดตามเกิดพลิกคว่ำ นำตัวพร้อมของกลางส่งดำเนินคดี ทราบหนีได้อีก 1 เจ้าหน้าที่เร่งติดตาม

วันที่ 25 ต.ค.67 เวลาประมาณ 22:00 น. โดยการอำนวยการของ นายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอเชียงดาว/ผอ.ศป.ปส.อ.เชียงดาว สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงและสมาชิก อส.อ.เชียงดาวที่ 6 บูรณาการร่วมกับ ตำรวจชุดสืบสวน ชุดสายตรวจ สภ.เชียงดาว ชุดตำรวจด่านแม่จา บก.ปส.3 เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจ ตชด. 335 เจ้าหน้าที่ทหาร สกัดจับรถต้องสงสัยขนยาเสพติดได้ในพื้นที่ ก่อนถึงด่านตรวจยาเสพติดแม่จา ม.4 ต. ทุ่งข้าวพวง อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่

เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย ทราบชื่อต่อมาชื่อ นายทนงศักดิ์ พร้อมของกลาง ยาบ้า 9,000,000 เม็ด ในรถยังพบวิทยุสื่อสารอีก 1 เครื่อง เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึดไว้พร้อม รถยนต์ทะเบียน 7140 เชียงใหม่ 1 คัน โทรศัพท์ ยี่ห้อ Samsung อีก 1 เครื่อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ส่งผู้ต้องหาพร้อมของกลางให้พนักงานสอบสวน บช.ปส. เพื่อดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ ระหว่างการจับกุมได้มีรถต้องสงสัยว่าเป็นรถนำทางได้ขับหนีเข้าถนนเส้นบ้านถ้ำตำบลเชียงดาว และเกิดเสียหลักพลิกคว่ำบริเวณข้างทาง เจ้าหน้าที่ชุดติดตาม สมาชิก อส. และเจ้าหน้าที่ ตร.สภ. เชียงดาว จึงได้เข้าจับกุมผู้ต้องหาที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 ราย จึงนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังสืบทราบว่า มีผู้ต้องหาหลบหนีอีก 1 ราย ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการค้นหาติดตามเพื่อนำตัวมาดำเนินคดี

สชป.1 เปิด War Room ติดตามสถานการณ์น้ำปิง คาดปริมาณน้ำสูงสุดที่เชียงดาว 350 ลบ.ม.ต่อวินาที อีก 30 ชั่วโมง ถึงตัวเมือง

“อัฏฐวิชย์” สั่งเปิด War Room ติดตามสถานการณ์น้ำปิงใกล้ชิด เผยปริมาณน้ำสูงสุดที่เชียงดาวคาดในเวลา 21.00 น. ที่ปริมาณ 350 ลบ.ม.ต่อวินาที อีก 30 ชั่วโมง มวลน้ำถึงเชียงใหม่ ส่วนน้ำแม่ริมปริมาณสุงสุดผ่านไปแล้วเมื่อ 15.00 น. ที่ผ่านมา ปริมาณ 71 ลบ.ม.ต่อวินาที มวลน้ำถึงตัวเมืองเชียงใหม่ช่วง 3 ทุ่มคืนนี้

วันที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 18.30 น. ที่ห้องปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) สำนักงานชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน นายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) เรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด เปิด War Room เพื่อติดตามสถาการณ์น้ำ หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงตอนเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว และอำเภอแม่ริม เมื่อเวลา 17.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ P.20 ที่อำเภอเชียงดาวมีปริมาณน้ำ 306.00 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งมีปริมาณมากกว่าความจุลำน้ำที่ 215 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และที่สถานีวัดน้ำ P.21 น้ำแม่ริม มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 68.69 ลบ.ม.ต่อวินาที มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุลำน้ำที่ 56 ลบ.ม.ต่อวินาที

“สถานการณ์น้ำปิงตอนบนในพื้นที่อำเภอเชียงดาวปริมาณน้ำที่สถานี P.20 ปริมาณสูงสุดอยู่ในช่วงเวลา 19.00 น. ปริมาณน้ำที่ 350 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยมวลน้ำนี้จะมาถึงตัวเมืองเชียงใหม่ 30 ชั่วโมง ส่วนสถานีวัดน้ำ P.21 น้ำแม่ริม ปริมาณน้ำสูงสุดเมื่อเวลา 15.00 น. ปริมาณสูงสุดที่ 71 ลบ.ม.ต่อวินาที คาดว่าเวลา 21.00 น. ปริมาณน้ำสูงสุดจากน้ำแม่ริมจะถึงตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อมาพิจารณาปริมาณน้ำในตัวเมืองเชียงใหม่ที่สถานีวัดน้ำ P.1 ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 290 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งยังต่ำกว่าปริมาณน้ำในระดับเตือนภัยที่ 370 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งแม่น้ำปิงในช่วงเมืองเชียงใหม่ยังมีช่องว่างที่รับน้ำได้อีกพอสมควร” ผส.ชป.1 กล่าว

