(มีคลิป) ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ พร้อม หน.ฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 รุดตรวจดูประตูระบายน้ำและอาคารควบคุมด้านท้ายน้ำ

ผอ.ชลประทานเชียงใหม่ พร้อม หน.ฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 รุดตรวจดูประตูระบายน้ำและอาคารควบคุมด้านท้ายน้ำ มีน้ำล้นสันฝาย 10 ซม.ที่ฝายดอยน้อย ในขณะที่ ปตร.แม่สอย เปิดบาน 10 บาน ระบายน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล เพื่อป้องกันบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ด้านฝายวังปานเปิดประตูระบายน้ำ 4 บาน ลดระดับแม่น้ำปิงให้น้ำลี้ไหลลงมาได้ป้องกันน้ำท่วมบ้านโฮ่ง ป่าซาง เวียงหนองลอง จ.ลำพูน

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 67 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายจิรชัย พัฒนพงศา หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบประตูระบายน้ำและอาคารควบคุมที่ประตูระบายน้ำดอยน้อย และประตูระบายน้ำแม่สอย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ และตรวจสอบปริมาณน้ำในระดับแม่น้ำปิง เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นตรวจสอบความพร้อมการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากการตรวจสอบประตูระบายน้ำและอาคารควบคุมสามารถใช้การได้ปกติและสภาวะแม่น้ำปิงก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ด้าน นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำปิงที่ประตูระบายน้ำดอยน้อย ปัจจุบันการระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างในอัตรา 185 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้มีการเปิดบานระบาย 2 ช่องบาน บาน 4 เมตร 1 บาน และ 2 เมตร 1 บาน ปัจจุบันระดับน้ำด้านหน้าฝายมีความสูงกว่าสันฝายอยู่ประมาณ 10 เซนติเมตร สถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งประตูระบายน้ำดอยน้อยจะช่วยระบายน้ำในเขตเมืองเชียงใหม่ น้ำปิงตอนบน ตลอดจนลำน้ำทา ลำน้ำแม่กวง ตลอดจนลำน้ำขาน ที่มารวมกันก่อนถึงประตูรระบายน้ำดอยน้อย น้ำที่ระบายไปก็จะช่วยให้ด้านบนนั้นสามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น เป็นการลดระดับน้ำแล้วเพิ่มช่องว่าง ให้แม่น้ำปิงสามารถรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ที่คาดว่าภายใน 1 – 2 วันนี้ยังมีฝนตก และยังเป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดเชียงใหม่

ขณะเดียวกันประตูระบายน้ำแม่สอย เป็นประตูระบายน้ำตัวสุดท้ายก่อนลงทะเลสาบเขื่อนภูมิพล ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ปริมาณไหลผ่านประตูระบายน้ำ 280 ลบ.ม.ต่อวินาที อยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะนี้โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้รักษาระดับน้ำบริเวณหน้าประตูให้ต่ำกว่าระดับปกติ ซึ่งระดับปกติคือ 7 – 7.50 เมตร ปัจจุบันรักษาระดับน้ำไว้ไม่เกิน 6.50 เมตร เพื่อช่วยในเรื่องของการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน ประตูระบายน้ำแห่งนี้สามารถช่วยเหลือพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางพื้นที่ตอนบนของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง และอำเภอดอยหล่อ อีกส่วนก็เป็นของจังหวัดลำพูน ได้แก่ อำเภอป่าซาง อำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอเวียงหนองล่อง ซึ่งมวนน้ำแห่งนี้ก็รับมวลน้ำจากลำน้ำลี้ ลำน้ำทา ตลอดจนลำน้ำในเขตฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ลำน้ำขาน และลำน้ำแม่กลางจากดอยอินทนนท์ ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถควบคุมได้ ซึ่งประตูระบายน้ำแม่สอยแห่งนี้มีประตูระบยน้ำทั้งหมด 10 ช่องบาน กว้าง 8 เมตร สูง 7 เมตร ในขณะนี้ได้มีการระบายน้ำทุกช่องบาน บานละ 70 เซนติเมตร ซึ่งประตูระบายน้ำแห่งนี้สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นการเปิดทุกช่องบานพ้นน้ำ โดยในปี 2565 เคยเปิดเกือบถึงก็คือเปิดอัตราไหลผ่านไปที่ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ก็สามารถระบายน้ำได้และไม่มีผลกระทบต่อด้านท้ายน้ำที่เป็นเขื่อนภูมิพล และอยู่ห่างจากประตูระบายน้ำแห่งนี้ประมาณ 20 กิโลเมตร

