ถอดบทเรียนไฟป่าหมอกควัน เชียงใหม่ระดมคนค้นหาข้อมูลสู่การวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาว

ถอดบทเรียนไฟป่าหมอกควัน ฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่บูรณาการทุกภาคส่วน หาเหตุปัจจัย ปัญหา ความสำเร็จ รวบรวมข้อมูลสู่การวางแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวและให้มีประสิทธิภาพ

นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายปิยะพงษ์ ประพันธ์วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงาน ซึ่งในการจัดประชุมสัมมนาฯ ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมฯ จำนวน 200 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แบบบูรณาการ จังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าไม้ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ รวมถึง ภาคเอกชน ภาควิชาการ ประชาชน และภาคประชาสังคม

นายปิยะพงษ์ ประพันธ์วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ได้ปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยความมุ่งมั่นและเข้มแข็ง โดยผลการปฏิบัติงานแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม 2567 พบเกิดไฟจากการลักลอบเผา การหาของป่า-ล่าสัตว์ และการเผาด้วยความคึกคะนอง จำนวน 8,629 จุด ลดลงจากปี 2566 จำนวน 4,465 จุด คิดเป็นร้อยละ 34 จำนวนวันที่ค่าคุณภาพอากาศ PM2.5 เกิน 37.50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวน 87 วัน ลดลงจากปี 2566 จำนวน 27 วัน คิดเป็นร้อยละ 24 พื้นที่เผาไหม้ (Burn scar Area) ทั้งหมด 625,146 ไร่ ลดลงจากปี 2566 จำนวน 543,478 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.5 และผู้ป่วย COPD ที่เข้ารักษาในสถานพยาบาลในช่วงสถานการณ์ จำนวน 8,844 ครั้ง ลดลงจากปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 74.4 ถือได้ว่าในปี 2567 จังหวัดเชียงใหม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้ดีขึ้นจากปี 2566 ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้สถานการณ์คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว

“จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อหาแนวทางในการจัดการแบบบูรณาการ และสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ในการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พร้อมทั้ง รับฟังข้อเสนอแนะ แนวทาง และวางแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ทสจ.เชียงใหม่ แจง

นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นอย่างมาก ได้มีการสั่งการในรูปแบบ Single Command และจัดตั้ง War room ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ขึ้น ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแผนงาน การป้องกัน และแก้ไขปัญหา และขอความร่วมมือ งดเว้นการเผาในช่วงเวลาดังกล่าว ประสาน บูรณาการหน่วยงาน เพื่อจัดทำแนวกันไฟ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกพื้นที่ ส่งเสริมการจัดการ และใช้ประโยชน์ จากเศษวัสดุทางการเกษตร ทดแทนการเผา เช่น การไถกลบตอซัง การทำปุ๋ยหมัก การรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รวมถึง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ในพื้นที่ควบคุมการเผา ที่จังหวัดเชียงใหม่กำหนด ส่งผลให้การปฏิบัติงานที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ดีขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2567 ในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการ และเกิดภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ให้สัมฤทธิ์ผลอย่างยั่งยืนต่อไป

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ-พระบาท-พระเจ้าระแข่ง นายอำเภอฝางประธานฝ่ายฆราวาส

นายอำเภอฝาง ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ-พระบาท-พระเจ้าระแข่ง ประจำปี พ.ศ.2567

วันที่ 29 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 น. ว่าที่ร้อยตรี นพรัตน์ ศุภกิจโกศล นายอำเภอฝาง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ-พระบาท-พระเจ้าระแข่ง ประจำปี พ.ศ.2567 โดยมี นายปรีชา ศิรินาม ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง สัสดีอำเภอฝาง นายกเทศมนตรีตำบลเวียงฝาง ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนอำเภอฝาง เข้าร่วมพิธีฯ ณ วัดพระพุทธบาทอุดม ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

“งานไหว้สาพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว” อำเภอฝางจัดยิ่งใหญ่ 3 วัน 3 คืน

ฝางจัดยิ่งใหญ่เป็นปีแรก “งานไหว้สาพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว” 28-30 มิ.ย. 67 กิจกรรมต่างๆ มากมาย “นายก อบจ.เชียงใหม่” ประธานในพิธีไหว้สา บวรงสรวง

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ณ ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานประเพณีทำบุญไหว้สาพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว ประจำปี 2567 โดยมี ว่าที่ร้อยตรี นพรัตน์ ศุภกิจโกศล นายอำเภอฝาง พร้อมด้วย นายอำเภอแม่อาย นายอำเภอไชยปราการ ส่วนราชการ ฝ่ายปกครองท้องที่ อปท. ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมพิธี และ นายฐานิศร์ กมลรัตนา นายกเทศมนตรีตำบลเวียงฝาง กล่าวรายงาน