ทั้งนี้ นายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผส.ชป.1 ได้ฝากถึงทุกหน่วยงานในที่ประชุมให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนเหนือถึงตัวเมืองเชียงใหม่

“เกื้อกูล” สั่งการ คนชลประทาน เร่งช่วยชาวบ้านหลายพื้นที่น้ำหลากท่วม สิ่งเปิด ปตร. เร่งระบายน้ำ

ฝนตกหนักจากพายุซูลิก น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ สั่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน สั่งเปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่ตัวเมืองถึงปลายน้ำในแม่น้ำปิง เร่งระบายน้ำ

วันที่ 23 ก.ย. 67 เวลา 08.30 น. นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝนตกหนักถึงหนักมาก ต.บ้านกาด อ.แม่วาง วัดได้ 156.8 มม. และที่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง วัดได้ 88 มม. พื้นที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง วัดได้ 75.8 มม. ส่งผลให้เวลา 06.00 น. ในเช้านี้ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในลำน้ำแม่วาง และน้ำแม่กลาง ที่สะพานท่าโป่ง (แม่กลางบ้านลุ่ม) ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง เอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ลุ่มต่ำ ในขณะที่น้ำแม่แจ่ม ฝายหลวงแม่แจ่ม ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม ระดับน้ำ 2.32 เมตร สถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง จึงได้สั่งการให้ นายณรงค์ วงค์จันทร์ทิพย์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 โครงการชลประทานเชียงใหม่ เข้าพื้นที่ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนี้ได้สั่งการให้เปิดประตูระบายน้ำท่าวังตาล อำเภอเมืองเชียงใหม่ จำนวน 4 ช่องบาน ระบายน้ำออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ เปิดประตูระบายน้ำดอยน้อย 7 ช่องบาน ประตูระบายน้ำแม่สอย 5 ช่องบาน เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลสาปดอยเต่า ไปยังเขื่อนภูมิพล เพื่อพร่องน้ำและรองรับมวลน้ำที่จะมาจากต้นน้ำและแม่น้ำสาขาต่างๆ ที่มาลงในแม่น้ำปิง พร้อมให้สำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอแม่วางอย่างใกล้ชิด ต่อมาในช่วงสายระดับน้ำแม่กลาง ที่เอ่อล้นบ้านเรือนประชาชนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของแม่น้ำปิง ยังต่ำกว่าตลิ่ง ลำน้ำสาขาฝั่งตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ลำน้ำแม่ข่าหลวง แม่ข่าน้อย ห้วยแม่ท่าช้าง ยังไม่มีการเอ่อล้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสาขา อย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ และให้รายงานสถานการณ์ให้ทราบเพื่อจะได้บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแนวทางในการนำเครื่องจักร เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

น้ำขานเพิ่มระดับหลากท่วมบ้านเรือนราษฎรติดริมน้ำ อำเภอดอยหล่อ หน่วยงานเร่งสำรวจช่วยเหลือ

น้ำขานเพิ่มระดับ สาเหตุจากฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ เอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรริมน้ำ อำเภอสั่งหน่วยงานเร่งสำรวจให้ความช่วยเหลือ

วันที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 10.10 น. อำเภอดอยหล่อ รายงานสถานการณ์และสภาพทั่วไปในพื้นที่ ว่า ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ของวันที่ 22 ก.ย. 2567 ถึงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 23 ก.ย. 67 เกิดฝนตกในพื้นที่วัดปริมาตรน้ำฝนสะสมได้ 69.9 มิลลิเมตร ในพื้นที่ หมู่ที่ 4 บ้านสบอาว ต.สันติสุข หมู่ที่ 1 บ้านแม่ขาน ต.สองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ น้ำในแม่น้ำแม่ขานมีปริมาณเพิ่มขึ้น และบางพื้นที่น้ำได้เริ่มหลากท่วมเข้าบริเวณบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้น้ำแม่ขาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ

ทั้งนี้มีรายงานว่า ปริมาณน้ำฝายดอยน้อยมีปริมาณเพิ่มขึ้น และล้นสปริงเวย์ ทั้ง 2 ฝั่งข้าง เนื่องจากมีน้ำจากน้ำแม่ขานเพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำอ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ วันที่ 23 ก.ย. 2567 อยู่ที่ระดับ 9 เมตร 66 เซนติเมตร ปริมาตรน้ำอยู่ที่ 2,022,000 ลบ.ม. ความจุของอ่าง ก่อนล้นสปริงเวย์ 2,680,000 ลบ.ม.