นายจิรชัย พัฒนพงศา หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า สำหรับฝายวังปาน ปัจจุบันมีระดับน้ำล้นสันฝายอยู่ที่ 41 เซนติเมตร ได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด 4 บาน มีน้ำระบายลงท้ายน้ำอยู่ที่ 222 ลบ.ม.ต่อวินาที สถานการณ์ในภาพรวมยังอยู่ในสภาวะปกติ การบริหารจัดการก็ได้มีการติดตามสถานการณ์ทางด้านเหนือน้ำ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ฝายแม่ปิงเก่า ฝายหนองสลีก และฝายวังปาน เพื่อจะนำมาปรับการบริหารจัดการน้ำให้อย่างเหมาะสม สำหรับฤดูฝนนั้น ทางฝายวังปานก็จะเร่งรระบยาน้ำในแม่น้ำปิงให้ลดลงได้ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำปิง นอกจากนั้น เมื่อน้ำปิงมีระดับต่ำก็จะทำให้แม่น้ำลี้ ไหลออกมาสู่แม่น้ำปิงได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอป่าซาง และอำเภอเวียงหนองล่อง.

ประชุมที่ปรึกษากรรมการวัดใหม่ห้วยทราย

ประชุมที่ปรึกษากรรมการวัดใหม่ห้วยทราย

วันที่ 24 สิงหาคม2567 พระอธิการบุญเป้ง ปิยธมฺโม เจ้าอาวาสวัดใหม่ห้วยทราย เป็นประธานประชุมที่ปรึกษากรรมการ, กรรมการวัดใหม่ห้วยทราย เรื่องการทำช่อฟ้าใบระกาหอธรรม การถมที่ด้านทิศตะวันตกข้างกำแพงใหม่ การแบ่งงานให้คณะกรรมการชุดใหม่รับผิดชอบ (โรงครัว ศาลาบำเพ็ญกุศล) การคัดเลือกประธาน รองประธาน เลขานุการ กรรมการวัด ได้นางสารภี มูละจงกล เป็นประธานกรรมการวัดใหม่ห้วยทรายคนใหม่ โดยมีที่ปรึกษากรรมการ, กรรมการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ณ ศาลาดวงดี – คำปัน ชื่นมงคล วัดใหม่ห้วยทราย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่.

พช.เชียงใหม่ นำคณะกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเป็นองค์ประธานในงานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567 “2 ทศวรรษ กองทุนแม่ของแผ่นดิน ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง”

พช.เชียงใหม่ นำคณะกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเป็นองค์ประธานในงานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567 “2 ทศวรรษ กองทุนแม่ของแผ่นดิน ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง”

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเป็นองค์ประธาน งานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567 และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

โอกาสนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กราบบังคมทูล ความว่า “กองทุนแม่ของแผ่นดินเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยปัญหายาเสพติดในประเทศไทย จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แก่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรในหมู่บ้านและในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจัดตั้งเป็น “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” ตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบัน ปี 2567 เป็นปีที่กองทุนแม่ของแผ่นดินครบวาระ 20 ปี การดำเนินโครงการได้รับความร่วมมือ ร่วมใจ เสียสละจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้วยดีมาโดยตลอด มีหมู่บ้านและชุมชนที่เข้าร่วมเป็นกองทุนแม่ของแผ่นดินรวมจำนวน 27,560 แห่ง มีการจัดพิธีพระราชทานเงินขวัญถุงให้แก่หมู่บ้านชุมชนทุกปี เพื่อเป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจในการระดมกำลังเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน โดยในปี 2567 มีหมู่บ้านชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดินเข้ารับพระราชทานเงินขวัญถุง จำนวน 1,087 แห่ง กองทุนแม่ของแผ่นดินเปรียบเสมือนน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานแก่พระศพนิกรตลอดระยะเวลา 20 ปี เหล่าสมาชิกหมู่บ้านชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดินทุกแห่งล้วนมุ่งมั่น ตั้งใจ สร้างครอบครัวให้อบอุ่น รวมพลังสร้างหมู่บ้านชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหายาเสพติด บนแนวทางสันติวิธีด้วยการให้อภัย ให้โอกาส ช่วยเหลือประคับประคอง พัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สามารถหลุดพ้นจากปัญหายาเสพติด และสร้างสังคมที่ปลอดภัยได้อย่างยั่งยืน” จากนั้น พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กราบบังคมทูลเบิกผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ารับเข้ารับพระราชทานเงินขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567 จำนวน 75 ท่าน ตามลำดับ

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามลำดับ เสร็จแล้วพระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมงานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดินในวันนี้ การจัดงานในปีนี้ นับว่าเป็นโอกาสพิเศษ เพราะเป็นวาระที่โครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ดำเนินงานมาครบ 20 ปี ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความยินดี และความชื่นชมที่ท่านทั้งหลายมุ่งมั่นตั้งใจ ปฏิบัติงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้เห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดนั้น แม้เป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่ถ้าทุกคน ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างสรรค์สังคมที่เต็มไปด้วยความเมตตาปราณี และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นแล้ว ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันและแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ปฏิบัติงานทุกคน และสมาชิกชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศจะมีกำลังใจ และร่วมมือร่วมงานกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้แก่สังคม และชาติบ้านเมืองสืบไป ขออำนวยพรให้ทุกท่าน มีความสุขความเจริญ และความสำเร็จสมประสงค์ในสิ่งที่ดีงามจงทั่วกัน”

ต่อมาเสด็จฯ ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงกังวลพระราชหฤทัยต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์แก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อขจัดปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน นับเนื่องเป็นเวลา 2 ทศวรรษ จากวันแรกที่ทรงเริ่มต้นจวบจนปัจจุบันมีหมู่บ้านชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้ร่วมกันเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้อบอุ่นชุมชนเข้มแข็งพ้นจากภัยปัญหายาเสพติด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริ สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปฎิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อประโยชน์สุขของอาณาราษฎรทุกหมู่เหล่า และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการทรงงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ทั้งยังทรงมุ่งมั่นสานต่อโครงการศิลปชีพและงานศิลปะสาขาต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้วางรากฐานการพัฒนานี้ไว้ โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการหมู่บ้านชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดินจากพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 4 ภาค อาทิ ภาคเหนือ “บ้านห้วยน้ำเย็น” อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่กลุ่มสตรีในชุมชนด้วยการจัดตั้งกลุ่มอาชีพตามทักษะ เช่น การตัดเย็บตุ๊กตา การปักผ้า ให้มีรายได้สามารถจุนเจือครอบครัว ภาคกลางบ้านแหลมทอง อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ส่งเสริมเยาวชนต้นกล้าให้มีส่วนร่วมสำคัญในการป้องกันยาเสพติดในกิจกรรมต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมทักษะวิชาชีพหลังเลิกเรียน เช่น การทำปุ๋ยหมัก การปลูกพืชผักสวนครัว การประดิษฐ์ของใช้จากผักตบชวา การส่งเสริมให้ทำสาธารณะประโยชน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บ้านโคกไม้งาม อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น สนับสนุนอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัด เช่น จัดการโครงการอบรมให้ความรู้เรื่องยาเสพติด โครงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โครงการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีรายได้ ลดการกลับไปเสพซ้ำ ภาคใต้บ้านนากลาง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนตามหลักบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) โดยมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทาง อาชีพ และรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ห่างไกลจากการเข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น สมุนไพรแช่เท้า ผ้ามัดย้อมสีหูกวาง และกรุงเทพมหานคร ชุมชนเคหะธนบุรี 1 เขตบางขุนเทียน เสริมสร้างความเข้มแข็งในสถาบันครอบครัว โดยการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น งานศิลปะการแสดง พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มสตรีในชุมชน ได้แก่ งานประดิษฐ์ งานผ้า การสอนทำอาหาร เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้มีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในการนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางณิชพลัฏฐ์ วรรณคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวอัมพร ไชยโย ผูู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นายสว่าง ธาตุอินทร์จันทร์ ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจ.เชียงใหม่/ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดิน8 จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำคณะผู้แทนหมู่บ้าน/ชุมชน กองทุนทุนแม่ของแผ่นดินจากจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 32 หมู่บ้าน/ชุมชน ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ในครั้งนี้ด้วย.

“พระครูปลัดวิเชียร” เลขารองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่

“พระครูปลัดวิเชียร” เลขารองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 ณ วัดวังสิงห์คำ ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระเดชพระคุณ พระธรรมเสนาบดี รองเจ้าคณะภาค 7 เป็นประธานมอบคำสั่งรองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่ 01/2567 เรื่อง แต่งตั้ง แต่งตั้งเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่อาศัยอำนาจตามความในข้อ 20 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แต่งตั้งให้ พระครูปลัดวิเชียร ฉายา วชิรปญฺโญ นามสกุล พิยศ อายุ 47 พรรษา 27 วิทยฐานะ น.ธ.เอก,พธ.บ.วัดวังสิงห์คำ ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีหน้าที่ทำการเลขานุการ สั่ง ณ วันที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2567.

“อาจารย์พยุงศักดิ์” เจ้าคณะตำบลป่าแดด

“อาจารย์พยุงศักดิ์” เจ้าคณะตำบลป่าแดด

วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 ณ วัดวังสิงห์คำ ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระเดชพระคุณ พระธรรมเสนาบดี รองเจ้าคณะภาค 7 เป็นประธานมอบคำสั่งเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่ 01/2567 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าคณะตำบลป่าแดด ด้วยพระครูวิสิฐศีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดวังสิงห์คำ เจ้าคณะตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นเหตุให้ตำแหน่ง เจ้าคณะตำบลว่างลง อาศัยอำนาจตามความในข้อ 26 วรรค 1 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535) จึงแต่งตั้งให้ พระครูปลัดนันทวัฒน์ ฉายา ธีรธมฺโม นามสกุล คำภีระ อายุ 46 พรรษา 26 วิทยฐานะ น.ธ.เอก ,ศาสนศาสตร์บัณฑิต วัดป่าแดด ตำบลป่าป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าแดด เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะตำบลป่าแดด มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ตาม ข้อ 26 วรรค 3 แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่กล่าวมาแล้ว สั่ง ณ วันที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2567.

(มีคลิป) ผู้การเชียงใหม่ เร่งรัดคดีนักศึกษา มหาวิทยาลัยชื่อดังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเอาเงิน และหลอกแก้ผ้าช่วยเหลือตัวเอง รวมทั้งอดีตอาจารย์หญิงวัย 85 ปี มหาวิทยาลัยเดียวกัน ถูกหลอกให้รัก สูญเงินกว่า 15 ล้านบาท มีกลุ่มคนร้ายที่จะถูกออกหมายจับ ไม่ต่ำกว่า 100 คน

ผู้การเชียงใหม่ เร่งรัดคดีนักศึกษา มหาวิทยาลัยชื่อดังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเอาเงิน และหลอกแก้ผ้าช่วยเหลือตัวเอง รวมทั้งอดีตอาจารย์หญิงวัย 85 ปี มหาวิทยาลัยเดียวกัน ถูกหลอกให้รัก สูญเงินกว่า 15 ล้านบาท มีกลุ่มคนร้ายที่จะถูกออกหมายจับ ไม่ต่ำกว่า 100 คน

ที่สภ.ภูพิงศน์ราชนิเวศน์ เชียงใหม่ พลตำรวจตรี ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เรียกประชุมพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ และชุดสืบสวน เพื่อเร่งรัดการสืบสวนการสอบสวน และหาวิธีป้องกัน และเส้นทางการเงินของคนร้าย เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ หลังมีนักศึกษา มหาวิทยาลัยชื่อดัง จำนวนมาก ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้กลอุบายหลอกลวง โดยการอ้างว่าเป็นตำรวจ มีหมายจับของนักศึกษา และจะช่วยเหลือ หรือให้ประกันตัว พร้อมทั้ง ส่งหมายจับปลอมไปให้ ทำให้นักศึกษาหลายราย จากหลายคณะวิชาตกเป็นเหยื่อ สูญเงินหลักล้านขึ้นไป มีนับ 10 ราย และยังมีอีกหลายราย ที่สูญเงินหลักหมื่น หลักแสน อีกจำนวนมาก รวมทั้งยังมี อดีตอาจารย์หญิงวัย 85 ปี มหาวิทยาลัยเดียวกัน ถูกแก๊งโรแมนซ์สแกม หลอกให้รัก และโอนเงิน ให้กับคนร้าย โดยหลอกว่า จะเดินทางอยู่ที่ไทยพร้อมกับทรัพย์สินจำนวนมาก จะมาร่วมเปิดคลินิก ที่เชียงใหม่ จนหลงเชื่ออ้างติดด่านตรวจคนเข้าเมือง หรืออีกสารพัด จนโอนเงินไปให้ถึง 32 ครั้ง สูญเงินถึง 15 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีนักศึกษาสาว มหาวิทยาลัยเดียวกันอีก 3 ราย ถูกแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้หมายจับปลอม หลอกนักศึกษาสาว มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย อ้างจะช่วยเหลือ ในการประกันตัว และให้โอนเงิน ไปให้หลายครั้ง สูญเงินไปกว่า 1,300,000 บาท และยังหลอกให้นักศึกษาสาวถอดเสื้อผ้า หมุนตัวอ้างว่า ดูตำหนิรูปพรรณ ตรงกับหมายจับหรือไม่ ซ้ำร้ายยังถูกให้ช่วยเหลือตัวเอง โดยกำชับให้พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงศ์ราชนิเวศน์ รวบรวมหลักฐาน ในการออกหมายจับ กลุ่มคนร้ายส่วนใหญ่เป็นบัญชีม้า มีไม่ต่ำกว่า 100 คน ซึ่งมีหลายแถว จนถึงบัญชี ที่เปลี่ยนเงินสด ไปเป็นเงินดีจิทัล พร้อมฝากเตือน ประชาชนและนักศึกษา อย่าได้หลงเชื่อ จะไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ หรือตำรวจ ติดต่อไปทางโซเซียส นำหมายจับไปโชว์ เด็ดขาด เชื่อได้ว่าเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่ก่ออาชญากรรมข้ามชาติ และต้องมีสติทุกครั้ง และให้ช่วยกันบอกต่อเพื่อนๆไว้ด้วย.

งานสัมมนาวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 4 เนื่องในวาระครบรอบวันสถาปนา 40 ปี มจร วิทยาเขตเชียงใหม่

งานสัมมนาวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 4
เนื่องในวาระครบรอบวันสถาปนา 40 ปี มจร วิทยาเขตเชียงใหม่

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 พระพรหมวัชรธีราจารย์, ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ นำการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ เรื่อง “นวัตกรรมการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาโลก” (The Educational Innovation of the World Buddhist University) โดยมีพระครูสิริบรมธาตุพิทักษ์, ผศ. ดร. รองอธิการบดี วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวถวายรายงาน พระครูปริยัติเจติยานุรักษ์, ผศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาวิชาการ โดยมีมหาวิทยาลัย วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน เข้าร่วมสัมมนา วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 4 เนื่องในวาระครบรอบวันสถาปนา 40 ปี มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ ร่วมงาน ณ ห้องประชุมเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาเขตเชียงใหม่ โป่งกุ่ม ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่.

กิจกรรมเปิดโลกวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โรงเรียนแม่วินสามัคคี

กิจกรรมเปิดโลกวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โรงเรียนแม่วินสามัคคี

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 โรงเรียนแม่วินสามัคคี อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ นำโดยนายนิเวศน์ เต๋จ๋า ผู้อำนวยการโรงเรียน จัดกิจกรรมเปิดโลกประจำปีการศึกษา 2567 ภายในงานมีกิจกรรมให้นักเรียนได้ร่วมสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็น Science Show ,การแสดงชุดท่องอวกาศ โดยนักเรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ,การแต่งกายชุดรีไซเคิล ในตรีมท่องอวกาศ ของนักเรียนทุกระดับชั้น และการแสดงโชว์มายากล ในภาคบ่ายเป็นกิจกรรม Walk Rally เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาตามฐานต่าง ๆ อย่างอิสระ รวมทั้งหมด 9 ฐาน เป็นฐานกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ส่งเสริมให้นักเรียนได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน เรียนรู้ภายนอกห้องเรียนอย่างเต็มศักยภาพ.

พช.เชียงใหม่ นำคณะกองทุนแม่ของแผ่นดินจ.เชียงใหม่ ร่วมโครงการเตรียมความพร้อมการเข้าร่วม “มหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567” ระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม 2567

พช.เชียงใหม่ นำคณะกองทุนแม่ของแผ่นดินจ.เชียงใหม่ ร่วมโครงการเตรียมความพร้อมการเข้าร่วม “มหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567” ระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม 2567

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30 น. นางณิชพลัฏฐ์ วรรณคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นางสาวอัมพร ไชยโย ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมเข้าร่วม “มหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567” ณ ห้องประชุม At Grand Ballroom โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยมีนายธันวา ผุดผ่อง ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฯ โดยมีนายสว่าง ธาตุอินทร์จันทร์ ประธานกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่และประธานกองทุนแม่ของแผ่นดิน 8 จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) พร้อมคณะฯ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการการดำเนินงานของหมู่บ้าน/ชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศ ซึ่งสำนักงาน ปปส. ภาค 5 ได้พิจารณาให้กองทุนแม่ของแผ่นดิน บ้านหัวยน้ำเย็น หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นในการป้องกันและและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เข้าร่วมจัดนิทรรศการฯ ดังกล่าว ระหว่างวันพุธที่ 21 ถึงวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 ณ อาคารชาเลนเจอร์อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

โดยภายในงานโครงการเตรียมความพร้อมเข้าร่วม “มหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567” ณ ห้องประชุม At Grand Ballroom โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ มีการนำกล่าวกฎชุมชนเข้มแข็ง (อปริหานิยธรรม) พร้อมมีการอภิปราย “การขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดินพื้นพื้นที่ภาคเหนือตอนบน” โดยประธานเครือข่ายฯจังหวัด และผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน, แนะนำพิธีการกองทุนแม่ของแผ่นดินที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงาน ปปส.ภาค 5 และบรรยายขั้นตอนการเข้าร่วมงานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567 และพิธีรับเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดินปี 2567.

อุทยานแห่งชาติศรีลานนาจัดกิจกรรมปลูกป่าฟื้นฟูป่าต้นน้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม

อุทยานแห่งชาติศรีลานนาจัดกิจกรรมปลูกป่าฟื้นฟูป่าต้นน้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม

นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เป็นประธานในพิธีในการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าฟื้นฟู ป่าต้นน้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 โดยมี นายอานนท์ กุลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา / นายนิพนธ์ มุ่ยเรืองศรี และนายเทียนชัย จูพัฒนกุล ผู้บริหารโครงการธรรมชาติปลอดภัยฯ / พระครูวรรณวิวัฒน์ ดร. ประธานชมรมคนพร้าวรักษ์ป่าและเจ้าคณะตำบลโหล่งขอด / นางพัทธนันท์ พิทาคำ นายอำเภอพร้าว /ร้อยตำรวจโทนคร ปัญญาทิพย์ นายกเทศมนตรีเวียงพร้าว ตลอดจนภาคีเครือข่าย ตำรวจ นักเรียนและประชาชนในอำเภอพร้าวร่วมกันปลูกป่า
ในพื้นที่ป่าห้วยงู ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ใช้กล้าไม้ทั้งหมด 2000 ต้น ได้แก่ ต้นสัก /หว้าและมะขามป้อม

สำหรับพื้นที่ป่าทั้งหมด 10 ไร่นี้ เคยเป็นพื้นที่ทำกินของราษฎร ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่มีความประสงค์คืนให้อุทยานแห่งชาติศรีลานนาได้ดำเนินการฟื้นฟูป่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรป่าไม้ ดิน และน้ำ ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ที่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของประเทศไทย

ซึ่งกิจกรรมการปลูกป่าในครั้งนี้ยังเป็นการให้พื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ที่เสื่อมโทรมกลับคืนมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันเพื่อให้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนาได้รับการฟื้นฟู และก่อ ให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้แล้วยังเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ราษฎรในพื้นที่ให้เกิดความรักหวงแหนป่าต้นน้ำอีกด้วย.