ยึดไม้เถื่อนกลางบ้านถวาย คาดเตรียมส่งนอก สอบสวนกลางบุกจับ

เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ ชุดพญาเสือ ตำรวจตระเวนชายแดน 33 เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กก.สืบสวนภาค 5 และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.13 สนธิกำลังบุกยึดไม้เถื่อนประกอบด้วยไม่ชิงชันแปรรูป ไม้ประดู่แปรรูป และปมประดู่ มูลค่า 10 บาท ในโกดังกลางบ้านถวาย อ.หางดง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังเตรียมส่งออกต่างประเทศ หลังเจ้าหน้าที่ฝั่ง GPS ไว้กับไม้ที่ถูกแปรรุปกลางป่าก่อนสะกดรอย ขบวนการลักลอบค้าไม้เถื่อนมาพักไว้ในโกดัง เตรียมส่งขายให้กับนายทุนชาวต่างชาติ

กำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน 33 เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กก.สืบสวนภาค 5 และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.13 นำหมายศาลเข้าตรวจค้นโรงงานไม่มีเลขที่ ท้องที่บ้านหนองแก๋ว ต.หนองแก๋ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ย่านบ้านถวายซึ่งแหล่งท่องเที่ยวจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าหัตถกรรมชื่อดัง จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่พบไม้ชิงชันแปรรูป ขนาด 12×12 นิ้ว และขนาด 8×8 นิ้วรวมทั้งหมด 65 ท่อน และไม้ประดู่แปรรูป 70 นิ้ว หนา 3 นิ้ว และขนาด 13 นิ้วหนา 1 นิ้ว 115 แผ่น นอกจากนี้ยังพบปมไม้ประดู่ทั้งหมด 20 ชิ้น น้ำหนักกว่า 1 ตัน กองอยู่ภายในโกดัง จากการตรวจสอบพบว่าพบร่องรอยการขนไม้เข้า ออกจากโกดังได้ไม่นาน

ขณะเข้าตรวจค้นเจ้าหน้าที่พบ นางเอ (นามสมมุติ) ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน คนดูแลโกดัง จึงนำตัวมาสอบปากคำ ทราบว่า เป็นเพียงคนดูแลโกดัง อาศัยอยู่ที่นี่มานานนับ 10 ปี ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าของโกดังได้ให้กลุ่มคนขับรถบรรทุกเช่าโกดัง ซึ่งมีการนำไม้แปรรูปมาพักไว้ในโกดัง แต่ตนไม่ทราบว่าไม้แปรรูปเป็นไม้ที่ผิดกฎหมาย มีหน้าที่เพียงคอยเปิด-ปิดประตูโกดังขณะที่มีการขนไม้เข้าออกเท่านั้น ล่าสุดมีการขนไม้ออกจากโกดังเมื่อเช้ามืดที่ผ่านมาก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจยึดไม้เถื่อนทั้งหมด ตนรู้สึกตกใจมาก ไม้คิดว่าไม้ทั้งหมดที่อยู่ในโกดังจะเป็นไม้เถื่อน

หลังจากสอบปากคำ นางเอ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกล่าวหา 1.ร่วมกันทำไม้หรือกระทำด้วยประการใดๆ แก่ไม้หวงห้ามในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ร่วมกันมีไม้หวงห้ามชนิดอื่นแปรรูปมีปริมาตรเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ร่วมกันมีไม้ชิงชันแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 4.รับไว้ด้วยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่าย หรือช่วยพาเอาไปเสียให้พ้น ซึ่งไม้หรือของป่า ซึ่งตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้หรือของป่าที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำความผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ

และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ฐาน 1.ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ร่วมกัน ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนังานเจ้าหน้าที่ 2.รับไว้ด้วยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่าย หรือช่วยพาเอาไปเสียให้พ้น ซึ่งไม้หรือของป่า ซึ่งตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้หรือของป่าที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำความผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.หางดง ดำเนินคดีต่อไป

ด้าน ร.ต.อ. ร.ต.อ.จิรายุ อิ่นแก้ว รอง สว.(สอบสวน) กก.4 บก.ปทส.ช่วยราชการ กก.4 บก.ป. หัวหน้าชุดจับกุม เปิดเผยว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ให้นโยบายเจ้าหน้าที่ฯ ในสังกัดได้เร่งรัดปราบปรามการกระทำความผิดด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ จึงได้มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานประสานข้อมูลในการสืบสวนสอบสวนผู้กระทำความผิด รายดังกล่าว ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ออกลาดตระเวนในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และได้พบมีการแปรรูปไม้กลางป่าในพื้นที่ อำเภอแม่ริม พบกองไม้ประดู่ถูกแปรรูปไว้กลางป่า จึงได้มีการวางแผนนำเครื่องติดตาม GPS ไว้กับไม้แปรรูปล็อต ดังกล่าว หลังจากนั้นขบวนการลักลอบค้าไม้เถื่อนจึงได้ลำเลียงไม้แปรรูปออกจากพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้สะกดรอยตามพบว่าไม้เถื่อนล็อตดังกล่าวถูกนำมาเก็บไว้ในโกดัง บริเวณดังกล่าวหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ขอหมายศาลเข้าตรวจค้นและตรวจยึดไม้แปรรูปทั้งหมด

ร.ต.อ.จิรายุ อิ่นแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสืบสวนข้อมูลเชิงลึก ไม้ประดู่และไม้ชิงชันล็อตนี้ได้มีการเตรียมส่งขายให้นายทุนชาวต่างประเทศ ด้วยการปะปนอำพรางกับสินค้าหัตถกรรม ส่งออกไปยังต่างประเทศทางเรือ ซึ่งไม้ชิงชัน และไม้ประดู่ เป็นที่นิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ เชื่อว่าเป็นไม้มงคล ทำให้มีความต้องการและมีราคาสูง ส่วนราคาไม้ชิงชันหากสามารถนำออกไปต่างประเทสได้จะมีราคากิโลกรัมล่ะ 1,500 บาท ส่วนไม้ประดู่ราคากิโลกรัมล่ะ 300 บาท ขณะที่ปมประดู่ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีลักษณะพิการ จะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมล่ะ 2 พันบาท ซึ่งหากไม้เถื่อนล้อตนี้หลุดรอดไปยังต่างประเทศ คาดจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ด้วยความเป็นไม้ที่มีราคาสูงจึงทำให้มีการลักลอบตัดไม้ประดู่และไม้ชิงชันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ อ.ฮอด อ.แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และบางพื้นที่ของ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจจับขบวนการลักลอบขนไม้เถื่อนได้บ่อยครั้ง ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะได้ขยายผลติดตามจับกุมขบวนการค้าไม้เถื่อนข้ามชาติกลุ่มนี้มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

แม่อายอ่วม!! ฝนตกหนัก พื้นที่ 4 ตำบล ได้รับผลกระทบ เร่งให้ความช่วยเหลือแล้ว

อ.แม่อาย ฝนตกหนัก 11 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 4 ตำบลได้รับผลกระทบ อำดภอกำขับ อปท. พื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ

วันที่ 15 สิงหาคม 2567 อำเภอแม่อายรายงานเหตุพายุฝนตกหนักและอุทกภัยในพื้นที่ เมื่อคืนวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ว่า ในพื้นที่ได้รับความเสียหาย รวม 4 ตำบล ได้แก่

1. ตำบลบ้านหลวง หมู่ที่ 4 น้ำป่าไหลหลากท่วมถนนสาธารณะภายในชุมชน ไม่พบราษฎรได้รับความเดือนร้อนแต่อย่างใด ขณะนี้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว

2. ตำบลสันต้นหมื้อ หมู่ที่ 2, 3 และหมู่ที่ 7 น้ำป่าไหลหลากเข้าพื้นที่บ้านเรือนของชาวบ้าน ถนนสาธารณะภายในชุมชน และพื้นที่ทางการเกษตร (สวนข้าวโพด) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 30 ราย พื้นที่ความเสียหายประมาณ 10 ไร่ ขณะนี้ระดับยังคงที่ จึงได้จัดชุดเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

3. ตำบลแม่นาวาง หมู่ที่ 8 น้ำป่าไหลหลากเข้าพื้นที่บ้านเรือนของชาวบ้าน ถนนสาธารณะภายในชุมชน และพื้นที่ทางการเกษตร (นาข้าว) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4 ราย พื้นที่ความเสียหายประมาณ 10 ไร่ ขณะนี้ระดับน้ำลดลงกลับสู่สภาวะปกติแล้ว

4. ตำบลท่าตอน หมู่ที่ 3, 8, 9, 11, 12 และหมู่ที่ 13 น้ำป่าไหลหลากทำให้ดินสไลด์ และน้ำหลากเข้าพื้นที่ทางการเกษตร (สวนข้าวโพด) ของชาวบ้านได้รับความเสียหายประมาณ 40 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและเปิดเส้นทางจราจรให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

อำเภอแม่อายได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนและรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยให้อำเภอ เพื่อจะได้รายงานให้จังหวัดทราบต่อไป

ทั้งนี้เมื่อเวลา 09.00 น. นางสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย/ผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอแม่อาย มอบหมายให้ นายสมภพ หน่อแก้ว ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง นำสมาชิกกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอแม่อายที่ 5 ร่วมกับ สนง.เกษตร อ.แม่อาย อบต.ท่าตอน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ความเสียหายของราษฎร ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ ม.3 และ ม.8 ต.ท่าตอน น้ำกัดเซาะตลิ่งทำให้ดินทรุดประมาณ 400 เมตร และน้ำหลากเข้าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน (สวนข้าวโพด) จากการตรวจสอบพบพื้นที่ความเสียหายประมาณ 40 ไร่ ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอ และ อบต.ท่าตอน ได้รับเรื่องเพื่อเข้าคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเพื่อดำเนินการด้านการเยี่ยวยาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป

ขุดผีขึ้นจากหลุม “พนังคอนกรีตริมน้ำปิง” สุดๆ กรมโยธาฯ ส่งคนขู่ชาวบ้าน “ถ้า No โยกงบไปที่อื่น”

สุดงงกรมโยธาธิการและผังเมือง ปลุกผีพนังคอนกรีตกั้นกันน้ำปิงหลากฝั่งตะวันออก ถามกันทั่วทั้งจังหวัดใครขอ เงียบ! ที่ปรึกษาโครงการสุดติ่ง นัดประชุมชาวบ้านวัดเกต มีแค่กระดาษ A4 แผ่นเดียว ต้อนชาวบ้านตอบแบบสอบถาม หนำซ้ำขู่ไม่เอาจะย้ายงบไปที่อื่น ผู้ทรงฯ คกก.ลุ่มน้ำปิงเผย โครงการมีมาครั้งเมื่อปี 2549 ชาวบ้านต้าน ไม่ตอบโจทย์ แก้น้ำท่วมไม่ได้ ชี้ผลเสียเยอะกว่าข้อดีมาก เชียงใหม่นานๆ ท่วมที ท่วมทีไม่กี่วัน ต้องปรับปรุงลำน้ำปิงเป็นทางออกที่ดีกว่าพนังคอนกรีต

วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ศาลาอเนกประสงค์วัดเกตการาม ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ กรมโยธาธิการและผังเมือง โดย บริษัท โปรเกรสเทคโนโลยีคอนซัลแท็นส์ จํากัด บริษัทที่ปรึกษาโครงการงานศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ระยะที่ 5 (พื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ (ฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง) และชุมชนต่อเนื่อง จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งผู้แทนเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาฯ นำเอกสารขนาด A4 ภาพแสดงทางเลือกแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างคันป้องกันป้องกันน้ำท่วมกำแพงตัวแอบมีทางเดินเท้าหินเรียงหน้าคัน รูปแบบก่อสร้างคันป้องกันโดยการยกถนนเจริญราษฎร์และถนนเชียงใหม่-ลำพูน การปรับปรุงรางระบายน้ำเดิมริมถนนเลียบทางรถไฟ การก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย และการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมกับรูปภาพสถานที่ต่างๆ ตลอดแนวแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก รวมทั้งสิ้น 3 แผ่น A4 พร้อมด้วยแบบสอบถามความคิดเห็นและความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งมีความยาวกว่า 12 หน้า โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่มานั่งถามชาวบ้านและผู้ประกอบการย่ายชุมชนวัดเกต ซึ่งกำหนดไว้ 18 เครส

ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาฯ พูดในที่ประชุมประชาคม ว่า กรมโยธาธิการมีงบมาให้ทำการศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 5 พื้นที่ เมืองเชียงใหม่ และท่าวังตาล ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ถูกเลือกให้ดำเนินการ ช่วงนี้จะเป็นงานศึกษาจะมีระยะเวลา 500 กว่าวัน อย่างแรกต้องถามประชาชนในพื้นที่ในการที่มีโครงการดีๆ มาลงในพื้นที่ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ก็ต้องถามให้ชัดเจน ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งได้มีการแจ้งให้ทางเทศบาลแจ้งต่อประชาชน ชุมชน ให้รับทราบเกี่ยวกับโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่ว่าจะมีการประชุมที่ไหนบ้างกี่ครั้ง วันนี้เป็นอีกวันที่ต้องมาถามประชาชน ก็จะเป็นการถามจากทางเลือกที่มีให้ว่าอยากได้หรือไม่ในทางเลือกที่มีการนำเสนอ อย่างการยกถนนเจริญราษฎร์อยากได้ที่ความสูงเท่าไรก็จะนำไปสู่การออกแบบ แล้วก็จะนำแบบกลับมาประชุมอีกครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน 2568 ซึ่งจะประชุมที่สำนักงานเทศบาล ซึ่งก็จะมีการถามอีกว่าอยากได้หรือไม่ หากไม่อยากได้ ก็จะได้ย้ายงบไปที่อื่น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกรมโยธาฯ ไม่ใช่จะมาถามแล้วจะทำจะทำด้านเดียว ซึ่งก็ต้องนำมาถามก่อน ซึ่งโครงการรัฐหากว่ามีคนไม่อยากได้แค่คนหรือสองคนก็เป็นว่าโครงการนั้นพับไปเลย

ในส่วนของประชาชนและผู้ประกอบการย่านชุมชนวัดเกตและชุมชนใกล้เคียงที่เข้าร่วมประชุมประชาชนคม ต่างมีความเห็นไม่ในทิศทางเดียวกันคือ ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างพนังคอนกรีตหรือยกระดับถนนเจริญราษฎร์ขึ้นเพื่อทำเป็นแนวกั้นน้ำหากแม่น้ำปิงหลาก โดยมีหลากหลายความเห็น อาทิ รูปแบบไม่ชัดเจน มีเพียงภาพไม่กี่ภาพแล้วจะนำมาให้ชาวบ้านเลือก ชาวบ้านจะเลือกได้อย่างไร กำแพง ระดับถนนที่ยกขึ้นจะสร้างทัศนอุจาดให้แก่เมืองเชียงใหม่ การทำพนังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เมื่อทำแล้วจะต้องยกระดับขึ้นไปอย่างไม่สิ้นสุดหากระดับน้ำในแม่น้ำปิงสูงเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างมีให้เห็นชัดที่กรุงเทพมหานครต้องเสริมตลิ่งขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตัวอย่างการตอบแบบสอบถามแค่ 18 เครสไม่ตอบโจทย์คนทั้งชุมชนได้ ประเด็นที่สำคัญที่ชาวบ้านตั้งข้อสังเกต โครงการนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งเมื่อหลายสิบปีก่อน หลังน้ำท่วมใหม่เมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2548 แล้วเกิดการต่อต้านอย่างมากจากคนในชุมชนเมืองเชียงใหม่ มีการขึ้นป้ายมากมายที่จะไม่เอาคลองส่งน้ำมาไว้กลางเมืองเชียงใหม่ จู่ๆ กรมโยธาธิการและผังเมืองก็มีโครงการนี้ลงมาในพื้นที่เชียงใหม่อีก ซึ่งจากการสอบถามหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏว่า ไม่มีหน่วยงานใดทั้งสิ้นที่ร้องขอให้มีโครงการ

ด้าน นายชูโชค อายุพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง แสดงความเห็นว่า เมื่อปี 2548 ได้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ครั้งใหญ่ ซึ่งหลังจากนั้นในปี 2549 ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เคยมีความพยายามมาแล้วครั้งหนึ่งที่จะผลักดันโครงการก่อสร้างพนังคอนกรีตริมแม่น้ำปิงช่วงไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อป้องกันน้ำท่วม อย่างไรก็ตามได้ถูกชุมชนและชาวเชียงใหม่ต่อต้านคัดค้านต้องล้มเลิกโครงการไปในที่สุด ขณะที่โดยส่วนตัวในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะดำเนินโครงการนี้ เพราะเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าโครงการดังกล่าวมีข้อดีเพียงอย่างเดียวคือ การป้องกันน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมได้ในระดับความสูงที่ออกแบบไว้ อย่างไรก็ตามกลับพบว่ามีข้อเสียหลายประการ เช่น ไม่สามารถป้องกันน้ำล้นตลิ่งได้มากกว่าที่ออกแบบไว้, ทำให้เกิดปัญหาแรงดันยกของน้ำ, กีดขวางทางระบายน้ำจากตัวเมืองและส่งผลกระทบต่ออาคารชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการขุดลอกและขนย้ายตะกอนในอนาคต ตลอดจนทำลายระบบนิเวศและทัศนียภาพที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ซึ่งหากสูญเสียไปแล้วจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้ และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แถมอาจเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้เห็นว่าปรากฏการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่อย่างรุนแรงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ และมักจะท่วมแค่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากกว่าเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานี้นั้น คือ ควรปรับปรุงสภาพลำน้ำของแม่น้ำปิงให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนภัยน่าจะดีกว่าการสร้างพนังคอนกรีตที่อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

วันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี เป็น วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

“…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 10 สิงหาคม 2435 ถือได้ว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2435 เป็นวันที่มีการจัดตั้ง สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านและเป็นการเน้นให้เห็น ความสำคัญของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิบัติภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชน ทางราชการจึงกำหนดให้ วันที่ 10 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน”…”

ประวัติโดยย่อของ “วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ”

ผมเติมไปยาลน้อยเข้าไปก็เพราะว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือฝ่ายปกครองท้องที่ ตาม พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ นี้ไม่ได้มีแค่ 2 ตำแหน่งนี้ ยังมีอีก 4 ตำแหน่ง ที่เป็นองคาพยพขององค์กรนี้ ได้แก่ แพทย์ประจำตำบล สารวัตกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ

ผมคลุกคลีกกับฝ่ายปกครองท้องที่ยาวนานกว่า 11 ปี คลุกคลีแบบคลุกวงใน เข้าใจเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งความเป็นผู้ปกครองท้องที่ บทบาทหน้าที่ อำนาจ ความต้องการ อะไรต่อมีอะไรอีกมาก แต่ที่ไม่เข้าใจเลยก็คือ…

กระทรวงมหาดไทย ทำไมไม่จริงใจกับ ผู้นำท้องที่ !!!

มท.1 รุ่นแล้วรุ่นเล่า ปมท. คนแล้วคนเล่า อปค. ก็เช่นกัน ปัญหาสุมคาองค์กรกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ปล่อยให้มันคาอยู่เยื่องนั้น ปีแล้วปีเล่า จน ณ เพลานี้ ครบ 132 ปี สถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ยังไม่คิดจะแก้

ประการแรก กฎหมาย 2 ฉบับที่ขัดกัน ก็ปล่อยมันขัดอยู่ อย่างนั้นล่ะ ราวกับว่า เออแบบนี้ก็ดีวะ ปกครองง่ายดี

กฎหมาย 2 ฉบับที่ว่า คือ พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ กับ พรบ.เทศบาล มาตรา 3 พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่บอกว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ จะยุบเลิกไม่ได้ แต่ มาตรา 4 พรบ.เทศบาล กลับบอกว่า เทศบาลใดที่ยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ภายใน 1 ปี นายกเทศมนตรีสามารถยื่นให้ยุบเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ในพื้นที่ตำบลนั้นได้

เจริญดีไหมล่ะ กฎหมายมหาดไทย ปล่อยให้ตีความทะเลาะกันไปแล้วไม่รู้กี่แห่งกี่อำเภอ

อีกประการที่ไม่เข้าใจ ทำไมไม่ให้ประชาชนเป็นคนเลือกกำนัน ?!?

ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนเลือกกำนัน กำนันจึงถูกชาวบ้านหลายต่อหลายคนพูดว่า “ก๋ำนักป้อหลวง บ่าไจ่ก๋ำนันฮา” โดยเฉพาะตำบลที่กำนันทำงานไม่เข้าตาประชาชน คำพูดนี้จะดังขรมไปทั้งหมู่บ้าน

พื้นที่ที่ผู้ใหญ่บ้านที่จะขึ้นเป็นกำนันมากบารมี เป็นผู้นำโดยธรรมชาติ เลือกมักจะไร้คู่แข่ง นอนมาแบบเดี่ยวๆ แต่ถ้า “หัวเปียงกั๋น” การแข่งขันจะเกิดขึ้นทันที ใครที่ได้มาซักครึ่งหนึ่งกันเป็นอันปิดเกม การเลือกโดยผู้ใหญ่บ้านดั่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ หลายพื้นที่ต้องยอมรับว่า การได้มาซึ่งกำนัน “มีจ่าย” จริง

ผมเชื่อว่าปัญหาที่ยกมาทั้ง 2 ประการนี้ มหาดไทย รู้ดี แต่ไม่คิดจะทำ ไม่คิดจะแก้ ไม่คิดจะปรับให้ไปในทิศทางที่ควรเป็น หลักดีระเบียบดี ชัดเจน ปัญหาย่อมไม่มีในองค์กรนั้น

จึงไม่แปลก หากว่า “ผู้นำตำบล” อ่อนปวกเปียก เพราะพวกมากลากมาให้เป็น
คำถามดังทั่วตำบล….มีทำไม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ เปลืองงบประมาณ!!

ธัชชัย
10 ส.ค. 67
.

ขอบคุณภาพจาก อินเทอร์เน็ต

รวมตัวเคลื่อนไหวต่อ จี้เร่งแก้ไข “ปัญหาบ่อขยะดอยสะเก็ด” คนแห่ลงชื่อเป็นร้อย

คนดอยสะเก็ดรวมตัวอีกครั้ง เรียกร้องจัดการบ่อขยะ อบจ.เชียงใหม่ ที่ป่าป้อง เผยส่งกลิ่นเหม็นเน่าแรง กลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายไปหลายหมู่บ้าน ฝรั่งในพื้นที่สุดทนขอลงชื่อด้วย ย้ำเดือดร้อนนานหลายเดือนแล้ว เตรียมส่งรายชื่อพร้อมข้อเรียกร้องส่ง ผู้ว่าฯ นายก อบจ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไข

วันที่ 10 สิงหาคม 2567 ที่สวนป่าของกรมป่าไม้ และริมถนนหน้าสนามกีฬาเทศบาลตำบลดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านหลักๆ จาก 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลเชิงดอย ตำบลป่าป้อง ตำบลแม่โป่ง และอีกหลายตำบล ในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ รวมตัวกันกว่า 100 คน ประท้วงกรณีได้รับความเดือดร้อนเหม็นกลิ่นขยะ จากบ่อขยะที่บริษัทเอกชนรับกำจัดขยะให้ อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่บ้านป่าตึงน้อย ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด โดยชาวบ้านระบุว่า กลิ่นขยะเหม็นกระจายไปหลายหมู่บ้าน สร้างปัญหามานานหลายเดือน และกลิ่นเริ่มเหม็นรุนแรงขึ้นมากตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา

ในที่ชุมนุมมีเอกสารแจก ระบุว่า สรุปเงื่อนไขข้อเสนอภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกลิ่นขยะเหม็นฟุ้งกระจายทั่วพื้นที่ชุมชน คณะทำงาน “เครือข่ายจัดการขยะภาคประชาชน” ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ชุมนุมพี่น้องประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อผลกระทบกลิ่นเหม็นจากขยะของศูนย์จัดการขยะแบบครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ ชาวบ้านที่มาชุมนุม ได้ลงรายชื่อ เบอร์โทร และมีชาวต่างชาติร่วมลงรายชื่อด้วย

จากนั้น ตัวแทนชาวบ้านกล่าวโจมตีโรงงานขยะดังกล่าว โดยการนำของ นายชัยศิลฯ “ชาวบ้านจะตั้งเครือข่ายจัดการขยะภาคประชาชน เพื่อติดตามการทำงานของ บริษัทเอกชนที่รับกำจัดขยะให้ อบจ.เชียงใหม่ ขอรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา และหลังจากนี้ให้เวลา อบจ.เชียงใหม่ แก้ไขปัญหาในเวลา 1 เดือน หากไม่ดำเนินการ จะมารวมตัวอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้มารวมตัวกันกว่า 100 คน ครั้งต่อไปจะแจ้งให้ชาวบ้านออกมาจำนวนมากกว่านี้”

ส่วนรายชื่อชาวบ้านทั้งหมดที่ลงลายมือไว้ พร้อมข้อเรียกร้องแนวทางแก้ไขปัญหาขยะส่งกลิ่นเหม็น จะนำเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายอำเภอดอยสะเก็ด และเสนอถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัทฯ เอกชนที่รับกำจัดขยะ และ อปท. ในพื้นที่ เพื่อให้รับทราบปัญหาต่อไป จากนั้นชาวบ้านสลายตัวในเวลา 12.00 น. โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด มาอำนวยความสะดวก

ม.เชียงใหม่ ชวนนักวิ่งเก็บความทรงจำกับงานวิ่ง… CMU – Chiang Mai Marathon

CMU – Chiang Mai Marathon ชวนนักวิ่งร่วมเก็บความทรงจำอันล้ำค่า “Precious Memories” กับเหรียญรางวัลพิเศษชิ้นสุดท้ายของซีรีส์ 2 พร้อมเปิดรับสมัครนักวิ่งเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 นี้

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำหนดจัดแข่งขัน การวิ่งการกุศล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – เชียงใหม่มาราธอน 2567 ครั้งที่ 8 (CMU – Chiang Mai Marathon 2024) ชิงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2567 ในธีม “Precious Memories” ความทรงจำอันล้ำค่าในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ทุกคนได้มาใช้เวลาวิ่งร่วมกันตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

ความพิเศษของ CMU – Chiang Mai Marathon 2024 คือ เหรียญรางวัลซีรีส์ 2 (2nd Generation) ซึ่งเป็นชิ้นสุดท้ายที่ทำให้โมเดลหอนาฬิกาเสร็จสมบูรณ์ โดยเป็นฝาปิดด้านบนของหอนาฬิกา เพื่อเก็บเรื่องราวที่ดีและความทรงจำอันล้ำค่าของนักวิ่งทุกคนไว้ตลอดไป รวมถึงการจัดงานในรูปแบบ Carbon Neutral Event ที่ช่วยลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานและทรัพยากรในการจัดงาน เช่น การใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะและของเหลือใช้ การใช้รถไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงสะอาด การจัดซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชย (Carbon Credit) เพื่อยื่นขอใบประกาศนียบัตรรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ต่อไป

ในปีนี้ เปิดรับสมัครนักวิ่งที่สนใจสองรอบ คือ รอบ VIP วันที่ 8 สิงหาคม 2567 เวลา 10.08 น. ถึงก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 15 กันยายน 2567 และรอบปกติในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 10.08 น. ถึงวันที่ 15 กันยายน 2567 ทางเว็บไซต์ www.cmu-marathon.com ทั้งรูปแบบ Onsite และ Virtual Run

รูปแบบ Onsite รับสมัครนักวิ่งไม่เกิน 7,000 คน
VIP ระยะทางตามระยะที่สมัคร อัตราขอรับบริจาค 3,000 บาท
Full Marathon ระยะทาง 42.195 km. อัตราขอรับบริจาค 1,200 บาท
Half Marathon ระยะทาง 21.1 km. อัตราขอรับบริจาค 1,000 บาท
Mini Marathon ระยะทาง 10.5 km. อัตราขอรับบริจาค 800 บาท
Fun Run ระยะทาง 5 km. อัตราขอรับบริจาค 600 บาท
นักวิ่งที่ติดอันดับ Top 30 จาก Virtual Run ของปีที่ผ่านมา ระบบจะส่งข้อมูลให้ท่านผ่านทางอีเมลเพื่อลงทะเบียนล่วงหน้าในระหว่างวันที่ 8 – 25 สิงหาคม 2567

รูปแบบ Virtual Run ครั้งที่ 5 รับสมัครไม่จำกัดจำนวน
Iron Heart ระยะทาง 123 km. อัตราขอรับบริจาค 1,288 บาท
Full Marathon ระยะทาง 42.195 km. อัตราขอรับบริจาค 1,030 บาท
Half Marathon ระยะทาง 21.1 km. อัตราขอรับบริจาค 824 บาท
Mini Marathon ระยะทาง 10.5 km. อัตราขอรับบริจาค 618 บาท
Combo ระยะใดก็ได้ (รับเหรียญและเสื้ออัตราขอรับบริจาค 2,266 บาท Finisher ทั้ง Full, Half, Mini) กำหนดส่งผลการวิ่งก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 1 ธันวาคม 2567

สำหรับรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จัดสรรเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักหอพักนักศึกษา สมทบทุนสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการจัดกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ และนำรายได้ส่วนหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชกุศลตามอัธยาศัย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอขอบคุณผู้สนับสนุน และนักวิ่งทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมการแข่งข้นการวิ่งการกุศลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – เชียงใหม่มาราธอน 2567 ครั้งที่ 8 (CMU – Chiang Mai Marathon 2024) และขอความอนุเคราะห์ประชาชนโปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางการแข่งขัน วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักวิ่ง ทั้งนี้ เส้นทางการแข่งขันจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page: CMU Marathon และเว็บไซต์ www.cmu-marathon.com

ดินสไลด์ปิดทาง สบเปิง – กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง นำแบคโฮเคลียร์เส้นทางสัญจรได้แล้ว

ดินสไลด์ปิดถนนสายสบเปิง – กื้ดช้าง นายอำเภอสั่งการให้ลงพื้นที่เร่งแก้ปัญหา ผ่านครึ่งวันแบคโฮสามารถเปิดเส้นทางให้สัญจรผ่านได้เป็นปกติ

วันที่ 8 ส.ค.67 เวลา 15.00 น. อำเภอแม่แตง รายงานว่า เมื่อเวลา 06.00 น อำเภอได้รับแจ้งเหตุดินสไลด์ ปิดทับเส้นทาง บริเวณบ้านก๋ายน้อย ถนนสายสบเปิง – กื้ดช้าง ต.เมืองก๋าย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอแม่แตง ได้สั่งการให้ นายโชคทวี ศรีเที่ยง ปลัดอำเภอ ร่วมกับ หมวดบำรุงทางหลวงชนบทแม่แตง (บชน.แม่แตง) ลงพื้นที่บ้านก๋ายน้อย ต.เมืองก๋าย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

บริเวณเกิดเหตุดินสไลด์ถนนถูกปิดทับไปด้วยเศษหินดินทราย เนื่องจากพื้นที่เป็นลำห้วย เกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่หลายวัน เจ้าหน้าที่จึงได้นำเครื่องจักรรถแบคโฮในพื้นที่เข้าดำเนินการแก้ไข และสามารถเปิดเส้นทางให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ

แก้ปัญหาฝายตีนธาตุ ชลประทานเชียงใหม่เตรียมสำรวจออกแบบ แบ่งหน่วยงานเร่งแก้ไข

เชียงใหม่เรียกประชุมทุกหน่วยงาน แก้ไขปัญหาฝายตีนธาตุ เวียงแหง หลังจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนห้วงฤดูฝน ชลประทานเชียงใหม่ ขานรับนโยบาย เตรียมสำรวจและปรับปรุง เพื่อแก้ไขช่วยเหลือพี่น้องตำบลแสนไหที่เดือดร้อน

วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอานนท์ พรเพชรสุข หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝายชะลอน้ำ (ฝายตีนธาตุ) ตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม มีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ และนายอำเภอเวียงแหง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม POC ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

ประเด็นปัญหาฝายตีนธาตุ อำเภอเวียงแหง เทศบาลตำบลแสนไห ได้สำรวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในห้วงฤดูฝน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ พบว่า ฝายตีนธาตุเป็นฝายชะลอน้ำที่กรมชลประทานสร้างขึ้น แต่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมเจ้าท่า มีขนาดความยาวประมาณ 90 เมตร สูง 2.5 เมตร สร้างขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการระบบส่งน้ำในน้ำแม่แตง ปัจจุบันบริเวณฝายมีลักษณะตื้นเขิน เนื่องจากมีดินและทรายไหลมาทับถมบริเวณหน้าฝาย ทำให้สูญเสียพื้นที่กักเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ ต้นหญ้า เศษวัชพืชจำนวนมากขึ้นปกคลุมขวางทางน้ำไหล ส่งผลให้การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน

 

ทั้งนี้การจะปรับปรุงเกินศักยภาพของเทศบาลตำบลแสนไหจะดำเนินการได้ จึงแจ้งให้อำเภอเวียงแหงดำเนินการแก้ไข ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่ อ.เวียงแหง ตามโครงการ “ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” และได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ฝายตีนธาติ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 67 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันวางแนวทางแก้ไขปัญหาฝายตีนธาตุเป็นการเร่งด่วน

 

ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติดำเนินการแก้ไขปัญหาฝายตีนธาตุ บ้านมหาธาตุ หมู่ที่ 4 ต.แสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนสรุปได้ว่า โครงการชลประทานเชียงใหม่ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสำรวจและออกแบบงานขุดลอกลำน้ำแม่แตงบริเวณฝายตีนธาตุ มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ขออนุญาตการขอใช้พื้นที่ในการขุดลอกจากกรมเจ้าท่า หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากรมเจ้าท่าแล้ว หากหน่วยงานใดขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาได้ก่อน ก็สามารถดำเนินการได้ทันที และโครงการชลประทานเชียงใหม่ จะดำเนินการปรับปรุงประตูระบายทรายของฝาย เพื่อให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของเทศบาลตำบลแสนไห หากต้องการให้ซ่อมแซมหรือปรับปรุงตัวฝายส่วนอื่นๆ ให้แจ้งประสานโครงการชลประทานเชียงใหม่ เพื่อที่จะได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบไปในคราวเดียวกัน

มหาวิทยาลัยดังเชียงใหม่ จับมือขับเคลื่อนนิเวศสังคม ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ทำ MOU ทางวิชาการร่วมมือขับเคลื่อนนิเวศสังคม หวังก้าวไปสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน ชี้องค์ความรู้ก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องเฉพาะทางเข้าถึงได้น้อย รอง ผวจ.เชียงใหม่ เชื่อจะเป็นก้าวสำคัญในการจะจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 ณ ห้องอินทนิล ชั้น 1 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (UNISERV) นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นเกียรติใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การขับเคลื่อนนิเวศสังคม เพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน” ระหว่าง สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ โดยมีผู้บริหารสถาบันการศึกษาเข้าร่วม

การริเริ่มความร่วมมือทางวิชาการในการขับเคลื่อนนิเวศสังคม เพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างความร่วมมือ ส่งเสริม และให้บริการวิชาการด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นองค์ความรู้เฉพาะทางที่ยังเข้าถึงได้น้อย จึงมีความริเริ่มจะสนับสนุนองค์ความรู้ดังกล่าว ผ่านความร่วมมือเชิงวิชาการ เช่น การอบรม สัมมนา เพื่อเพิ่มพูนและทบทวนความรู้ให้กับบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยผู้แทนสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายที่ลงนามใน MOU ได้แถลงการณ์การดำเนินงานการขับเคลื่อนนิเวศสังคม เพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน และนำเสนอการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มโรงเรียนคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชื่นชมภาคีภาควิชาการของมหาวิทยาลัยชั้นนำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ร่วมมือกันบูรณาการการทำงานด้านวิชาการ ซึ่งการลงนามใน MOU ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวความสำเร็จของทั้งสองมหาวิทยาลัยในการเสริมสร้างทัศนคติการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การสร้างพื้นฐานและแหล่งเรียนรู้ไปกับสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge – Based Society) ให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา พร้อมทั้งสามารถขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนและสังคมต่อไป

อ.ดอยเต่า สร้างป่าทำคาร์บอนเครดิต มุ่งแก้ PM2.5 อย่างยั่งยืน

อ.ดอยเต่า เชียงใหม่ บูรณาการภาคส่วนต่างๆ จัดตั้งป่าชุมชน ทำคาร์บอนเครดิต หวังแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน PM 2.5 อย่างยั่งยืน

วันที่ 17 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม อบต.ดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ นายเพิ่มศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ นายอำเภอดอยเต่า เป็นประธานเปิดกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้ และร่วมลงพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อขับเคลื่อนโครงการ “การจัดตั้งป่าชุมชน และจัดทำคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของหมู่บ้าน ชุมชน อย่างยั่งยืน” โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างอำเภอดอยเต่า และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร อปท. กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ร่วมโครงการ

ทั้งนี้โครงการมีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้เรื่องการประเมินแหล่งกักเก็บคาร์บอน ของพื้นที่ป่าในพื้นที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ และองค์ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิตเพื่อความยั่งยืนของชุมชน (คนป่า) พร้อมกับมีการระดมความคิดเห็นเพื่อวางแผนจัดการจัดตั้งป่าชุมชน และขับเคลื่อนการจัดทำคาร์บอนเครดิต ภาคสมัครใจ (T-VER) เพื่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าในระยะยาวอย่างมีส่วนร่วม โดยความร่วมมือของหมู่บ้าน/ชุมชน จากนั้นเป็นการลงพื้นที่บริเวณป่าชุมชน บ้านทุ่งคอกช้าง หมู่ที่ 9 ต.ดอยเต่า เพื่อฝึกภาคปฏิบัติในการคำนวณการประเมินปริมาณคาร์บอน