ด้าน อปท. นายถนอม กรรมใจ นายกเทศมนตรีตำบลยางคราม ร่วมกับ ฝ่ายปกครอง ม.2 , ม.4 ต.ยางคราม ได้ดำเนินการลอกวัชพืชที่ปิดทางน้ำออกจากประตูน้ำ ม.2 ต.ยางคราม ออก

อำเภอดอยหล่อได้แจ้งกำชับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เตรียมความพร้อม และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฝ้าระวังเหตุการณ์ในพื้นที่หากมีเหตุการณ์ให้รายงานอำเภอทราบทันที

ท่วมถนนเชียงใหม่-ฮอด หน้ากาดฝรั่ง อำเภอหางดงประสานหน่วยงานเร่งระบายน้ำ

หน้ากาดฝรั่งอำเภอหางดง น้ำหลากท่วม ทล.108 อำเภอหางดงประสานหน่วยงานเร่งแก้ไข ขอเครื่องสูบน้ำ ปภ. สูบระบายน้ำ พบอีก 3 หมู่บ้าน พื้นที่ ต.บ้านแหวน ต.หางดง น้ำเอ่อท่วม ท้องถิ่นเข้าให้ความช่วยเหลือแล้ว

วันที่ 23 กันยายน 2567 นายชลิต ทิพย์คำ นายอำเภอหางดง พร้อมด้วย กำลัง อส. อปพร. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อำนวยการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถนน ทล. 108 บริเวณหน้ากาดฝรั่ง หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เร่งอำนวยการด้านจราจร และ สั่งการให้เทศบาลตำบลหางดงเข้าตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ และประสานขอเครื่องสูบน้ำ จากทาง สนง.ปภ.เชียงใหม่ มาติดตั้งเพื่อเร่งสูบระบายน้ำ

นอกจากนี้ ในพื้นที่อื่นๆ พบว่า มีน้ำเอ่อล้นเข้าไปยังบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ หมู่ 3 ตำบลบ้านแหวน หมู่ 13 ตำบลบ้านแหวน ทางเทศบาลตำบลบ้านแหวน ได้แจกจ่ายกระสอบบรรจุทราย เพื่อป้องกันน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่แล้ว และในพื้นที่ หมู่ 1 ตำบลหางดง พบว่า มีน้ำเอ่อล้นเข้าไปยังห้องแถวซึ่งมีผู้ป่วยติดเตียงพักอาศัยอยู่ ทางผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงรายดังกล่าวออกจากพื้นที่มาอยู่ในจุดที่ปลอดภัยแล้ว

ทั้งนี้ อำเภอหางดงจะเฝ้าติดตามและควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานให้จังหวัดทราบต่อไป

ฝนตกหนักท่วม ทล.107 หน้าเชียงดาวฮิลล์ บ้านขุนห้วยไส้ ต.เมืองนำ น้ำป่าทะลักท่วม อำเภอเชียงดาวเร่งช่วยเหลือ

เชียงดาวฝนตกหลัก น้ำหลากท่วมทางหลวง 107 ช่วงเชียงดาวฮิลล์ อำเภอร่วมหมวดการทางเข้าเคลียร์เปิดสัญจรได้เป็นปกติแล้ว ด้านหย่อมบ้านขุนห้วยไส้ ต.เมืองนะ น้ำป่าทะลักเข้าหมู่บ้าน อำเภอร่วมท้องถิ่นเร่งให้ความช่วยเหลือ

วันที่ 22 กันยายน 2567 เวลา 08.30 น. อำเภอเชียงดาว รายงานว่า ได้รับแจ้งว่าถนนบนทางหลวง 107 บริเวณเชียงดาวฮิลล์มีน้ำท่วมขัง ทำให้เส้นทางจราจรสามารถสัญจรได้เพียงช่องทางเดียว นายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอเชียงดาว ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงอำเภอเชียงดาว พร้อมด้วย สมาชิก อส.อ.เชียงดาว ที่ 6 ฝ่ายปกครองท้องที่ตำบลปิงโค้ง บูรณาการร่วมกับ หมวดทางหลวงเชียงดาว สภ.เชียงดาว และเทศบาลตำบลปิงโค้งเข้าตรวจสอบ เคลียพื้นที่ และทำการขุดคลองข้างทาง ขณะนี้เส้นทางจราจรสามารถกลับมาใช้ได้ตามปกติ เทศบาลตำบลปิงโค้ง จะเข้าดำเนินการทำความสะอาดโคลนบริเวณพื้นผิวถนนอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งว่า พื้นที่หย่อมบ้านขุนห้วยไส้ บ้านห้วยไส้ หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เกิดน้ำป่าทะลักเข้าหมู่บ้านและน้ำระบายไม่ทัน ต่อมาระดับน้ำได้ลดลงแล้ว นายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอเชียงดาว จึงสั่งการให้ฝ่ายปกครองท้องที่ตำบลเมืองนะ บูรณาการร่วมกับเทศบาลตำบลเมืองนะเข้าตรวจสอบ เคลียพื้นที่ และการช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบสาธารณภัยในเบื้องต้น

ทั้งนี้ นายอำเภอเชียงดาวได้เน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการ ฝ่ายปกครองท้องที่ ท้องถิ่น เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด