แม่อายตั้งด่านกลางหมู่บ้าน จับได้ 1 ราย คาด่านพร้อมฝิ่นดิบ ส่งดำเนินคดี

อ.แม่อาย ตั้งด่านตรวจสิ่งผิดกฎหมาย ป้องกันหลบหนีเข้าเมือง พบขี่จักรยานยนต์ผ่านเข้าจุดตรวจ คันได้ฝิ่นดิบ นำส่งตัวพร้อมของกลางส่ง พนักงานสอบสวนดำเนินคดี

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. นางสลีลญา คำภาแก้ว นายอำเภอแม่อาย มอบหมายให้ นายสมภพ หน่อแก้ว ปลัดอำเภอ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง นำชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอแม่อาย ตั้งจุดตรวจจุดสกัด บริเวณบนถนนสาธารณะเส้นทางบ้านท่าปู – บ้านห้วยป่ากล้วย ม.11 ต.แม่นาวาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เพื่อดำเนินการ Re X-ray ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ค้ายาเสพติด ป้องกันการเคลื่อนย้ายและลักลอบเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน และป้องกันปัญหาสินค้าผิดกฎหมายรวมถึงการกระทำผิดอาชญากรรมอื่นๆ ในพื้นที่

กระทั่งเวลา 18.00 น. มีรถจักรยานยนต์ขับขี่เข้ามายังจุดที่เจ้าหน้าที่ฯ ตั้งจุดตรวจ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แสดงตัวเรียกให้หยุดรถเพื่อตรวจค้น จากการตรวจค้นพบสิ่งของผิดกฎหมาย (ฝิ่นดิบ) จำนวน 7.96 กรัม ซุกซ่อนบริเวณเป้ดัดแปลง เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวผู้กระทำผิด พร้อมของกลางไปยังที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอแม่อาย ที่ 5 เพื่อทำการบันทึกจับกุม พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา มียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 (ฝิ่น) ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 (ฝิ่นหรือมอร์ฟีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นได้นำตัวพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่อาย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

งาบน้ำฝางเอาแบ็คโฮปรับพื้นที่ นอ.ไชยปราการ สั่งตรวจเจอแต่รถ ส่งต่อหน่วยป่าไม้จัดการ

อำเภอใชยปราการตรวจตามร้อง มีผู้นำแบ็คโฮเข้าขุดดินริมน้ำฝาง พื้นที่หมู่ 7 บ้านทรายขาว ต.ศรีดงเย็น พบแต่รถคาดปรับดินเพื่อใช้ประโยชน์ บันทึกภาพส่งต่อหน่วยป่าไม้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เวลา 16.30 น. นายปธิกร เอี่ยมสะอาด นายอำเภอไชยปราการ มอบหมายให้ นายนคร กาวิชัย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง นายวัชรพันธ์ ใจกล้า ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย สมาชิก อส. สังกัด ร้อย.อส.อ.ไชยปราการ 22 ร่วมกับ น.อ.ฤทธิชัย อิ่มใจ หน.ฝ่ายนโยบายและแผน กอ.รมน.จังหวัดเชียงใหม่ จ.ส.อ.วารินทร์ โอดศรี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ฝ่ายนโยบายและแผน กอ.รมน.จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบลำน้ำฝาง ณ บ้านทรายขาว หมู่ที่ 7 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้การออกตรวจเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากราษฎรว่า มีการนำเครื่องจักรกลขุดดิน เข้ามาขุดดินบริเวณลำน้ำฝางบริเวณบ้านทรายขาวตามที่ร้องเรียน และจากการตรวจสอบพบว่า เป็นการขุดปรับพื้นที่หน้าดินเพื่อใช้ประโยชน์ โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ์ และการตรวจสอบพบเพียงเครื่องจักรกลที่ใช้ขุดดิน คือ รถแบ็คโฮ แต่ไม่พบบุคคลที่ขับขี่หรือควบคุมในบริเวณที่เข้าตรวจสอบแต่อย่าใด เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน และประสานหน่วยงานป่าไม้ที่รับผิดชอบตรวจสอบ และดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่อไป

อำเภอดอยเต่า จับ 4 รายรุกป่าทำไร่ขิง ยึดอีก 100 ไร่ เร่งหาคนบุกรุกมาดำเนินคดี

ขับเคลื่อนการป้องกันการลักลอบบุกรุก ทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อำเภอดอยเต่าบูรณาการตรวจจับบุกรุกป่า ได้ผู้ต้องกา 4 ราย เข้าแผ้วถางป่า 10 ไร่ ปลูกขิง ยึดอีกกว่า 100 ไร่ พบบุกรุก ขยายผลหาตัวผู้บุกรุกมาดำเนินคดี

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แจ่มและป่าแม่ตื่น ท้องที่ ต.มืดกา อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ โดยการอำนวยการของ นายเพิ่มศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ นายอำเภอดอยเต่า สั่งการให้ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง และสมาชิก อส. ร้อย.อส.อ.ดอยเต่า 18 บูรณาการร่วมกับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จาก หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ ชม.16 (ดอยเต่า) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรดอยเต่า ตรวจสอบและทำการจับกุมการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยทำการแผ้วถางและทำไร่ขิง จำนวน 3 คดี

ทั้ง 3 คดี ประกอบไปด้วย แปลงพื้นที่บุกรุก 4 ไร่ ได้ผู้ต้องหา 2 คน แปลงพื้นที่บุกรุก 3 ไร่ ได้ผู้ต้องหา 1 คน และแปลงพื้นที่บุกรุก 3 ไร่ ผู้ต้องหาอีก 1 คน ได้ทำการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมนำตัวส่ง พนักงานสอบสฝน สภ.ดอยเต่า เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ได้ทำการตรวจยึดพื้นที่บุกรุกอีกจำนวน 100 ไร่ และได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนัดกงานสอบสวน สภ.ดอยเต่า เพื่อขยายผลหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี ต่อไป

นอ.แม่ออน นำทีมให้กำลังใจราษฎรเพลิงไหม้บ้าน พร้อมหาทางช่วยเหลือ

เพลิงไหม้บ้านพื้นที่ทาเหนือ นายอำเภอแม่ออนบูรณาการหน่วยงานลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ เบื้องต้นมอบถุงยังชีพ พร้อมหาแนวทางร่วมกับท้องที่ท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือต่อไป

วันที่ 24 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา นางสุเบ็ญญา พัฒนยรรยง นายอำเภอแม่ออน ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือมอบถุงยังชีพและสิ่งของที่จำเป็นให้แก่ผู้ประสบเหตุอัคคีภัย บ้านเลขที่ 30/3 หมู่ที่ 1 ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับเหตุเพลิงไหม้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 67 เวลา 15.30 น. ซึ่งในช่วงเกิดเหตุ อบต.ทาเหนือ และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันควบคุมเพลิงและควบคุมเพลิงได้ได้ในเวลา 16.50 น. ทั้งนี้ นายอำเภอแม่ออน ได้นำทีมท้องที่ท้องถิ่น ทั้ง นายก อบต.ทาเหนือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ เพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป

“สถานศึกษาสีขาว” ศป.ปส.อ.สารภี จัดชุดตรวจฉี่เด็กเทคนิคสารภี 500 ราย ผลเป็นลบ

อำเภอสารภี ขับเคลื่อนนโยบายจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล บูรณาการตรวจปัสสาวะนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสารภีกว่า 500 คน ผลตรวจทุกรายไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะ

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ผานมา ภายใต้การอำนวยการของ นายวรุตม์ วิศิษฐ์ศิลป์ นายอำเภอสารภี/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอสารภี (ศป.ปส.อ.สารภี) มอบหมายให้ นายณัฐ คุณานุวัฒน์ชัยเดช ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง สมาชิกอาสารักษาดินแดนอำเภอสารภีที่ 20 บูรณาการร่วมกับ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสารภี สาธารสุขอำเภอสารภี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สารภี ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลหนองผึ้ง และวิทยาลัยเทคนิคสารภี ดำเนินการออกตรวจปัสสาวะ (Re-Xray) นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสารภี ระดับชั้น ปวช. และ ปวส. จำนวน 500 ราย ตามนโยบายศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ (ศอ.ปส.จ.เชียงใหม่) สถานศึกษาสีขาว ห่างไกลจากยาเสพติด

ทั้งนี้มีรายงานผลการปฏิบัติงานว่า การดำเนินการตรวจปัสสาวะกลุ่มเป้าหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผลการตรวจนักศึกษาทั้ง 500 ราย ไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษาแต่อย่างใด

“เอามื้อสามัคคี ทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล” อำเภอเชียงดาวขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิต

อำเภอเชียงดาวจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี ทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล” สร้างการขับเคลื่อน ขยายผล และต่อยอดสู่การพัฒนา เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน

วันที่ 24 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา นายกฤตพล รชตเมธานนท์ นายอำเภอเชียงดาว เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี ทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตามโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” แปลง นางตระการ แก้วแดง และนายสกล แก้วแดง บ้านแม่ข้อน หมู่ที่ 4 ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระคุณเจ้า พระเทพวชิราธิบดี เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนแม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต) เจ้าอาวาส วัดป่าดาราภิรมย์พระอารามหลวง นิมนต์ อนุโมทนาและให้พร กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ครัวเรือนด้อยโอกาส จำนวน 10 ครัวเรือน

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเชียงดาว และเครือข่ายโคก หนอง นา อารยเกษตรอำเภอเชียงดาว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นการสนับสนุนโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ให้มีการขับเคลื่อน ขยายผล และต่อยอดสู่การพัฒนา เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ นายอำเภอเชียงดาว และหัวหน้าส่วนราชการ ได้มอบกล้าไม้ และพันธุ์ผักจากแปลงโคก หนอง นา ให้กับเกษตรกร และประชาชนนำไปปลูกในแปลงเกษตรของตนเอง พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาพื้นที่ โคก หนอง นา โดยการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง (หญ้าแฝก) บนคันนาทองคำในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และปลูกต้นรวงผึ้งซึ่งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10

สวพส. จัดงาน “ประชาชนอยู่ดี พื้นที่สูงมั่นคง” สร้าง “ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน” เฉลิมพระเกียรติในหลวง

สวพส. เปิดงาน สืบสานการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ปี 2567 ประชาชนอยู่ดี พื้นที่สูงมั่นคง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

วันที่ 24 ก.ค. 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดงาน สืบสานการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ปี 2567 “ประชาชนอยู่ดี พื้นที่สูงมั่นคง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดย นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้นำเกษตรกรบนพื้นที่สูง และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงาน ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบัน สวพส. กล่าวว่า จากผลสำเร็จของโครงการหลวงได้ก่อเกิดองค์ความรู้ ที่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนบนพื้นที่สูงให้อยู่ดีมีสุข ตลอดจนช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนได้รับการยอมรับว่าเป็น “ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน” ในการช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา และช่วยชาวโลก ตามพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 และปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายให้สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ในการสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้น เพื่อสนองพระราชประสงค์ มีหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาสนับสนุนโครงการหลวง และการขยายผลสำเร็จของโครงการหลวงไปพัฒนาพื้นที่สูงอื่น ๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ด้วยองค์ความรู้และวิธีการทำงานแบบโครงการหลวง และด้วยปีนี้เป็นปีมหามงคลของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่พร้อมแสดงความจงรักภักดี ในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สวพส.จึงได้จัดงานสืบสาน การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ปี 2567 ประชาชนอยู่ดี พื้นที่สูงมั่นคง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขึ้น ถือเป็นการนำผลสำเร็จการขยายผลของโครงการหลวง ที่ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ทั้งด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน และการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เกิดชุมชนต้นแบบที่เป็นแหล่งเรียนรู้ สามารถเผยแพร่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันของชุมชนบนพื้นที่สูง

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวถึงการดำเนินงานของ สวพส. ว่า เริ่มต้นการดำนเนินงานจากชุมชนจำนวน 57 ชุมชน ในปี พ.ศ. 2548 จนกระทั่งในปัจจุบันมีชุมชนบนพื้นที่สูง 616 ชุมชน ที่ได้รับการพัฒนา และมีเครือข่ายอีกมากกว่า 1,000 ชุมชน ได้เข้าถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ของรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม สามารถดำรงชีวิตที่มั่นคงสร้างรายได้ด้วยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่า 470 ล้านบาทต่อปี ด้วยการใช้องค์ความรู้ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ

การจัดงานสืบสาน การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนฯนี้ มีกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรและผู้นำเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของ สวพส. ได้เพิ่มความรู้ ทักษะ เทคนิคและประสบการณ์ รวมถึงมีเวทีได้แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานร่วมบูรณาการจนเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานพัฒนาพื้นที่สูงร่วมกัน ซึ่งทำให้สามารถต่อยอดและขยายผลสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่สูงร่วมกันอย่างยั่งยืน

“คลินิกเกษตรเคลื่อนที่” เชียงใหม่จัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง บูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาให้เกษตรกร

จังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30น. นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายปฐมชาติ ศรีเจริญจิตร์ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน นายภิญโญ พัวศรีพันธุ์ นายอำเภอกล่าวต้อนรับ นายนิพนธ์ กันจินะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสันกำแพง กล่าวสรุปข้อมูลในพื้นที่ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธีดังกล่าว

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดจัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย กิจกรรมลงนามถวายพระพร พิธีถวายพระพรชัยมงคล นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ การให้บริการคลินิกเกษตรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ กิจกรรมการฝึกอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ กิจกรรมการให้บริการของศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช และจัดแสดง/จำหน่ายสินค้า การให้บริการคลินิกเกษตรของแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนอื่นๆ ในพื้นที่

ทั้งนี้โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 องค์การบริหารส่วนตำบลสันกำแพง ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และให้บริการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

อ่างห้วยแม่ฮ่องสอนระบายน้ำ เน้นบริหารสอดคล้องกับสถานการณ์ ใช้แนวทางตาม 10 มาตรการรับมือฝน 67

รับลูก สนทช.เตือนฝนหนัก ชลประทานแม่ฮ่องสอนระบายน้ำจากอ่างห้วยแม่ฮ่องสอน 0.36 ลบ.ม.ต่อวินาที ยันไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ “ผคป.เกื้อกูล” เน้นการบริหารน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ก่อประโยชน์สูงสุด สอดรับนโยบายรัฐบาล และ รมว.เกษตรฯ

ตามประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2567 วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำจากข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี โดยในช่วงวันที่ 24 – 31 กรกฎาคม 2567 พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง และอำเภอสบเมย อยู่ในพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน

จากการแจ้งเตือนของ สนทช. นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน (ผคป.แม่ฮ่องสอน) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้ (วันที่ 24 ก.ค. 2567) อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ฮ่องสอนมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 858,950 ลบ.ม. คิดเป็น 97.5% ของความจุอ่าง ทางโครงการฯ ได้มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯ ในอัตรา 0.36 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 31,104 ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ไม่ให้เกินกว่าระดับเก็บกักน้ำที่ 881,000 ลบ.ม. โดยที่อัตราการระบายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนตามแนวลำน้ำห้วยแม่ฮ่องสอน บริเวณท้ายอ่างอีกทางจะเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ตามที่ สนทช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือน และจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง

ผคป.แม่ฮ่องสอน กล่าวต่อว่า โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน ได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างห้วยแม่ฮ่องสอนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ที่สำคัญได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 10 มาตรการ รับมือฤดูปี 2567 อย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล และ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แม่ฮ่องสอนถกศูนย์ฯ แก้ไฟป่า พิจารณาหน่วยปฏิบัติดีเด่น เตรียมมอบ โล่/ใบ ประกาศเกียรติคุณ

จังหวัดแม่ฮ่องสอนติดตามผลการดำเนินงานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการและคณะทำงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีงบประมามาณ พ.ศ.2567

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่ ห้องประชุมพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการและคณะทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมามาณ พ.ศ.2567 โดยมี นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

การประชุมในครั้งนี้มีวาระสำคัญคือ การสรุปสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงไฟป่าหมอกควัน 2567 ที่ผ่านมา โดย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการกำหนดแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในห้วงเวลาต่อไป

ทั้งนี้ยังมีการพิจารณาผลการตัดสินรางวัลหน่วยงานที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้แก่

รางวัลสำหรับอำเภอที่มีผลการบริหารจัดการไฟป่าดีเด่น จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย อำเภอขนาดเล็ก ได้แก่ อำเภอขุนยวม อำเภอขนาดใหญ่ ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง
รางวัลสำหรับอำเภอที่มีผลการบริหารจัดการไฟป่าระดับดีมาก จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ อำเภอปาย, อำเภอปางมะผ้า, อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอสบเมย

รางวัลสำหรับตำบลที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย
ตำบลเสี่ยงมากที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ได้แก่ ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
ตำบลเสี่ยงมากที่มีผลการปฏิบัติงานดีมาก ได้แก่ ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง, ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, ตำบลห้วยโป้ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
ตำบลเสี่ยงปานกลางที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ได้แก่ ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า
ตำบลเสี่ยงปานกลางที่มีผลการปฏิบัติงานดีมาก ได้แก่ ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม, ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง
ตำบลเสี่ยงน้อยมีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ได้แก่ ตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวม
ตำบลเสี่ยงน้อยที่มีผลการปฏิบัติงานดีมาก ได้แก่ ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย, ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย

รางวัลสำหรับหมู่บ้านที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย
หมู่บ้านเสี่ยงมากที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ได้แก่ บ้านดอยผีลู หมู่ที่ 9 ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย
หมู่บ้านเสี่ยงมากที่มีผลการปฏิบัติงานดีมาก ได้แก่ บ้านห้วยกุ้ง หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสองสอน, บ้านจอสิเดอร์ หมู่ที่ 4 ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง
หมู่บ้านเสี่ยงปานกลางที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ได้แก่ บ้านแม่อีแลบ หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย
หมู่บ้านเสี่ยงมากที่มีผลการปฏิบัติงานดีมาก ได้แก่ บ้านผามอน หมู่ที่ 4 ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า, บ้านแม่ละมอง หมู่ที่ 11 ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย, บ้านแม่แลบ หมู่ที่ 6 ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย
หมู่บ้านเสี่ยงน้อยที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ได้แก่ บ้านกลอโค๊ะ หมู่ที่ 12 ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย
หมู่บ้านเสี่ยงมากที่มีผลการปฏิบัติงานดีมาก ได้แก่ บ้านห้วยหมากลาง หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, บ้านทุ่งมะขามป้อม หมู่ที่ 15 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน, บ้านแม่กวางเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าผาปุ้ม อำเภอแม่ลาน้อย, บ้านกะริคี หมู่ที่ 6 ตำบลสันติคีรี อำเภอแม่ลาน้อย, บ้านละอูบ หมู่ที่ 6 ตำบลหัวยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย, บ้านละอางเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย, บ้านท่าข้ามเหนือ หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง, บ้านจอมกิตติ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง, บ้านแม่ริดป่าแก่ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง, บ้านแม่ริดหลวง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง, บ้านแม่ลายจอลา หมู่ที่ 6 ตำบลป่าโป่ง อำเภอสบเมย
รางวัลสำหรับหน่วยปฏิบัติระดับพื้นพื้นที่ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง
รางวัลสำหรับหน่วยปฏิบัติระดับพื้นพื้นที่ในสังกัดสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน
รางวัลสำหรับหน่วยงานสนับสนุนที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยรางวัลที่มีผลการปฏิบัติงานระดับดีเด่นจะได้รับโล่เกียรติคุณและใบประกาศเกียรติคุณ และรางวัลที่มีผลการปฏิบัติงานระดับดีมากจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