งานทำบุญไหว้สาพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว เป็นงานสำคัญยิ่งของประชาชนชาวอำเภอฝางและอำเภอใกล้เคียง เพราะว่าพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว เป็นอดีตเจ้าผู้ครองเมืองฝาง พัฒนาเมืองฝางให้มั่นคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสินทรัพย์ พัฒนาให้เป็นภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีหลักฐานเป็นโบราณสถานต่างๆ โบราณวัตถุ อาทิ กำแพงเมือง น้ำบ่อซาววา เป็นต้น

การจัดงานประเพณีไหว้สา ประชาชนคนฝางได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยถือเอาเดือน 9 เหนือ แรม 7 ค่ำ เป็นวันไหว้สาพระเจ้าฝาง พระนางสามผิว สำหรับปี 2567 ตรงกับวันที่ 28 มิ.ย. 67 และปีนี้ มีการจัดงานที่ใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านๆ มา ปีนี้กำหนดจัดงาน 3 วัน ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. 67 โดยมีกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเข้ามาอีกมากมาย นอกจากพิธีหลักคือ การบวงสรวงสักการะไหว้สา ยังมีขบวนแห่เครื่องสักการะไหว้สาฯ การแสดงการละเล่นของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ การขับร้องเพลงซอพื้นเมือง การแข่งขันชกมวย รวมถึงกิจกรรมเดิมๆ ที่เคยจัดร่วมกับงานไหว้สาฯ เป็นประจำทุกปี คือ งานสรงน้ำพระธาตุวัดพระพุทธบาทอุดม และพิธีฟ้อนผีมอผีเม็ง ร่างทรวงม้าขี่

 

ถวายพระพร เนื่องในมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ

บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ศกนี้ ณ ห้องแสดง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ (NBT เชียงใหม่)

นายสมศักดิ์ อ่อนอ้น ประธานชมรมลูกเสือชาวบ้านจังหวัดเชียงใหม่ นำคณะกรรมการบริหาร ผู้นำประจำตำบล และสมาชิกลูกเสือชาวบ้านจังหวัดเชียงใหม่ ไปร่วมบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล ด้วยความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ปฐมบท “The CM Reporter”

ปฐมบท “The CM Reporter”

สมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 โดยการรวมกลุ่มกันของ “ผู้สื่อข่าว” ทุกแพลตฟอร์ม ทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ สมาคมดำเนินกิจกรรมไปแล้ว 2 กิจกรรม ได้แก่ ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และ การแข่งขันกอล์ฟการกุศล ชิงถ้วยเกียรติยศ นายกรัฐมนตรี นายเศรึ ทวีสิน และการจัดการแข่งขันกอล์ฟนี่เองที่หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดคือ การจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่”

สมาคมฯ ตัดสินใจร่วมกัน จดทะเบียนและเปิดพื้นที่เพื่อเผยแพร่ข่าวโดยเป็นสื่อออนไลน์ โดยใช้ชื่อ “The CM Reporter” ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน กระทั่งมาถึงวันนี้ เว็บก็เป็นรูปเป็นร่าง พร้อมรองรับข่าวสารต่างๆ ที่จะนำมาเสนอต่อไป

วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันที่พวกเราเลือกที่จะให้เป็นวันกำเนิด “The CM Reporter” ด้วยเหตุว่า

วันนี้ฤกษ์ดี….ฤกษ์พรหมประสิทธิ์

วันนี้ เมื่อ 93 ปี ที่ผ่านล่วงมา คือวัน อภิวัฒน์สยาม วันปฏิวัติการปกครอง มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พูดง่ายๆ แบบบ้านๆ….

วันแห่งการเปลี่ยนแปลง

“The CM Reporter” เรามีเป้าหมายที่จะให้เป็นสื่อทางเลือกหนึ่งของเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน โดยมี “ข่าวคุณภาพชีวิต” หรือ “Green News” เป็นแนวทางข่าวที่เราจะพยายามนำเสนอให้รอบด้าน (เท่าที่จะทำได้)…..

เหรียญมีสองด้านเยี่ยงไร ข่าวสารก็มีสองด้านเยี่ยงนั้น

“The CM Reporter” วางบทบาทเป้าหมายไว้ว่า “เราจะไม่ทำข่าวแข่งสื่อ” ในทางกลับกัน ข่าวบางข่าว เราผลิตขึ้นมาเพื่อให้สื่อสามารถนำไปเสนอในช่องทางของตัวเองได้

ทุกข่าว ไม่มีลิขสิทธิ์!!!

“The CM Reporter” อีกด้านเรายังคอยตรวจสอบ ความไม่ชอบในหน่วยงานต่างๆ ความไม่ชอบอันส่งผลกระทบต่อสาธารณชนโดยรวม เราเปิดช่องให้ร้องเรียนร้องทุกข์ไว้เพื่อรับความเดือนร้อนเอามากระทุ้งเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไข

“The CM Reporter” โดย สมาคมผู้สื่อข่าวเชียงใหม่ เราแค่จะบอกว่า “เราจะยืนอยู่บนความถูกต้อง เป็นจริง”

ธัชชัย
24 มิ.ย. 67